เพลงประจำการประท้วงฮ่องกงอย่างไม่เป็นทางการ ‘Glory to Hong Kong’ ในปี 2019 กลับมาให้บริการในแพลตฟอร์มสตรีมมิงดังอีกครั้งหลังเปลี่ยนผู้จัดจำหน่าย
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 พฤษภาคม ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าเพลงนี้กลายเป็น ‘อาวุธ’ เพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบและสามารถนำมาใช้บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติได้ ทำให้ก่อนหน้านี้ผู้จัดจำหน่ายเดิมตัดสินใจลบเพลงออกทั้งหมด
เมื่อผลการตัดสินออกมาแบบนี้ ‘Glory to Hong Kong’ จึงไม่ใช่เพลงต้องห้าม แต่ให้ไปมุ่งจัดการผู้นำไปใช้ปลุกระดมมากกว่า
คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ล้มล้างคำตัดสินโดยศาลชั้นต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งปัดตกคำร้องของกระทรวงยุติธรรม และเห็นว่าคำสั่งห้ามเพลงนี้จะไม่ได้ผล เพราะฮ่องกงมี “กระบวนการทางอาญาที่เข้มแข็ง” อยู่แล้ว นอกจากนี้อาจทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว (chilling effect) และบ่อนทำลายเสรีภาพในการพูด
พอล ลาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมฮ่องกง ผู้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลชั้นต้น ให้ความเห็นว่า เพลงนี้ไม่ควรถือเป็นเพลง ‘ต้องห้าม’ เนื่องจากการสั่งห้ามมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่ใช้เพลงดังกล่าวเพื่อสนับสนุนเอกราชของฮ่องกง
“คำสั่งชั่วคราวยังห้ามมิให้กระทำความผิดทางอาญาโดยเฉพาะทั้ง 4 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงเพลง หากทำนองหรือเนื้อเพลงของเพลงดัดแปลงหรือการผสมผสานมีความคล้ายคลึงกับเพลงนั้นอย่างมาก ทุกคนควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามอย่างเต็มที่” กระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้ยื่นอุทธรณ์ระบุ
ศาลอุทธรณ์ให้ความเห็นถึงเพลง ‘Glory to Hong Kong’ ว่า “เพลงดังกล่าวมีผลในการให้ความชอบธรรม แม้กระทั่งเชิดชูการกระทำที่ผิดกฎหมายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สร้างภาพให้ดูสวยงาม ปลุกเร้าและจุดประกายอารมณ์ที่รุนแรง และความปรารถนาที่จะเผชิญหน้าอย่างรุนแรง”
ศาลจึงมีคำสั่งชั่วคราวห้ามเผยแพร่เพลงด้วย ‘เจตนา’ ต่างๆ เช่น จงใจช่วยเหลือ ก่อให้เกิด จัดหา ยุยง ชักจูงผู้อื่นให้กระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว หรือจงใจอนุญาตให้ผู้อื่นกระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว
ในเดือนพฤษภาคม YouTube ได้ลบวิดีโอ 32 รายการที่อยู่ในคำสั่งศาล โดยโฆษกของ YouTube ระบุว่า “ผิดหวัง” กับคำตัดสินของศาล แต่กำลังปฏิบัติตามคำสั่งให้ลบออก ขณะที่บางเวอร์ชันยังสามารถเข้าถึงได้
โดย Google ที่เป็นเจ้าของ YouTube ก็มีนโยบายเช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ในการลบหรือจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ศาลถือว่าผิดกฎหมายในบางประเทศหรือพื้นที่
เพลง ‘Glory to Hong Kong’ เปิดตัวครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2019 ในช่วงที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เนื้อเพลงประกอบด้วยสโลแกนประท้วง ‘ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติในยุคของเรา’ แม้ไม่ได้กล่าวถึงฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นใครอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลฮ่องกงถือว่าเป็นการ ‘สนับสนุนเอกราช’ และสามารถยุยงให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนได้
เวอร์ชั่นดั้งเดิมของเพลงนี้แต่งโดยนักประพันธ์นามสมมติ Thomas dgx yhl ร้องกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ชุมนุมปี 2019 เป็นต้นมา ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ โดย ‘Glory to Hong Kong’ ถูกขนานนามว่าเป็นเพลงชาติฮ่องกงของประชาชน
We pledge: No more tears on our land,
In wrath, doubts dispell’d we make our stand.
