Humberger Menu

จะมองเห็นดาว ท้องฟ้าต้องมืด Dark Sky Reserve เขตอนุรักษ์ท้องฟ้านิวซีแลนด์ที่ทำให้คนเห็นดาวในซีกโลกใต้

“อวกาศเป็นเรื่องของทุกคน” คำพูดที่อาจได้ยินบ่อย แต่มันจะน่าเชื่อถือแค่ไหน เมื่อเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามวิกาล แล้วไม่เห็นอะไรอยู่บนนั้นเลย

เราเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูดาวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทั้งจากหนังสือแบบเรียนที่มีภาพประกอบของวัตถุท้องฟ้าต่างๆ จากสายตาที่ทอดไปยังท้องฟ้ายามค่ำคืน ไปจนถึงการส่องสิ่งเหล่านั้นผ่านกล้องโทรทรรศน์ แม้จะไม่สันทัดฟิสิกส์ดาราศาสตร์เมื่อตอนเรียน ม.ปลาย แต่ความประทับใจต่อเรื่องราวในอวกาศก็ยังคงอยู่กับเราจนเข้าวัยทำงาน

น่าเสียดายที่การดูดาวไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ที่ท้องฟ้าไม่เคยหลับใหล เช่นเดียวกับประชากรกว่า 80% ของโลกเรา ซึ่งอาศัยอยู่ใต้ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่สว่างเกินไป มีเพียงอีก 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้เท่านั้น 

จนกระทั่งวันหนึ่ง เราได้บินข้ามทวีปมายังขั้วฟ้าใต้ของอีกซีกโลก และได้ใช้ชีวิตอยู่ในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ประเทศนิวซีแลนด์ 

การแหงนหน้ามองท้องฟ้า เฝ้าดูหมู่ดาวเคลื่อนที่ไปตามฤดูกาลและช่วงเวลาที่ต่างกัน จึงกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของเรา

สรรพสิ่งไม่อาจเคลื่อนไหวในราตรี เมื่อเกิด ‘มลภาวะทางแสง’

นึกย้อนไปเมื่อยังเด็ก เราเป็นเด็กในเมืองที่ได้ไปเยี่ยมคุณปู่ที่ต่างจังหวัดและพักแรมที่นั่น กลางดึกคืนนั้นเราสะดุ้งตื่นเมื่อเจอแต่ความมืดสนิท เด็กน้อยคนนั้นก็ตะโกนลั่นออกมาว่า “ตาบอดแล้ว!”

แน่นอนว่าเราไม่ได้สูญเสียการมองเห็นไป แต่เพราะท้องฟ้ายามค่ำคืนของพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองนั้นมืดสนิทอย่างที่มันสมควรจะเป็น และพอเรามองขึ้นไปบนฟ้าถึงได้เห็นดวงดาวพร่างพราย

นั่นเป็นครั้งแรกที่เด็กเมืองกรุงรู้ว่า ท้องฟ้าของเราทอประกายได้มากถึงเพียงนั้น

พอกลับมากรุงเทพฯ ดวงดาวกลับไม่เฉิดฉายอย่างภาพจำ โตขึ้นอีกหน่อยถึงได้เข้าใจว่า แสงประดิษฐ์ หรือแสงไฟที่เราใช้กันยามค่ำคืน เช่น ไฟรถยนต์ ไฟถนน ไฟอาคาร และไฟจากป้ายโฆษณา กลบแสงดาวไปอย่างน่าเสียดาย การดูดาวจึงกลายเป็นกิจกรรมที่ ‘มีค่าใช้จ่าย’ ของคนเมืองไปเสียอย่างนั้น เพราะหลายคนต้องดั้นด้นไปตั้งแคมป์บนเขาเพื่อจะได้เห็นดาว เสียค่าเดินทางและค่าอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งที่ความจริงแล้วหากฟ้ามืดเพียงพอ แค่แหงนหน้ามองก็คงเห็นชัดแล้ว 

ดาราศาสตร์จึงยิ่งดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนเรามากไปกว่าเดิม

การที่แสงประดิษฐ์เข้ามาส่องสว่างท่ามกลางความมืดนี้ ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘มลภาวะทางแสง’ เนื่องจากแสงจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ได้รับการควบคุมส่วนที่ไม่จำเป็น ทำให้ความสว่างเข้าไปรบกวนธรรมชาติ เช่น แสงจากไฟถนน มีเป้าหมายส่องพื้นถนนให้คนขับรถได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อไม่มีโคมไฟครอบเอาไว้ ไฟก็ไร้การคุมทิศทางและกระจายแสงออก 360 องศา กลายเป็นว่าแสงบางส่วนส่องขึ้นฟ้า กลบแสงดาว และสร้างความสว่างอย่างไม่จำเป็น 

