การเป็น ‘ฝ่ายขวา’ ไม่ใช่เรื่องผิด โดยเฉพาะในสังคมที่พยายามจะเป็นประชาธิปไตย การประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองว่าเป็นฝ่ายขวา (หรือฝ่ายไหนก็ตาม) เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ต้องได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว แต่พอพรรคการเมืองขวาจัด (far-right) ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อวันที่ 6-9 มิถุนายน 2024 กลับกลายเป็นเรื่องชวนประหวั่นพรั่นพรึงในสายตานักวิเคราะห์หลายราย
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น-อาจต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมืองยุโรปในสมัยสงครามโลก จะเห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่พรรคขวาจัดกุมอำนาจในการบริหารประเทศ ก็มีแนวโน้มจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความเป็นชาตินิยมหรืออำนาจนิยม เรื่อยไปจนถึงเผด็จการ และมักมีการกวาดล้างผู้เห็นต่าง หรือผู้ที่ฝ่ายขวามองว่าเป็นภัยคุกคามสถาบันหลักของประเทศ (ซึ่งสถาบันหลักหรือแนวคิดเชิงจารีตในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป)
นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่านโยบายแบบขวาจัดจะยังไม่ส่งผลทันตาเห็นต่อความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป (EU) หรือการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่แนวคิดของฝ่ายขวาจัดจะค่อยๆ ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายที่เป็นประเด็นร่วมของยุโรปในอนาคต
ปฏิกิริยาตอบโต้แบบทันทีทันควันต่อกรณีนี้คือการที่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศยุบสภาหลังพรรคขวาจัดของฝรั่งเศส Rassemblement National (RN) หรือ National Rally คว้าที่นั่งในสภายุโรปเพิ่มจาก 15 เปอร์เซ็นต์ในครั้งก่อนเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ในครั้งนี้ แต่อันที่จริงไม่ใช่แค่ยุโรปที่เจอกับกระแสขวาจัด เพราะหลายประเทศทั่วโลกเจอกับปรากฏการณ์นี้มาก่อนแล้วช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ถ้าจะสรุปย่อว่าทำไมถึงแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองในโลกสมัยใหม่แบบคร่าวๆ ระหว่างซ้ายและขวา มีข้อมูลจากนักวิชาการที่บอกว่านี่คือการอ้างอิงรูปแบบการปกครองในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสระหว่างปี 1789-1799 ซึ่งมีการลุกฮือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่ผู้สนับสนุนระบอบกษัตริย์ไม่ได้ยอมแพ้ง่ายๆ และพยายามสู้กลับ รูปแบบการปกครองในช่วงนั้นจึงเปลี่ยนกลับไปกลับมา
แต่ในการประชุมสภานิติบัญญัติช่วงแรกหลังปฏิวัติได้มีการลงมติให้เปลี่ยนคำเรียกจาก สภาฐานันดร (Etats Généraux) เป็นสภาแห่งชาติ (Assemblee Nationale) เพื่อสะท้อนว่าอำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของกษัตริย์เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติและคนธรรมดาสามัญก็มีส่วนร่วมด้วย
