‘ซีบู’ (Sibu) หนึ่งในเมืองของรัฐซาราวัก ฝั่งมาเลเซียตะวันออก ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีน และชนเผ่าพื้นเมือง
จุดเด่นของเมืองนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะอาหาร สถาปัตยกรรม และที่สำคัญคือธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อย่างมาก
หากต้องการรู้ประวัติศาสตร์ซีบูเหมือนเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองด้วยตาตัวเอง World Fuzhou Heritage Gallery ถือเป็นสถานที่น่าไป เพื่อเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรม ที่นี่ยังมีวัตถุโบราณสำคัญหลายอย่างที่ถูกเก็บไว้
ย้อนกลับไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ผู้นำรัฐซาราวักขณะนั้นต้องการให้ ซีบู มีการพัฒนา จึงเชิญผู้อพยพชาวจีนกลุ่มฟูโจว ที่กำลังหนีจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ โดยยกเว้นการเก็บภาษีในช่วงแรก ตอนนั้นสภาพเมืองส่วนใหญ่เป็นป่ารกร้าง
ผู้ตั้งถิ่นฐานยุคแรกเหล่านี้อยู่ภายใต้การนำของ Wong Nai Siong ที่วางรากฐานสำหรับชุมชนการค้าและเกษตรกรรมที่เจริญรุ่งเรือง มีทั้งการทำยาง ต่อเรือ ส่งออกพริกไทย และค้าไม้
การเข้ามาของคนจีนกลุ่มฟูโจวส่งผลอย่างมากต่อวัฒนธรรมของซีบู ด้วยการอยู่ร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ทำให้ปัจจุบันพวกเขาร่วมมือกันพัฒนาเมืองให้ไปก้าวไกลยิ่งขึ้น
ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของซีบู ทำให้มีทรัพยากรทางนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ในอดีตการค้าไม้เป็นการค้าสำคัญ เนื่องจาก ซีบู อยู่ติด ‘แม่น้ำราจัง’ แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศมาเลเซีย การขนส่งไม้จึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่เพราะตระหนักถึงความยั่งยืนในปัจจุบัน โดยมุ่งเป้าไปที่การอนุรักษ์แม่น้ำ และการอนุรักษ์ป่า ทำให้ตอนนี้ ซีบู ไม่มีการตัดไม้ค้าแล้ว และประกาศเป็นเขตอนุรักษ์หลายพื้นที่
กล่องเก็บจดหมายเอกสารต่างๆที่บุคคลสำคัญของซีบูฝากถึงลูกหลายในอนาคต ที่เป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเมืองต่อไป โดยจะมีการเปิดทุก 100 ปี เปิดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2001 ครั้งถัดไปคือ 2101
โดยคนที่นี่กินบะหมี่กันตั้งแต่มื้อเช้า คงไม่ต่างกับประเทศไทยที่มีข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ที่ซีบู บะหมี่คือเมนูหลักของพวกเขา
บางครอบครัวในซีบูยังคงทำเส้นบะหมี่-หมี่ซั่วกินเอง ความแตกต่างของทั้งสองเส้นนี้คนซีบูให้นิยามว่า “การกินหมี่ซั่ว ต่างกับกินบะหมี่ เพราะหมี่ซั่วกินแค่ตอนสำคัญ บะหมี่เรากินทุกวัน”
จุดที่โดดเด่นของซีบูคือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก เมืองนี้ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงชุมชนชาวจีน มาเลย์ และชนพื้นเมืองอิบัน
การบรรจบกันของวัฒนธรรมสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม และอาหารรสเลิศมากมาย หากพูดถึงพื้นเมือง 'บ้าน' ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมได้ดี
บ้านชาวอิบันมีลักษณะหลังใหญ่เป็นแนวยาว และอยู่ใกล้แม่น้ำเป็นลักษณะเด่นของบ้านคนพื้นเมืองที่คงอยู่ถึงปัจจุบัน
บ้านหนึ่งหลังนับเป็น 1 ตระกูล ภายในบ้านแนวยาวแบบนี้จะประกอบด้วยห้องของหลายครอบครัวที่เกิดจากการแต่งงานเข้ามาในตระกูล เช่น บ้าน 1 หลัง มี 9 ครอบครัว
เมื่อมีการแต่งงานครอบครัวนั้นจะได้ห้องใหม่ ซึ่งห้องยังคงอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน โดยมีลักษณะยาวลึกเข้าไป มีห้องย่อยภายในอีก เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องครัว
คนพื้นที่ยังมีการจัด Kaul festival pesta kaul เป็นการขอบคุณทะเลและป่าตามความเชื้อของคนพื้นเมือง โดยมีการผสมผสานที่ลงตัวของดนตรี การเต้นรำ และงานฝีมือจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งคนทุกเชื้อชาติต่างเข้าร่วมขอบคุณด้วยกัน
เมื่อถนนเริ่มเข้ามาความนิยมการเดินทางทางน้ำหายไป อีกทั้งซีบูมุ่งเป้าการอนุรักษ์แม่น้ำ และป่า ทำให้ตอนนี้ ซีบู ไม่มีการตัดไม้ค้าแล้ว การใช้เรือจนน้อยลงอย่างมาก ทำให้ท่าเรือและเรือในปัจจุบันแปรเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น อย่างการพาชมวิวพระอาทิตย์ตกยามเย็น ชมเมืองที่ผสมผสานระหว่างคนจีนและคนพื้นเมือง
แม้ชื่อ ‘ซีบู’ อาจยังไม่เป็นจุดหมายปลายทางที่ใครพูดถึง แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ ที่รัฐพยายามรักษาไว้จะเป็นจุดเด่นที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้อย่างแน่นอน อีกทั้งวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย และรสชาติอาหารที่ถ้าคุณเป็นสายเส้นเลิฟเวอร์ก็น่ามาเยือนเมืองซีบูเพื่อลิ้มลองเมนูเส้นต่างๆ ของที่นี้