ข้อเสียของการที่ท้องฟ้ามืดไม่เพียงพอ มีมากไปกว่าการมองไม่เห็นดาว แต่ยังส่งผลต่อเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ อย่างเต่าทะเลที่ใช้แสงริมขอบฟ้าในการนำทางไปยังทะเล แต่เมื่อเจอแสงไฟริมหาดหรือแสงจากรถยนต์ พวกมันก็เลยเดินออกห่างจากทะเลซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากกว่า

เช่นเดียวกับนกที่อพยพหรือออกหากินในเวลากลางคืน พวกมันจะเดินทางโดยใช้แสงจันทร์และแสงดาวนำทาง แต่แสงประดิษฐ์ทำให้นกเหล่านั้นออกนอกเส้นทางและไปยังพื้นที่ที่อันตราย ทุกๆ ปี นกนับล้านตัวจะตายโดยไม่จำเป็นเพราะไปชนกับอาคารและหอคอยที่ส่องสว่างในยามค่ำคืน รวมถึง การที่นกอพยพก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เหมาะสม แต่แสงประดิษฐ์อาจทำให้พวกมันอพยพเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป และทำให้พลาดสภาพอากาศที่เหมาะสำหรับการทำรัง การหาอาหาร หรือการผสมพันธุ์

‘การอนุรักษ์ความมืด’ ใน ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก’

พอท้องฟ้าไม่มืดพอ แนวคิดที่จะค้นหาและพิทักษ์ ‘สถานที่ที่ความมืดยังปกคลุม’ เอาไว้ จึงเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับเมืองเทคาโป (Tekapo) ตั้งอยู่ในเขตแมคเคนซี ตอนกลางของเกาะใต้แห่งประเทศนิวซีแลนด์ สถานที่ในฝันของเหล่านักดูดาวทั่วทุกมุมโลก 

เทคาโป เป็นภาษาเมารี (ชนพื้นเมืองในนิวซีแลนด์) ที่นี่เป็นเมืองเล็กๆ ที่ถูกเติมเต็มด้วยนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา โดยมากผู้คนมักเดินทางมายังเมืองนี้ด้วยรถยนต์จากเมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) หรือควีนส์ทาวน์ (Queenstown) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 โมง

เทคาโป มีทะเลสาบน้ำจืดสีฟ้าเทอร์ควอยซ์สวยตรึงใจ ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูงที่มีป่าสนและหิมะปกคลุม เป็นสวรรค์ของเหล่านักเดินทางทั่วโลก และเป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดอาโอรากิแมคเคนซี (Aoraki Mackenzie International Dark Sky Reserve) นั่นทำให้เหล่านักดูดาวทั้งมือโปรและมือสมัครเล่นจากนานาประเทศ อยากมาเยี่ยมชมท้องฟ้ากลางคืน ณ ที่แห่งนี้กันทั้งนั้น

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดนี้ก่อตั้งโดยสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association) เมื่อปี 2012 เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดที่ ‘ใหญ่ที่สุดในโลก’ กินพื้นที่ครอบคลุม 4,300 ตารางกิโลเมตร (ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตร) 

เป้าหมายของสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากลคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องฟ้ามืด ปกป้องคุ้มครองเหล่าสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ที่เหมาะสมกับเหล่านักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น

พื้นที่ที่จะเข้าข่ายเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ต้องเป็นที่ดินสาธารณะที่ได้รับการคุ้มครองทั้งหมด ไม่ว่าจะได้รับการจัดการโดยหน่วยงานระดับชาติ รัฐ จังหวัด หรือท้องถิ่น ก็มีสิทธิ์เป็นได้ทั้งนั้น นั่นอาจรวมถึงสวนสาธารณะ พื้นที่ลี้ภัย พื้นที่ความเป็นป่า อนุสาวรีย์ แม่น้ำที่ได้รับการคุ้มครอง หรือพื้นที่คุ้มครองประเภทอื่นๆ แต่ข้อสำคัญคือ ต้องเปิดให้ผู้คนเข้าชมได้ในยามกลางคืน

นอกจากนี้ เขตรักษาท้องฟ้ามืดนั้นจะต้องมีทรัพยากรท้องฟ้ามืดที่โดดเด่น และสัมพันธ์กับจำนวนประชากรที่อุทยานให้บริการ ว่าง่ายๆ ก็คือ ต้องมีอาณาเขตกว้างพอให้ประชากรในพื้นที่และเหล่าขาจรที่อาจแวะเวียนไป สามารถใช้สอยได้อย่างเพียงพอนั่นเอง

สหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากล ยังแบ่งระดับความสมบูรณ์แบบของท้องฟ้ายามค่ำคืนเอาไว้ 3 ระดับ คือ 