การประชุมสภาแห่งชาติครั้งต่อมาจึงมีการแบ่งผู้ร่วมประชุมออกเป็นสองฝั่ง โดยฝั่งขวาของประธานเป็นกลุ่มสมาชิกที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นขั้วอำนาจดั้งเดิมหรือสถาบันเชิงจารีต ส่วนฝั่งซ้ายคือผู้สนับสนุนการปฏิวัติซึ่งเป็นผู้ท้าทายและเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง เมื่อการเมืองฝรั่งเศสยุคหลังการปฏิวัติเข้าที่เข้าทางและกลายเป็นหนึ่งในแบบอย่างของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางการเมืองในโลกสมัยใหม่จึงถูกแบ่งเป็นสองขั้วใหญ่ๆ ตามไปด้วย คือ ขวากับซ้าย
ต่อมาแนวคิดฝ่ายขวาถูกแบ่งแยกย่อยออกไปเป็นขวาจัด (far-right) และขวาสุดโต่ง (extreme-right) โดยมีการยกตัวอย่างว่าอุดมการณ์แบบขวาจัดหรือขวาสุดโต่งมักจะรวมถึงการยึดมั่นว่าชนชาติของตนสูงส่งกว่าชนชาติอื่น จึงมักเกี่ยวโยงกับกลุ่มชาตินิยมหรืออนุรักษนิยมที่หวงแหนและต้องการปกป้องสถาบันหรือค่านิยมเชิงจารีตที่ตัวเองยึดถือจนกระทั่งมองผู้เห็นต่างว่าเป็นภัยคุกคาม ทั้งยังมีแนวโน้มสูงที่คนกลุ่มนี้จะเหยียดเชื้อชาติ ต่อต้านความแตกต่างหลากหลาย แต่ไม่คัดค้านการกดขี่หรือใช้ความรุนแรงกำจัดผู้เห็นต่าง
ตัวอย่างอุดมการณ์ขวาจัดที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอดีตก็เช่นการปกครองยุคนาซีเยอรมนี มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มากกว่า 17 ล้านคน, จักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เชิดชูแนวคิดบุตรพระอาทิตย์และเชื่อว่าจักรพรรดิคือผู้สืบเชื้อสายเทพเจ้า นำกองทัพเข้ารุกรานประเทศอื่นจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ รวมถึงอิตาลี ยุคเบนิโต มุสโสลินี และสเปน ยุคฟรันซิสโก ฟรังโก เป็นต้น
เพราะกระแสการเมืองในยุโรปและโลกเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้เกิดกรณีศึกษาแรก คือ Brexit
แม้ฝ่ายการเมืองขวาจัดจะเคยก่อเหตุร้ายแรงโดยอ้างความเชื่อและอุดมการณ์ชาตินิยม แต่รัฐบาลฝ่ายซ้ายในอดีตที่เป็นภัยต่อผู้คนไม่แพ้กันก็มีอยู่ เช่น การสังหารหมู่และจับคนไปขังคุกใช้แรงงานหนักในโซเวียต ยุคโจเซฟ สตาลิน มีผู้เสียชีวิตราว 1.2 ล้านคน หรือจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรมมีการกวาดล้างคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์พรรคคอมนิวนิสต์จีน เกิดการฆาตกรรมและสังหารหมู่จนมีผู้เสียชีวิตราว 2 ล้านคน และกัมพูชาในยุคเขมรแดงของ พลพต ก็มีทุ่งสังหาร และการจับคนไปขังคุกแล้วฆ่าทิ้งจำนวนมาก
กระแสการเมืองแบบซ้ายจัดหรือขวาจัดจึงไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในหลายประเทศนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เพราะคนในสังคมจำนวนหนึ่งพยายามถอดบทเรียนว่าอุดมการณ์สุดโต่งของทั้งสองฝ่ายนำไปสู่การเข่นฆ่าและความสูญเสียถึงขั้นนองเลือดอย่างไร
แต่ช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองขวาจัดได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยตัวอย่างใกล้ๆ ที่น่าจะยังจำกันได้คือ การรณรงค์เรื่อง Brexit ของกลุ่มขวาจัดในสหราชอาณาจักร นำไปสู่การลงประชามติเมื่อปี 2016 และเสียงข้างมากที่ชนะแบบฉิวเฉียดเห็นชอบให้สหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU)