Arise! Ye who would not be slaves again:
For Hong Kong, may Freedom reign!
Though deep is the dread that lies ahead,
Yet still, with our faith, on we tread.
Let blood rage afield! Our voice grows evermore:
For Hong Kong, may Glory reign!
Stars may fade, as darkness fills the air,
Through the mist a solitary trumpet flares:
Now, to arms! For Freedom we fight, with all might we strike!
With valour, wisdom both, we stride!'
Break now the dawn, liberate our Hong Kong,
In common breath: Revolution of our times!
May people reign, proud and free, now and evermore,
Glory be to thee, Hong Kong!
เพลงนี้ถูกแบนในสถานศึกษาของฮ่องกงตั้งแต่ปี 2020 แต่ยังคงสร้างความเจ็บปวดให้กับรัฐบาลนับตั้งแต่การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยสิ้นสุดลง อย่างเช่นกรณีที่มีการเปิดเพลงดังกล่าวแทนเพลงชาติจีนในงานแข่งขัน ‘เอเชียนรักบี้เซเว่นซีรีส์’ ที่เมืองอินชอน เกาหลีใต้ เมื่อปลายปี 2022 ทำให้รัฐบาลฮ่องกงต้องเรียกร้องให้มีการ “สอบสวนอย่างเต็มรูปแบบและเจาะลึก”
EmuBands ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายเพลงต้นฉบับได้ลบเพลงประท้วงดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างๆ อ้างถึงคำสั่งศาล “เราตัดสินใจลบเพลงดังกล่าว แต่เหตุผลเป็นเพราะคำสั่งศาล” บริษัทในสกอตแลนด์กล่าว
หลังจากที่เพลงถูกดึงออกจากแพลตฟอร์มสตรีมมิง DGX Music ทีมงานเบื้องหลังเพลงประท้วงกล่าวว่าพวกเขาหวังว่าจะนำเพลงกลับมาใหม่โดยเร็วที่สุด พร้อมเสริมว่าเพลงนี้ไม่ได้ถูกรัฐบาล ‘สั่งห้าม’
เมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 25-26 พฤษภาคม ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงดังอย่าง Spotify และ Apple Music กลับมาปรากฏเพลงนี้ทั้งหมด 5 เวอร์ชัน ได้แก่ เวอร์ชันอะคาเปลลาที่ออกเป็นซิงเกิล และ EP ถาวรที่ประกอบด้วยเวอร์ชันวงออร์เคสตรา เพลงบรรเลง กล่องดนตรี และเวอร์ชันภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีเผยแพร่บน YouTube ตั้งแต่วันจันทร์ โดยมีคำอธิบายวิดีโอระบุว่าเพลงจัดทำขึ้นโดย Distrokid ผู้จัดจำหน่ายเพลงรายใหม่
DGX Music ได้ประกาศอัปโหลดเพลงซ้ำเมื่อวันพุธ โดยแถลงการณ์บนเพจเฟซบุ๊กเป็นภาษาจีน
“การปราบปรามอย่างไม่ยุติธรรมจะไม่ทำให้ประชาชนเงียบ และแม้ว่าเราจะสูญเสียเครื่องมือและผู้สนับสนุน หรือแม้จะต้องสูญเสียผู้เผยแพร่ (publisher) ก็ตาม การแสวงหาเสรีภาพและประชาธิปไตยของเราจะไม่มีวันสิ้นสุด” บางส่วนจากคำแถลงของ DGX Music
หลังการชุมนุมใหญ่ปี 2019 นักกิจกรรม 47 คน ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายความมั่นคง เมื่อกุมภาพันธ์ 2021 โดยนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘Hong Kong 47’ ประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติ นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษา เช่น จิมมี่ ไหล อดีตบรรณาธิการ Apple Daily, อดีตนักข่าว กวินเน็ธ โฮ, คลอเดีย โม อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ, โจชัว หว่อง อดีตผู้นำการชุมนุม ปัจจุบันถูกจำคุก และ แอกเนส โจว ที่ลี้ภัยออกไปนอกฮ่องกงหลังได้รับการประกันตัว
การตั้งข้อหากลุ่มนักกิจกรรมฮ่องกง 47 คน เป็นความพยายามปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุด โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีนักกิจกรรม 14 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานบ่อนทำลาย ตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Law: NLS) ที่ส่งตรงมาจากจีน
จอห์น ลี ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง บอกว่า รัฐบาลจะพยายามป้องกัน ปราบปราม และกำหนดบทลงโทษสำหรับกิจกรรมใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