ระดับ gold-tier : ท้องฟ้ายามค่ำคืนบริสุทธิ์หรือใกล้บริสุทธิ์ โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ และไม่มีแสงรบกวนชีวิตของเหล่าสัตว์กลางคืน 

ระดับ silver-tier : เป็นพื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงอยู่บ้าง แต่ท้องฟ้ายามค่ำคืนยังคงมีคุณภาพดีอยู่ 

ระดับ bronze-tier : พื้นที่ดังกล่าวอาจเจอผลกระทบจากมลภาวะทางแสงมากกว่าระดับ silver แต่ก็ยังคงให้ผู้คน พืช และสัตว์ได้พักผ่อนจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมของเมืองในเวลากลางคืน

พื้นที่ของเมืองเทคาโปนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของสภาเขตแมคเคนซี ซึ่งมีระเบียบรักษาความมืดของท้องฟ้ามาตั้งแต่ปี 1992 เช่น ออกแบบไฟทางในเขตชุมชนให้หักองศาลงพื้นและมีโคมครอบเพื่อป้องกันแสงไฟส่องขึ้นฟ้า สนามกีฬาในเขตเมืองมีกำหนดเคอร์ฟิวสำหรับการฉายสปอตไลต์

ส่วนไฟบ้านเอง ก็มีระเบียบออกมาให้ผู้อยู่อาศัยปฏิบัติตาม เช่น การติดตั้งไฟนอกบ้าน (outdoor lighting) ต้องหันไฟลงพื้นเท่านั้น และต้องมีโคมครอบไว้เพื่อไม่ให้แสงส่องออกด้านข้างหรือด้านบน และมีกระจกใสครอบเพื่อป้องกันการกระเจิงของแสง

เมื่อระเบียบการของเมืองและข้อกำหนดของสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากลมาบรรจบกัน ทำให้เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดอาโอรากิแมคเคนซี กลายเป็นตัวท็อปของสถานที่ดูดาวได้รับการยกย่องให้เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดระดับ ‘gold-tier’ แถมยังเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดแห่งแรกในซีกโลกใต้อีกด้วย

ถึงอย่างนั้น หากกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด เส้นทางรักษาความมืดของท้องฟ้าในเมืองเทคาโป ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวฉันนั้น เพราะเราสังเกตว่า ในปัจจุบัน แสงที่สร้างมลภาวะไม่ได้มีเพียงแค่แสงจากพื้นที่นอกบ้านหรือด้านนอกอาคารเท่านั้น แต่แสงไฟจากในบ้านที่สว่างมากเกินไปก็อาจรบกวนท้องฟ้ามืดได้เหมือนกัน 

จากรายงานสภาเมืองประจำปี 2022 ทางเจ้าหน้าที่เองก็กังวลในเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากกฎการควบคุมไฟต่างๆ ของเมือง เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1992 ก่อนการใช้หลอดไฟ LED ซึ่งบางหลอดมีแสงสีน้ำเงินและสีเขียวมากกว่าปกติ อาจส่งผลให้เกิดมลภาวะทางแสงได้ จึงกำลังเป็นที่ถกเถียงในสภาเมืองว่า พวกเขาจะจัดการกับระบบแสงสว่างในอาคาร รวมถึงช่องรับแสงและหน้าต่างกันอย่างไร เพื่อปกป้องความมืดของท้องฟ้าให้ดำสนิทยิ่งกว่าเดิม

ดังนั้น การอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตามพลวัตของสังคม และเกิดการร่วมมืออนุรักษ์ทั้งสภาเมือง ประชาชน และองค์กรด้านวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ย่ำราตรีส่องหมู่ดาวบนท้องฟ้าซีกโลกใต้ เมื่อท้องฟ้าที่เราคุ้นตาอาจพลิกกลับด้านจากเหนือเป็นใต้


ในฐานะเด็กน้อยจากเมืองกรุงที่ไม่ค่อยเห็นท้องฟ้ามืด หลายปีผ่านไป เราย้ายมาอาศัยอยู่ที่นิวซีแลนด์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องธรรมชาติสุดตระการตา ความตั้งใจคืออยากลองอาศัยในพื้นที่ที่มองเห็นท้องฟ้ายามค่ำคืนได้ชัดเจน ดังนั้นแล้ว เป้าหมายสูงสุดจึงเป็นการพาตัวเองมาที่เมืองเทคาโป

ผืนน้ำสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ของทะเลสาบเทคาโป ทอประกายสะท้อนแสงแดดสะกดสายตาในทันทีที่มาถึง ทอดยาวไปกับสันเทือกเขาแนวยาวที่มีหิมะสีขาวปกคลุมบริเวณยอด ตัดกับป่าสนสีเขียวเข้มที่เรียงรายอยู่ตามฟากฝั่ง พอได้เห็นกับตาก็ไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมสถานที่แห่งนี้จะถูกยกเป็นสวรรค์ของนักเดินทาง

เรามาถึงเทคาโปในช่วงเย็น ฤดูหนาวทำให้พระอาทิตย์คล้อยต่ำตั้งแต่ 4 โมงเย็น แม้ความหนาวเหน็บจะชวนให้อยากขดตัวอยู่ในห้องที่มีฮีตเตอร์ แต่ท้องฟ้ากลางคืนก็ดึงดูดให้เราออกไปชมความสวยงามของหมู่ดาวอยู่ดี

รถมินิบัสใช้เวลาราว 15 นาทีจากตัวเมืองเทคาโป นำทางเหล่านักชมดาวหลากสัญชาติกว่าสิบชีวิตขึ้นไปบนยอดเขาจอห์น (Mount John) ซึ่งสูง 1,029 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความชำนาญของคนขับรถบัสสะท้อนผ่านการที่เขาขับรถแบบเปิดเพียงไฟหรี่ไปตามทางคดเคี้ยวอันมืดมิด สาเหตุที่เปิดได้แค่ไฟหรี่เพราะพวกเขาต้องการลดการใช้แสงไฟให้ได้มากที่สุด

ทันทีที่ประตูรถเปิดออก ลมหนาวก็ปะทะเข้ามาทันที อุณหภูมิบนยอดเขาช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ทำให้เสื้อกันหนาวแบบ Ultra thermal jacket ซึ่งทุกคนจะได้รับก่อนเริ่มทัวร์ กลายเป็นของล้ำค่าขึ้นมาทันที 

อีกหนึ่งสิ่งที่เราได้รับมาด้วยก็คือ ไฟส่องทางสีแดง เพราะกฎของการร่วมทัวร์คือการห้ามใช้แสง โดยเฉพาะแสงสีขาว ขณะที่แสงสีแดงนั้นรบกวนสายตาของเราน้อยที่สุด ดังนั้น ทางทัวร์จึงแจกไฟฉายสีแดงขนาดเล็กให้ทุกคนใช้นำทางขณะอยู่บนยอดเขา

บนภูเขาจอห์น เป็นที่ตั้งของหอดูดาวของมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี (University of Canterbury) ซึ่งเป็นสถานที่วิจัยด้านดาราศาสตร์เชิงแสงแห่งเดียวในนิวซีแลนด์ ก่อตั้งในปี 1965 เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาดาราศาสตร์ การวิจัยทางดาราศาสตร์ที่หอดูดาวภูเขาจอห์นจึงเฟื่องฟูเป็นเวลา 40 ปี ปัจจุบันภูเขาจอห์นเป็นทั้งหอดูดาววิจัยและเป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวดาราศาสตร์ที่มาชมทิวทัศน์อันบริสุทธิ์และท้องฟ้ายามค่ำคืน ทำให้ที่แห่งนี้ถูกยกย่องเป็นหนึ่งในหอดูดาวทางดาราศาสตร์ที่สวยที่สุดในโลก

และเพราะความสำคัญต่อการศึกษาดาราศาสตร์นี้แหละที่ทำให้ไกด์ทัวร์ย้ำกฎการดูดาวอีกครั้งว่า ห้ามใช้แสงสีขาวในการดูดาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามใช้แสงแฟลชในการถ่ายรูป เพราะจะไปรบกวนกล้องโทรทรรศน์ที่กำลังบันทึกภาพจักรวาลนี้อยู่

สำหรับชาวไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ เราเรียนรู้กันมาแต่เด็กว่า ถ้าจะหาทิศในตอนกลางคืนให้มองหาดาวเหนือ (Polaris) เพราะตำแหน่งของมันที่อยู่ใกล้กับแกนหมุน (ทางทิศเหนือ) ของโลก ทำให้ดาวเหนือเป็นดาวดวงเดียวที่ดูเหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่ และนั่นจะช่วยให้เรารู้ว่าทิศเหนืออยู่ทางไหน

คำถามคือ แล้วคนทางซีกโลกใต้ใช้อะไรดูทิศทาง?

ผู้คนที่อยู่ในซีกโลกใต้ไม่สามารถมองเห็นดาวเหนือได้ เพราะตำแหน่งของดาวเหนือซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับขั้วฟ้าเหนือจะไม่ปรากฏขึ้นพ้นขอบฟ้าของซีกโลกใต้ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องหาสิ่งอื่นนำทางแทน

“ในซีกโลกใต้ เราต้องมองหาทิศใต้” คาร์ล ไกด์สัญชาติอเมริกันที่ย้ายมาทำงานที่นิวซีแลนด์กล่าว 

“ฉันขอเฉลยก่อนเลยนะว่าทิศใต้ อยู่ทางนั้น” พูดจบ เธอก็ใช้แสงเลเซอร์สีเขียวชี้ไปยังทิศใต้บนท้องฟ้ายามค่ำคืนที่แม้จะปราศจากมลภาวะทางแสง แต่เราก็ยังมองไม่เห็นดาวดวงไหน ณ ขั้วฟ้าใต้อยู่ดี 

คาร์ลเล่าต่อว่า ตามจริงแล้ว มีดวงดาวอยู่ในตำแหน่งที่เธอชี้เลเซอร์ไปนะ แต่มันไม่สว่างมากพอที่เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แล้วคิดดูสิว่า ขนาดอยู่ในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดที่เพอร์เฟกต์ที่สุดในโลก เรายังมองไม่เห็น แล้วที่อื่นๆ จะเหลือหรือ

เมื่อมองไม่เห็น ก็ไม่มีความหมาย ดวงดาวจะถูกใช้นำทางได้ต้องมีความสว่างที่โดดเด่นพอ ดังนั้น เพื่อหาทิศใต้แล้ว เราจึงต้องหาดาวดวงอื่น ซึ่งไกด์บอกว่าเราต้องใช้ดาวราว 7 ดวง!

ปกติแค่คนจากซีกโลกเหนือจะมองหาดาวเหนือยังยากเลย แล้วจะให้หาดาวตั้ง 7 ดวง เพื่อหาทิศใต้คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสียแล้ว

แต่มันกลับไม่ยากอย่างที่คิด (แต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นนะ) เพราะการใช้ดาวหลายดวงนี่แหละที่ช่วยยืนยันความแม่นยำในการดูกลุ่มดาว ซึ่งวิธีการหาทิศใต้ตามคำบอกเล่าของไกด์สาวก็คือ ให้เริ่มจากการมองหากลุ่มดาวกางเขนใต้ (Southern Cross) ที่เรียงไขว้กันเป็นรูปกางเขน 

ผู้ร่วมทัวร์ที่มาจากประเทศในซีกโลกใต้ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ชิลี และฟิจิ ดูจะคุ้นกับกลุ่มดาวนี้เป็นอย่างดี ขณะที่คนอื่นๆ ที่มาจากประเทศซีกโลกเหนือ ทั้งคนไทย ยุโรป และอเมริกาเหนือ หันมามองหน้ากันตาปริบๆ

พอลองหาเองก่อนคาร์ลจะเฉลย ก็พบว่า ดาวที่เรียงกันเหมือนกางเขนนั้นมีอยู่เต็มท้องฟ้าไปหมด นับคร่าวๆ ก็ได้แล้วอย่างน้อย 3 กลุ่ม มองไปเรื่อยๆ ยิ่งจินตนาการลากเส้นมั่วไปอีก ดูไม่ออกแล้วว่าอันไหนคือกลุ่มดาวกางเขนใต้ที่แท้จริงกันแน่

ดังนั้น คาร์ลจึงชี้ไปที่ดาวสว่างกลุ่มหนึ่งก่อน นั่นคือกลุ่มดาวเซนทอร์ ประกอบด้วย ดาวอัลฟาเซนทอรี (Alpha Centauri) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับโลกที่สุด (หากไม่นับดวงอาทิตย์) เคียงคู่กับดาวเบตาเซนทอรี (Beta Centauri) ทั้งสองดูเหมือนใกล้กัน แต่ความจริงแล้วอยู่ไกลกันมาก ดาวอัลฟาเซนทอรีอยู่ห่างจากโลกไป 4.4 ปีแสง ขณะที่เบตาเซนทอรีอยู่ห่างจากโลกไป 400 ปีแสง แต่ด้วยมุมจากพื้นโลก ทำให้เราเห็นวัตถุท้องฟ้าในแบบ 2 มิติเท่านั้น เราจึงเข้าใจว่าพวกมันอยู่คู่กัน

“ดาวอัลฟาเซนทอรี (Alpha Centauri) กับเบตาเซนทอรี (Beta Centauri) ถูกเรียกแบบง่ายๆ ในซีกโลกใต้ว่า พอยน์เตอร์ (pointers) เพราะพวกมันจะคอยชี้ทางไปยังกลุ่มดาวกางเขนใต้” 

จริงอย่างที่เธอว่า พอยน์เตอร์ชี้ทางไปหากลุ่มดาวที่เรียงกันเป็นรูปกางเขน และนั่นคือกลุ่มดาวกางเขนใต้ที่ถูกต้องของจริง

คาร์ลเล่าว่า เราสามารถใช้กลุ่มดาวทั้งหมดนี้หาขั้วฟ้าใต้ได้ ด้วยการจินตนาการลากเส้นสมมุติจากปลายกางเขนใต้ ไปตัดกับเส้นสมมุติที่ลากเส้นตั้งฉากกับพอยน์เตอร์ เมื่อสองเส้นบรรจบกัน นั่นแหละคือทิศใต้

“ตัดออกมาเป็นสามเหลี่ยม คล้ายๆ กับเวลาเราตัดพิซซ่านั่นแหละ” 

แต่นอกจากวิธีนี้แล้ว คาร์ลยังเสริมอีกวิธีที่ตัวเธอชื่นชอบมากกว่า โดยเราต้องตามหาดาวอีกด้วย นั่นคือ ดาวอะเคอร์นา (Achernar) อีกหนึ่งดาวสว่างในซีกฟ้าใต้ โดยให้เราไล่สายตาตามเส้นตั้งฉากกับพอยน์เตอร์ จะเจอกับดาวที่สว่างโดดเด่นอีกดวง

“ยกมือข้างหนึ่งไปที่กลุ่มดาวกางเขนใต้ และอีกข้างหนึ่งยกไปที่ดาวอะเคอร์นา จากนั้นก็ปรบมือ” คาร์ลบรรยายพร้อมปรบมือ ตำแหน่งของมือที่ประกบกันนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างกลุ่มดาวกางเขนใต้และอะเคอร์นาพอดี “ลากมือที่ประกบกันของเราลงมาที่ขอบฟ้า นั่นแหละคือทิศใต้” 

ไกด์ทัวร์ของเรานิยามการหาทิศใต้ด้วยวิธีนี้แบบติดตลกว่า จระเข้ตะปบ (Crocodile Clap)

ความน่าสนใจในฟากฟ้าซีกโลกใต้ยังมีอีกมากมาย อย่างแนวใจกลางทางช้างเผือกที่เห็นได้ชัด และตั้งอยู่ในมุมเงยที่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าประเทศทางซีกโลกเหนือ รวมถึงยังเห็นวัตถุอื่นๆ เช่น เมฆแมกเจลเลนใหญ่ และเมฆแมกเจลเลนเล็ก (Small and Large Magellanic Clouds: SMC and LMC) ซึ่งดูเผินๆ แล้วคล้ายกับกลุ่มเมฆ แต่แท้จริงแล้วมันคือกาแล็กซีเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับโลกที่สุด ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้หาดูได้ยากในประเทศไทย (ต้องไปดูที่ใต้สุดของไทย ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม)

พอเรียนรู้การดูดาวแบบพื้นฐานในซีกโลกใต้ด้วยตาเปล่าเสร็จ ก็ถึงเวลาของการส่องวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ 

ความพิเศษอีกอย่างของทัวร์นี้คือเราจะได้ชมดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง สร้างในประเทศญี่ปุ่นและถูกส่งมาติดตั้งที่ภูเขาจอห์นเมื่อปลายปี 2004 มีรูรับแสงกว้าง 1.8 เมตร และมีกล้องอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ที่ไพรม์โฟกัส ใช้สำหรับการวัดแสง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ MOA (microlensing observations in astrophysics) 

ด้วยกล้องสุดล้ำนี้แหละ ที่ทำให้เราได้เห็น Globular Clusters กลุ่มดาวนับพันที่มีอายุราว 14 พันล้านปี เทียบเท่ากับจักรวาลนี้ และอาจเป็นสิ่งเก่าแก่ที่สุดที่เรามองเห็นได้ในชีวิตนี้แล้ว!

คาราวานกล้องโทรทรรศน์ออกมาตั้งเรียงรายให้ลูกทัวร์ได้เวียนกันชมกันตลอดเกือบหนึ่งชั่วโมง เราได้เห็นทั้ง เนบิวลาทารันทูลา (Tarantula Nebula) ที่ตั้งอยู่ในกาแล็กซีเพื่อนบ้าน, ดวงจันทร์ ซึ่งด้วยกำลังของกล้องดูดาวแล้ว เราจะมองเห็นหลุมภูเขาไฟบนดวงจันทร์ได้อย่างชัดแจ้ง, Jewel Box Cluster กลุ่มดาวเบบี๋ที่เพิ่งเกิดใหม่ ซึ่งจะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจการกำเนิดของจักรวาลมากขึ้น

ที่ข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ ดาวเสาร์ วัตถุท้องฟ้าขวัญใจใครหลายคน แม้จะเคยส่องดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ไทยมาบ้างแล้ว แต่ทุกครั้งวงแหวนของดาวเสาร์ดูซ่อนเอาไว้เมื่อมองจากพื้นโลก นี่จึงเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นวงแหวนของดาวเสาร์อย่างชัดเจน ขนาดของมันดูเล็กจ้อยและไม่คมชัดเมื่อเทียบกับภาพประกอบในหนังสือเรียนที่เห็นกันคุ้นตา แต่ก็ทำให้เราตื่นเต้นที่ได้เห็นดาวเสาร์กับตาตัวเอง แถมด้วยประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ ทำให้เราเห็นดาวไททัน บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ด้วย

นอกจากทัวร์บนภูเขาจอห์นแล้ว เรายังเข้าร่วมทัวร์อื่นๆ กับ Dark Sky Project บริษัททัวร์ดูดาวที่จะพาทุกคนเข้าไปชมในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด โดยมีทั้งทัวร์แบบหลุมภูเขาไฟ (Crater) ซึ่งไม่ใช่หลุมภูเขาไฟที่เกิดจากธรรมชาติ หากแต่เป็นการสร้างหลุมเพื่อบังแสงประดิษฐ์ต่างๆ ทำให้เราเห็นดาวได้ชัดเจนแบบไม่ต้องขึ้นยอดเขา 

รวมถึงทัวร์เรียนรู้ท้องฟ้ามืดตามฉบับชาวเมารี ซึ่งทำให้รู้ว่า กลุ่มดาวแมงป่องที่เราคุ้นชินกันในซีกโลกเหนือ ถูกมองเป็นกลุ่มดาวปลาสำหรับชาวเมารี (เพราะที่นิวซีแลนด์ไม่มีแมงป่อง) หรือถ้าใครเคยดูภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องโมอาน่า ก็จะรู้จัก ‘กลุ่มดาวมาตาริกิ (Matariki)’ อีกหนึ่งกลุ่มดาวสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษของชาวเมารี ซึ่งในซีกโลกเหนือจะเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า Seven Sisters หรือพลีอะดีส (Pleiades) แต่คนไทยคุ้นกันในชื่อ ‘กลุ่มดาวลูกไก่’

ความต่างทางวัฒนธรรมส่งผลให้เรามีมุมมองต่อหมู่ดาวที่แตกต่างหลากหลาย ยิ่งทำให้การดูดาวสนุกสนานและสวยงามยิ่งขึ้น

หนทางสู่การเป็น ‘ชนชาติแห่งท้องฟ้ามืด’ เมื่อกระแสท่องเที่ยวดูดาวกำลังเป็นที่นิยม

เรากล้าพูดอย่างเต็มปากว่าการมองเห็นท้องฟ้ามืด คือความรุ่มรวยอย่างหนึ่ง 

หลังจากย้ายมาที่เทคาโป เราเข้าร่วมทัวร์ดูดาวต่างๆ ไป 5 ครั้ง เรามองเห็นดาวตกแล่นผ่านท้องฟ้ามืดไปแล้ว 3 ครั้ง จากการเข้าร่วมทัวร์นี้

“ดาวตกวิ่งผ่านท้องฟ้าตลอดทั้งคืน ทุกคืนนั่นแหละ แค่บางทีเราอาจไม่ทันเห็น” เอสเตลล่า ไกด์ทัวร์อีกคนที่เราไปเข้าร่วมทัวร์ กล่าวขึ้นหลังจากที่เราถามเธอว่า เห็นดาวตกบ่อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบของเธอคือนับไม่ถ้วน

สำหรับเราที่มาจากกรุงเทพฯ การมองเห็นดาวตกไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด มลภาวะทางแสงส่งผลกระทบไปแล้วอย่างน้อย 80% จากทั่วโลก บดบังโอกาสที่จะมองเห็น ‘สิ่งที่วิ่งผ่านท้องฟ้าตลอดทั้งคืน’ ไปอย่างน่าเสียดาย และกลายเป็นว่าต้องดั้นด้นไปตามหาพื้นที่ที่ท้องฟ้ามืดมิดเพื่อให้ได้มองเห็นสิ่งที่อยู่บนฟ้า ทั้งที่เราทุกคนก็มีท้องฟ้าเหมือนกัน

นี่เป็นสิ่งที่ย้ำถึงความสำคัญของท้องฟ้ามืด สอดคล้องกับผลการวิจัยจากการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ที่ระบุว่าผู้คนมากกว่า 70% ที่อยากมาเที่ยวนิวซีแลนด์ ตั้งใจจะมา ‘ดูดาว’ ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการดูดาวตรงข้ามกับช่วงไฮซีซั่น หมายความว่าการปกป้องท้องฟ้ายามค่ำคืนของนิวซีแลนด์สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้ เมื่อแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น

“เราต้องการขยายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะเรารู้ว่าสิ่งนี้นำการจ้างงานมาสู่พื้นที่ชนบทของนิวซีแลนด์” คำกล่าวจาก แมตต์ ดูซีย์ (Matt Doocey) รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและการบริการ ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นในนิวซีแลนด์

“การท่องเที่ยวเป็นไปตามฤดูกาล ดังนั้นเราจำเป็นต้องดูว่าเราจะทำการตลาดและส่งเสริมนิวซีแลนด์ได้อย่างไรในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก”