ความสำเร็จของฝ่ายขวาในการลงประชามติ Brexit ทำให้กระแสชาตินิยมขวาจัดในประเทศอื่นๆ ของยุโรปกระเตื้องขึ้น ประกอบกับสหรัฐอเมริกาก็เลือกตั้งได้ผู้นำขวาจัดอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ นำไปสู่นโยบายหลายอย่างที่ยึดโยงสโลแกนหาเสียง ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) จนส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเมืองไปทั่วโลก หลังจากนั้นพรรคขวาจัดในออสเตรีย ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ก็ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน
นักวิเคราะห์มองว่าพรรคขวาจัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เรียนรู้ที่จะปรับภาพลักษณ์และทบทวนนโยบายไม่ให้ดูสุดโต่งหรือยึดอุดมคติจนไม่น่าจะเป็นความจริงได้ และพยายามเน้นย้ำประเด็นที่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหรือมีความรู้สึกร่วม ซึ่งช่วยให้คนหันมาสนับสนุนพรรคขวาจัดเพิ่มขึ้นจริง หนึ่งในนั้นก็คือประเด็นปากท้อง โดยพรรคขวาจัดมักพยายามโจมตีรัฐบาลในประเทศตัวเองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหลังปี 2008 ที่โลกตะวันตกเจอกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ซึ่งเริ่มจากสหรัฐฯ และส่งผลกระทบลามเป็นลูกโซ่
กลุ่มหนุน Brexit ในสหราชอาณาจักรรณรงค์ว่า นโยบายเคลื่อนย้ายถิ่นฐานโดยเสรี ซึ่งมีผลในประเทศสมาชิก EU ทำให้คนจากชาติอื่นในยุโรปเข้ามาแย่งงานและแย่งทรัพยากรคนอังกฤษ การแยกตัวจาก EU จะทำให้พ้นจากพันธะผูกพันในแง่นี้ได้ แต่พรรคการเมืองขวาจัดอย่าง Reform UK และ UKIP ซึ่งเป็นผู้นำกระแสจากการรณรงค์แยกจาก EU ก็ถูกวิจารณ์หนักในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานในสหราชอาณาจักรถูกตีแผ่ให้คนในสังคมได้รับรู้ว่าที่จริงแล้วประเทศต้องพึ่งพาแรงงานผู้อพยพจากชาติยุโรปและชาติอื่นๆ มากแค่ไหน
โครงสร้างทางสังคมในสหราชอาณาจักรที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit อย่างมากคือระบบสาธารณสุขและการขนส่งคมนาคม และผลสำรวจความเห็นชาวอังกฤษช่วงปี 2022-2023 มีผู้ตอบว่าเสียใจ หรือ regret เพิ่มขึ้นเมื่อถูกถามถึงการลงประชามติแยกตัวจาก EU จนเกิดคำว่า Bregret ในชุดคำศัพท์การเมืองอังกฤษยุคต่อมา
ขณะที่ไอเดียซึ่งพรรคขวาจัดอื่นๆ ในยุโรปนำเสนอคล้ายกันคือนโยบายเศรษฐกิจ การปรับมาตรการด้านภาษี การช่วยเหลือเยียวยาพลเมืองในประเทศ ซึ่งการจำกัดจำนวนผู้อพยพและไม่รับผู้ลี้ภัยเพิ่มกลายเป็นหนึ่งในมาตรการเหล่านี้ด้วย เพราะกลุ่มขวาจัดรู้สึกว่าการที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณไปอุ้มชูดูแลผู้ลี้ภัยซึ่งเป็น ‘คนนอก’ คือความสิ้นเปลือง และส่วนใหญ่มีอคติเหมารวมว่าผู้ลี้ภัยคือแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายที่แอบอ้างหลักศาสนาอิสลาม ทั้งที่จริงๆ คนที่ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยมีทั้งมุสลิมและคนกลุ่มน้อยซึ่งนับถือศาสนาอื่นๆ แต่เจอภัยสงครามและการคุกคามจากกลุ่มอำนาจจารีตในประเทศตัวเองจนต้องหลบหนี
ผลที่ตามมาคือสถิติคดีจากความเกลียดชังและเหยียดเชื้อชาติในยุโรปเพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อนหน้า มีผู้ลี้ภัยถูกกลุ่มขวาจัดโจมตี ทำร้าย แต่การรายงานของสื่อฝ่ายขวาดูจะมุ่งนำเสนอคดีที่ผู้ลี้ภัยเป็นผู้ก่อเหตุมากกว่าผู้ถูกกระทำ และบรรยากาศแห่งความเกลียดชังส่งผลกระทบไปถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของชาวต่างชาติที่เป็นผู้อยู่อาศัยถาวร รวมถึงพลเมืองที่ได้สัญชาติอย่างถูกกฎหมาย แต่มีเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนยุโรปผิวขาว เห็นได้จากสถิติการก่อเหตุพุ่งเป้าคนเชื้อสายเอเชียและแอฟริกันที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
กรณีของฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม ซึ่งเจอพรรคขวาจัดดึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสภายุโรปครั้งล่าสุด
มีการชูประเด็นชาตินิยมระหว่างหาเสียงเช่นกัน แต่มีบางสิ่งแตกต่างจากกรณีของสหราชอาณาจักร ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี เพราะประชาชนใน 3 ชาติที่หันไปสนับสนุนพรรคขวาจัดไม่ได้มีอุดมการณ์ขวาจัดไปเสียทั้งหมด โดยบางส่วนถูกผลักดันจากสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงแสดงความไม่พอใจผ่านการเลือกพรรคขวาจัดที่เสนอนโยบายขั้วตรงข้าม
ประเด็นหนึ่งที่สื่อนำเสนอว่าเป็นเหตุผลให้คนทั้ง 3 ชาติหันไปสนับสนุนพรรคขวาจัดเพิ่มขึ้น คือ ผลพวงจากมติ EU ที่คว่ำบาตรรัสเซียจากการทำสงครามยูเครน รัฐบาลประเทศต่างๆ ใน EU ก็รับมติด้วยการออกคำสั่งระงับการนำเข้าพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย สิ่งที่ตามมาคือ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าครองชีพที่ประชาชนในยุโรปต้องเผชิญก็พุ่งขึ้นพอๆ กับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจเพราะรู้สึกว่ารัฐบาลจัดการกับสถานการณ์นี้ได้ไม่ดีพอ
อีกเหตุผลคือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ EU ตั้งเป้าจะแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนภายใต้นโยบาย Green Deal ทำให้รัฐบาลประเทศสมาชิก EU ทยอยผลักดันกฎหมายใหม่ๆ ออกมา แต่นโยบายด้านนี้ของฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม ถูกวิจารณ์ว่าส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อปรับระบบใหม่ให้กระบวนการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือขนส่งสินค้า ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง
แม้รัฐบาลในประเทศเหล่านี้จะมีมาตรการสนับสนุนให้คนเปลี่ยนจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงไปเป็นพลังงานสะอาดอื่นๆ แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการยังคงรู้สึกว่าพวกเขาถูกรัฐบาลผลักภาระให้แบกรับอย่างไม่ค่อยเป็นธรรม ทั้งยังให้เวลาในการปรับตัวน้อยไป เมื่อเจอปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำซ้ำเติม จึงเกิดการประท้วงใหญ่ถึงขั้นที่ผู้ชุมนุมขับรถแทรกเตอร์ยาวเป็นขบวนมาปิดถนนในหลายพื้นที่
การประท้วงดุเดือดยืดเยื้อทำให้พรรคขวาจัดอย่าง RN (National Rally) ในฝรั่งเศส AfD (Alternative for Germany) ในเยอรมนี และ ECR (European Conservatives and Reformists) ในเบลเยียม เสนอนโยบายว่าจะผลักดันให้ EU ทบทวนหรือปรับแก้เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม นักวิเคราะห์จึงมองว่า นี่คืออีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลในสามชาตินี้ได้คะแนนลดลงในการเลือกตั้งสภายุโรปล่าสุด เพราะพรรคกรีน ซึ่งสนับสนุนประเด็นสิ่งแวดล้อมมาตลอดและถูกจัดอยู่ในกลุ่มพรรคฝ่ายซ้าย ก็ได้ที่นั่งลดลงเช่นกัน
คะแนนนิยมที่ถดถอยของพรรคกรีนถูกอธิบายเพิ่มเติมโดย The Guardian ที่อ้างอิงความเห็นของคนหนุ่มสาวชาวยุโรป ช่วงอายุ 16-24 ปี โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ระบุว่าเรื่องที่พวกเขากังวลมากที่สุดในยุคหลังวิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ใช่ปัญหาโลกร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางสังคม แต่เป็นความกลัวว่าตัวเองจะไม่สามารถหางานทำได้เลย แม้ว่าจะทุ่มเทกับการศึกษาไปแล้วมากมาย ซึ่งเป็นทัศนคติที่แตกต่างอย่างมากจากการเลือกตั้งสภายุโรปปี 2019 ซึ่งคนหนุ่มสาวยุคนั้นสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ
นอกจากนี้ หลายประเทศแถบยุโรปได้ปรับลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ออสเตรีย เยอรมนี เบลเยียม และมอลตา ปรับให้พลเมืองอายุ 16 ปีมีสิทธิโหวตได้ ขณะที่กรีซปรับอายุขั้นต่ำจาก 18 ปีเป็น 17 ปี ทำให้การเลือกตั้งสภายุโรปในปีนี้มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเป็นครั้งแรกเพิ่มขึ้น แต่เสียงส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้กลับเลือกพรรคขวาจัด เพราะเชื่อว่านโยบายประชานิยมเน้นประเด็นปากท้องตอบโจทย์มากกว่านโยบายของพรรคขวากลางหรือซ้ายกลางรวมๆ ที่พูดถึงความเป็นธรรมทางสังคม
อย่างไรก็ดี พรรค EPP (European People's Party) ในเบลเยียมซึ่งมีแนวคิดขวากลางและเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลฝ่ายซ้ายไปจนถึงขวากลางในประเทศสมาชิก EU หลายแห่ง ยังเป็นฝ่ายได้ที่นั่งในสภายุโรปมากที่สุดคือ 185 ที่นั่งจาก 720 ที่นั่งในสภา แต่พรรคสายกลางหรือพรรคฝ่ายซ้ายในบางประเทศเริ่มเสนอนโยบายที่โน้มเอียงไปทางขวาจัดมากขึ้น เพราะหวังว่าจะช่วยให้พรรคได้รับความนิยมเพิ่ม ขณะที่พรรคการเมืองขวาจัดที่เติบโตขึ้นในสภายุโรปจะทำให้การกำหนดนโยบายของ EU ได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเปิดรับผู้อพยพลี้ภัย
ไม่ใช่แค่ยุโรปเท่านั้นที่เจอปรากฏการณ์การเมืองฝ่ายขวา
การตอบโต้ของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ต่อชัยชนะของพรรคขวาจัดฝรั่งเศสคือการประกาศยุบสภาแบบสายฟ้าแลบ พร้อมประกาศจัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 30 มิถุนายน และ 7 กรกฎาคม 2024 ซึ่งอาจจะช่วยให้พรรค Renaissance ของมาครงได้เปรียบอยู่บ้างตรงที่รู้ล่วงหน้าและน่าจะมีโอกาสเตรียมตัวเลือกตั้งได้เร็วกว่าพรรคอื่น แต่นักวิเคราะห์เตือนว่าอาจเกิดเรื่องพลิกผันที่พรรคขวาจัด RN คว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเพราะการประท้วงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสะท้อนว่าคนจำนวนไม่น้อยกำลังไม่พอใจรัฐบาลมาครง
แต่กระแสขวาจัดเฟื่องฟูไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในยุโรป เพราะผลเลือกตั้งในเอเชียก็สะท้อนว่าฝ่ายขวาจัดได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มขึ้น โดยแรงผลักดันที่คนในหลายประเทศหันไปหาพรรคขวาจัดมีทั้งที่เกี่ยวโยงกับปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา ความมั่นคง รวมถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองหรือสถาบันหลักในบางประเทศ ส่งผลให้กลุ่มชาตินิยมและอนุรักษนิยมเอนเอียงไปทางแนวคิดขวาจัดเพื่อต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคาม
ยกตัวอย่างอินเดีย ซึ่งประธานาธิบดีนเรนทรา โมดี ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ในปีนี้ทั้งที่พรรคภารตียชนตา หรือ BJP ซึ่งเขาสังกัดอยู่ ขึ้นชื่อเรื่องการสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง ไม่เคยห้ามปรามกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคซึ่งปลุกระดมกระแสต่อต้านและเกลียดชังอิสลามอย่างต่อเนื่อง จนมีคดีเกี่ยวพันกับการใช้ความรุนแรงโจมตีและสังหารผู้เห็นต่างทางการเมืองและศาสนาเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลโมดีจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ อดีตอัยการสูงสุดที่มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด ชอบแปะฉลากผู้วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเป็นพวกสนับสนุนคอมมิวนิสต์ ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งในปี 2022 แม้ว่าเขาจะโจมตีนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมและมาตรการที่อิงแนวคิดสังคมนิยมของรัฐบาลชุดก่อนหน้า ทั้งยังเคยประกาศจุดยืนต่อต้านเฟมินิสต์และกลุ่มหลากหลายทางเพศช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สิ่งแรกๆ ที่ยุนทำเมื่อเข้าทำเนียบจึงเป็นการประกาศยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศฯ แต่เกิดกระแสตีกลับเสียก่อนจนต้องกลับลำในเวลาต่อมา
ขณะที่ญี่ปุ่นมีพรรคขวาจัดอย่างเซนเซโตะ (Senseito) ที่เพิ่งก่อตั้งปี 2020 โดยชูแนวคิดต่อต้านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพราะ มานาบุ มัตสึดะ ประธานพรรค เชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดคือการจัดฉากของต่างชาติซึ่งต้องการใช้วัคซีนกำจัดคนญี่ปุ่น แต่พรรคน้องใหม่ที่มีแนวคิดสุดโต่งนี้กลับได้รับเลือกมากเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2022 มีที่นั่งรวม 2 เปอร์เซ็นต์ในสภา นับเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับพรรคที่ครองเสียงข้างมากอันดับ 1 และ 2 ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ด้วยกันทั้งคู่
แนวคิดแบบพรรคเซนเซโตะคล้ายกับแนวคิดของกลุ่มขวาจัดในอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านวัคซีนในสหรัฐฯ ซึ่งมีรายงานบ่งชี้ว่าประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จที่คนกลุ่มนี้เลือกเชื่อมีต้นทางจากคำพูดและการแสดงความเห็นในสื่อโซเชียลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอีกประเทศที่กลุ่มต่อต้านวัคซีนเติบโตรวดเร็วอีกแห่งหนึ่งคือบราซิล เพราะอดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู นักธุรกิจที่มีแนวคิดขวาจัด เป็นหนึ่งในผู้ละเมิดข้อห้ามในการป้องกันโรคระบาดเสียเอง
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่กลุ่มขวาจัดในประเทศเหล่านี้มีจุดยืนคล้ายกัน ได้แก่ การสนับสนุนให้เพิ่มงบประมาณแก่กองทัพและกระทรวงกลาโหม ต่อต้านการแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญให้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ ต่อต้านสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิงที่ไม่พร้อมมีบุตร ขณะที่กลุ่มการเมืองขวาจัดบางประเทศมุ่งเน้นประเด็นศาสนาและกีดกันคนกลุ่มน้อย ซึ่งแนวคิดเหล่านี้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งสิ้น จึงมีกระแสต่อต้านกลุ่มขวาจัดเกิดขึ้นในหลายประเทศเช่นกัน
กระแสขวาจัดที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูทั่วโลกอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ เรื่องนี้อยู่ในรายงานการเฝ้าระวังของสหประชาชาติ (UN) ช่วงปลายปี 2022 โดยมีการกล่าวถึง ‘ข้อกังวล’ ของอันโตนิโอ กูเตร์เรส
เลขาธิการใหญ่แห่ง UN ที่มีต่อการก่อเหตุของผู้มีแนวคิดขวาจัดและขวาสุดโต่งซึ่งเพิ่มขึ้นทั่วโลก อ้างอิงการรวบรวมสถิติคดีก่อการร้ายและวินาศกรรมตั้งแต่ปี 2014-2018 พบว่าการก่อเหตุร้ายและการวางแผนก่อการร้ายในประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้นถึง 320 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับสถิติช่วงหลายปีก่อนหน้า
รายงาน UN ยังอ้างอิงย้อนไปถึงเหตุการณ์ปี 2011 ซึ่ง อันเดอร์ส เบรวิก ชายผิวขาวผู้มีแนวคิดขวาจัด-เชิดชูคนผิวขาว บุกไปยังค่ายยุวชนของพรรคแรงงานบนเกาะอูโทยาของนอร์เวย์ และกราดยิงคนในค่าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 69 ราย บาดเจ็บอีกราว 209 คน เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยให้หลายๆ ประเทศพิจารณาเพิ่มกำลังคนและมาตรการเฝ้าระวังการก่อเหตุของกลุ่มขวาจัดหรือขวาสุดโต่งกันมากขึ้น
แต่ถึงจะเข้มงวดกวดขันมากขึ้นแล้วก็ยังไม่สามารถป้องกันการก่อเหตุของฝ่ายขวาจัดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้มีแนวคิดขวาจัดมักก่อเหตุแบบบุกเดี่ยวและวางแผนก่อเหตุในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งก่อนโควิดระบาดมีกรณีที่มือปืนขวาจัดกราดยิงคนในมัสยิด 2 แห่งที่เมืองไครสต์เชิร์ชของนิวซีแลนด์เมื่อปี 2019 พร้อมไลฟ์สด เพราะไม่พอใจการเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้อพยพลี้ภัยในประเทศ และ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในขณะนั้นก็ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย แต่ย้ำว่าจะไม่มีวันเอ่ยชื่อผู้ก่อเหตุเด็ดขาด เพราะไม่ต้องการให้คนในสังคมสนใจหรือให้ค่าผู้ที่มีแนวคิดสุดโต่ง
ส่วนการก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธอ้างอิงศาสนาอิสลามอย่างเช่น ISIS ในรายงาน UN ระบุว่าเป็นเครือข่ายก่อการร้ายที่มักจะวางแผนเตรียมการอย่างเป็นระบบ จึงมีแนวโน้มที่ฝ่ายความมั่นคงจะสามารถตรวจสอบพบได้ตั้งแต่ก่อนก่อเหตุ แต่การป้องกันการก่อการร้ายประเภทนี้ยังทำได้ยากมากเช่นกัน เพราะมักเป็นการโจมตีที่หวังผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงสูงสุด
ขณะที่สถาบันด้านยุทธศาสตร์และนโยบายในสหราชอาณาจักร Royal United Services Institute (RUSI) ก็เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่มีคำเตือนคล้ายรายงานของ UN คือกระแสขวาจัดในยุโรปและอเมริกาเหนือเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังพอๆ กับการเติบโตของกลุ่มขวาจัดในประเทศอื่นทั่วโลก เพราะอาจเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของคนในสังคมได้ทุกเมื่อ โดยประเทศที่ RUSI เตือนภัยเรื่องกลุ่มอุดมการณ์ขวาจัด ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ ตุรกี อินเดีย บราซิล พม่า ญี่ปุ่น และอิสราเอล