คดีของนักกิจกรรมฮ่องกง 47 คน ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ว่าเป็นประเด็นทางการเมือง ที่ต้องการกำจัดกลุ่มต่อต้านจีนออกไป
“การพิพากษาลงโทษมวลชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่เป็นตัวอย่างที่โหดเหี้ยมที่สุดที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อปิดปากผู้เห็นต่างได้อย่างไร” ซาราห์ บรูคส์ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประจำประเทศจีน กล่าวในแถลงการณ์หลังการตัดสินคดี
‘Hong Kong 47’ คือกลุ่มนักกิจกรรม 47 คน ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย หลายคนมีบทบาทในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่การปฏิวัติร่ม (Umbrella Movement) เมื่อปี 2014 เรื่อยมาถึงการชุมนุมใหญ่ปี 2019 ก่อนที่จะถูกตั้งข้อหาหนักตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่บังคับใช้ในปี 2020
คดีของนักกิจกรรม 47 คน มาจากข้อกล่าวหา ‘บ่อนทำลาย’ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มนักกิจกรรมกำลังร่วมกันคัดเลือกหาผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ทำให้ถูกจับกุมในข้อหาสมรู้ร่วมคิดทำการโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งทางจำเลยแย้งว่า การกระทำครั้งนั้นคือความพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในสภา เพื่อใช้อำนาจอันชอบธรรมตามระบบรัฐสภา
มีการจัดการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 600,000 คน ร่วมคัดเลือกผู้สมัครฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย เพื่อส่งเข้าสู่สนามการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ (LegCo) ซึ่งมีกำหนดในเดือนกันยายนปีเดียวกัน โดยผู้สมัครหลายคนให้คำมั่นว่าจะยับยั้งการผ่านกฎหมายงบประมาณของรัฐบาลที่นำโดย แครี ลัม ผู้ว่าการฮ่องกงคนก่อน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแค่ปี 2019 เหตุผลคือ หากการพิจารณากฎหมายงบประมาณไม่ผ่านเพราะการคัดค้านของเสียงข้างมาก นั่นเท่ากับจะเป็นการบีบให้ผู้นำรัฐบาลต้องลาออก
การจัดการเลือกตั้งย่อยครั้งนั้นได้รับคำเตือนจากทางการว่า เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เพิ่งประกาศใช้เพื่อตอบโต้การประท้วงในปี 2019 โดยในรายละเอียดนั้น การแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ ทั้งหมดถือเป็นความผิดอาญา และเป็นภัยต่อความมั่นคง
วันที่ 6 มกราคม 2021 นักกิจกรรมรพดับแกนนำ 47 คน ถูกจับกุม และการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของฮ่องกงถูกเลื่อนออกไป เพราะการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่จะจัดขึ้นจริงในเดือนธันวาคม 2021 หลังกฎหมายเลือกตั้งถูกแก้ไขว่าให้มีเพียง ‘ผู้รักชาติ’ เท่านั้นที่สามารถเข้าสู่สภาได้
ฝ่ายรัฐ กล่าวหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะที่ทนายความแย้งว่า นักกิจกกรมใช้สิทธิเพื่อเลือกตัวแทนลงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิธีการตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่การล้มล้างอำนาจรัฐ และสิ่งนี้ไม่ผิดกฎหมาย
ศาลสูงสุดของฮ่องกงพิจารณาคดีความมั่นคงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากที่ใช้เวลากว่า 15 เดือน ไปกับขั้นตอนวิธีการก่อนพิจารณา และตัดสินคดีเมื่อเดือนมีนาคม 2021 มีจำเลยเพียง 13 คน ที่ได้รับการประกันตัว
ผู้พิพากษาศาลสูง 3 คน แอนดรูว์ ชาน, อเล็กซ์ ลี และ จอห์นนี่ ชาน เห็นด้วยกับอัยการผู้สั่งฟ้องว่า หากผู้สมัครจากกลุ่มนักกิจกรรมที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้รับเลือกเข้าสภา พวกเขาจะพยายามยับยั้ง หรือปฏิเสธที่จะผ่านงบประมาณใดๆ ที่เสนอโดยรัฐบาล โดยศาลกล่าวว่า การกระทำนี้จะนำไปสู่การแทรกแซง ขัดขวาง บ่อนทำลายการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลฮ่องกงอย่างร้ายแรง