ยิ่งกว่านั้น รายงานผลทางเศรษฐกิจจาก Enterprise North Canterbury เมื่อปี 2023 ยังแสดงให้เห็นว่า ท้องฟ้ามืดจะกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายในพื้นที่ดังกล่าวถึง 4.6 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 84 ล้านบาท) และช่วยสร้างงานได้มากถึง 24 อาชีพด้วย

ด้วยเหตุนี้ นิวซีแลนด์จึงตั้งเป้าว่าจะเป็น ‘ประเทศแห่งท้องฟ้ามืด (dark sky nation)’ ให้ได้ 

ประเทศแห่งท้องฟ้ามืด ความหมายของมันก็ตรงตามตัวอักษร นั่นคือ ประเทศที่ท้องฟ้ายามค่ำคืนมืดมิดทั่วทั้งแดน นิยามนี้มาจากสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากล ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2020 เพื่อมอบให้กับประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่มีท้องฟ้ามืดปกคลุมทั่วประเทศ นั่นคือ นีวเว

นีวเว คือประเทศเกาะขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 1,600 คน ชื่อของประเทศนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหู เพราะตั้งอยู่โดดเดี่ยวในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ผู้คนจากประเทศอื่นจะเดินทางไปยังที่แห่งนี้ได้ต้องอาศัยเที่ยวบินจากเมืองโอ๊คแลนด์ ของนิวซีแลนด์เท่านั้น (ซึ่งสองสัปดาห์จะมีสักหนึ่งเที่ยวบิน) แต่นี่ก็เป็นสรวงสวรรค์ของเหล่าคนรักธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะเป็นดินแดนของเหล่าปะการังและพืชพันธุ์หายาก และในแง่ของการปกป้องท้องฟ้ามืดนั้น รัฐบาลนีวเวก็ออกมาตรการต่างๆ เช่น การเปลี่ยนไฟถนนทั้งหมดทั่วทั้งเกาะ และการอัปเกรดระบบไฟส่องสว่างในอาคารทั่วประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากล

การที่นีวเวได้รับการยกย่องจากสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากล ทำให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มสนใจการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น

แต่ว่ากันตามตรง หนทางการเป็นประเทศของท้องฟ้ามืดของนิวซีแลนด์คงไม่ง่ายอย่างนีวเว ด้วยจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ที่ต่างกันอย่างมาก 

ถึงอย่างนั้น ความพยายามในการผลักดันไปสู่เป้าหมายดังกล่าวของชาวนิวซีแลนด์ก็ยังแรงกล้า ซึ่งท้องฟ้ายามค่ำคืนประมาณ 74% ในเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ และ 93% ในเกาะใต้ถือว่า ‘บริสุทธิ์หรือเสื่อมโทรมเฉพาะบริเวณขอบฟ้าเท่านั้น’ 

นาลายินี เดวีส์ (Nalayini Davies) นักดาราศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์ กล่าวเมื่อปี 2022 ว่า เป้าหมายดังกล่าวอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่จะใช้เวลา ‘อย่างน้อย 3 ปี’ ในการสร้างความตระหนักรู้ในเหล่าผู้อยู่อาศัย เปลี่ยนแปลงและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับแสงในท้องถิ่น และขยายพื้นที่ของสถานที่คุ้มครองท้องฟ้ามืด

กระแสการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ไม่ได้มีอยู่แค่ประเทศนิวซีแลนด์เท่านั้น ในสหรัฐฯ เอง ก็มีความพยายามจะผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดมากขึ้น ทั้งในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับไทยที่ก็พยายามพัฒนาเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดต่างๆ ทั่วประเทศให้มืดสนิทเพียงพอต่อการพร่างพรายของหมู่ดาว

นั่นไม่ได้แปลว่าการมาของแสงประดิษฐ์เป็นวายร้ายพรากการดูดาวไปจากมนุษย์ เพราะแสงเหล่านั้นก็คือสิ่งที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย แต่หากไร้ซึ่งการควบคุมแล้ว แสงไฟเหล่านั้นก็กลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตอื่น รวมถึงมนุษย์เองด้วย

เมื่อวิวัฒนาการของโลกใบนี้แปรเปลี่ยนมาแล้ว คงยากที่จะให้เราหมุนย้อนกลับ การผสานวิถีชีวิตยุคใหม่ของมนุษย์และการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดจึงเป็นสิ่งที่ควรควบคู่กันไป ยิ่งไปกว่านั้น การผสมผสานทั้งสองอย่างนี้ยังช่วยรักษาธรรมชาติและสร้างรายได้ให้กับผู้คนด้วย ดังนั้นแล้ว คงจะดีไม่น้อยที่ความรุ่มรวยท้องฟ้ามืดจะโชติช่วงให้กับประชากรโลกทุกคน

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
จิรัชญา ชัยชุมขุน