และข้อหาบ่อนทำลายเป็นหนึ่งใน 4 ข้อหาอาชญากรรมสำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมายความมั่นคง และมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต
ในจำนวนนักกิจกรรม 47 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้จัดการเลือกตั้ง และผู้สมัครในเขตต่างๆ ในจำนวนนี้ 31 คนให้การรับสารภาพเพื่อหวังการลดโทษ กันตัวเป็นพยาน และได้ประกันตัว เช่น โจชัว หว่อง, เบนนี ไท่ ผู้ก่อตั้งขบวนการ Occupy Central ปี 2014, คลอเดีย โม อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ
ส่วนอีก 16 คนที่เหลือตัดสินใจสู้คดีต่อ และผลคือ นักกิจกรรม 14 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิด ศาลยกฟ้องจำเลย 2 คน คือ อดีตสมาชิกสภาเขต ลอว์เรนซ์ หลิว และ ลี ยูชุน
นักกิจกรรม 14 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามกฎหมายความมั่นคง และต้องโทษจำคุกคือ กอร์ดอน อึ้ง ชิงหัง, ทัตเช็ง ทัตฮุง, คลาริสเซ เหยิง, ไมเคิล ปัง, เฮเลนา หว่อง, เซ ตักลอย, กวินเนธ โฮ, เรย์มอนด์ ชาน, โอเวน โชว, ลัม จิงติก, เหลียง กว๊กฮุง, ริคกี เขอ และ วินนี หยู
วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2024 สภานิติบัญญัติฮ่องกงผ่านกฎหมายความมั่นคงที่เรียกว่า ‘มาตรา 23’ (Article 23) ถือเป็นกฎหมายความมั่นคงฉบับที่สอง ต่อจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อปี 2020
1. การก่อกบฏ
2. การก่อจลาจล
3. การขโมยความลับของรัฐ การโจมตีไซเบอร์
4. การก่อวินาศกรรมที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
5. การแทรกแซงกิจการภายในโดยต่างชาติ
สำหรับบทลงโทษ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏ ก่อจลาจล แทรกแซงกิจการภายใน อาจถูกจำคุกตลอดชีวิต ส่วนข้อหาจารกรรมและก่อวินาศกรรม รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ อาจถูกจำคุกสูงสุด 20 ปี
นอกจากนี้ หากฐานความผิดใดมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสมคบคิดกับ ‘กลุ่มคนภายนอก’ ซึ่งไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นรัฐบาลต่างชาติ แต่ครอบคลุมถึงกลุ่มธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชนระหว่างประเทศ อาจมีการเพิ่มโทษจำคุกเข้าไปอีก 2-3 ปี
และหากใครยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี รออยู่เช่นกัน
นอกจากกำหนดโทษหนัก มาตรา 23 ยังเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ตั้งข้อหาไว้ได้ จากเดิม 48 ชั่วโมง เป็น 16 วัน และสามารถขัดขวางไม่ให้ผู้ต้องสงสัยพบทนาย และหากใครได้รับการประกันตัว อาจถูกจำกัดกิจกรรมและการสื่อสาร แม้พ้นจากการควบคุมตัวแล้วก็ตาม
ความร้ายกาจของกฎหมายใหม่นี้คือ สามารถบังคับใช้กับการกระทำที่เกิดขึ้นนอกฮ่องกงได้ โดยทั้งประชาชนและกลุ่มธุรกิจ ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนนักเคลื่อนไหวฮ่องกง หรือทำการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ก็นับเป็น ‘องค์ประกอบของการต่อต้านจีน’ ได้เช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยออกไปแล้ว อาจถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง และครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ในฮ่องกง ก็เสี่ยงกับการมีโทษจำคุกไปด้วย
ทางการฮ่องกง ระบุว่า ร่างกฎหมายมาตรา 23 ยาว 212 หน้า ซึ่งได้รับการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภา หลังจากผ่านการฟังความเห็นสาธารณะไม่นาน โดย จอห์น ลี ผู้ว่าการฮ่องกง จะลงนามในกฎหมาย และให้มีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 23 มีนาคม
รัฐบาลฮ่องกง กล่าวว่า มาตรา 23 มีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้การประท้วงแบบปี 2019 เกิดขึ้นอีก และความผิดต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อ ‘คนไม่กี่กลุ่ม’ ที่ไม่จงรักภักดีเท่านั้น ส่วนคนจำนวนมาก ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร