เรื่อง: ตติกานต์ เดชชพงศ
การลอบยิง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้กลับมาท้าชิงตำแหน่งเดิมอีกครั้งในฐานะตัวแทนพรรครีพับลิกัน ถือเป็นข่าวช็อกโลก และทำให้สถานการณ์ทางการเมืองสหรัฐฯ ยิ่งทวีความดุเดือด เพราะเป็นการก่อเหตุท่ามกลางฝูงชนผู้สนับสนุนทรัมป์ ที่มาฟังการปราศรัยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2024 ทั้งยังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาหน่วยอารักขาความปลอดภัยบุคคลสำคัญแห่งชาติ (Secret Service)
แม้ทรัมป์จะรอดจากเหตุการณ์เฉียดเป็นเฉียดตายนี้ได้ แต่ผู้เข้าร่วมฟังการปราศรัยเสียชีวิต 1 ศพ บาดเจ็บ 2 ราย ทำให้คนจำนวนมากมีข้อกังขาต่อประสิทธิภาพด้านการรักษาความปลอดภัยในงานใหญ่ขนาดนี้ แต่ทรัมป์ซึ่งถูกยิงเฉียดใบหูข้างหนึ่งจนเลือดอาบ โพสต์ข้อความในสื่อโซเชียลหลังออกจากโรงพยาบาล ขอบคุณหน่วย Secret Service ที่ช่วยให้เขาปลอดภัย ทั้งยังแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แต่ที่สำคัญคือ เขาไม่ได้กล่าวประณามมือปืนผู้ก่อเหตุอย่างรุนแรงอย่างที่มีคนคาดคิดในตอนแรก เพราะเขาพูดสั้นๆ แค่ว่า การที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และยังไม่มีใครทราบรายละเอียดของมือปืนที่เสียชีวิตไปแล้ว ก่อนทิ้งท้ายแค่ประโยคว่า “ขอให้พระเจ้าอวยพรอเมริกา!”
หลังจากนั้น สำนักสอบสวนกลาง (FBI) ได้เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่าผู้ก่อเหตุเป็นหนุ่มอเมริกันวัย 20 ปีชื่อว่า โทมัส ครูกส์ และสื่อหลายสำนักขุดคุ้ยรายละเอียดเพิ่มเติมโดยอ้างอิงคำให้การผู้คนที่เคยรู้จักครูกส์ พบว่าเขาเป็นคนเงียบๆ และเรียนดี ไม่เคยโพสต์ข้อความที่ไม่สุภาพ หรือแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่พบประวัติการเข้ารักษาอาการทางจิต อีกทั้งขณะเกิดเหตุเขาจบไฮสกูลแล้ว และทำงานเป็นผู้ช่วยด้านโภชนาการในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งของเมืองเบเธลพาร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองบัตเลอร์ ที่เป็นจุดเกิดเหตุ
ช่วงที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับครูกส์ออกมา ผู้ใช้สื่อโซเชียลที่สนับสนุนทรัมป์และพรรครีพับลิกันจำนวนหนึ่ง ต่างก็ประณามว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตสู้ศึกเลือกตั้งกับทรัมป์ในปีนี้ คือผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามลอบสังหาร และสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันก็นำข้อมูลที่ปราศจากหลักฐานชัดเจนเหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อในสื่อโซเชียล ปลุกกระแสความโกรธแค้น และสะท้อนความแตกแยกที่ยากจะประสานระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอุดมการณ์ต่างขั้วในสหรัฐฯ ทั้งยังมีนักวิเคราะห์บางส่วนระบุว่าการที่ทรัมป์ตกเป็นผู้ถูกกระทำอาจช่วยให้เขาได้รับความเห็นใจเพิ่มขึ้น จนสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
แต่สิ่งที่ทำให้คนอเมริกันบางส่วนถกเถียงกันในสื่อโซเชียลหลังจากนั้น คือ ประวัติการบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองของครูกส์ พบว่าตอนอายุ 17 ปี เขาเคยบริจาคเงิน 15 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่พรรคเดโมแครต อีกทั้งแม่ของเขายังเป็นผู้ลงทะเบียนสนับสนุนพรรคเดโมแครต แต่ข้อมูลเพิ่มเติมก็บ่งชี้ว่าพ่อเขาสนับสนุนพรรครีพับลิกัน และหลังจากครูกส์จบไฮสกูลในปี 2022 เขาก็สมัครเป็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน และก็เป็นพลเมืองคนหนึ่งที่มีสิทธิ์โหวตในการเลือกตั้งปลายปี 2024 ส่วนปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นอาวุธของพ่อเขาที่ซื้ออย่างถูกกฎหมายทุกประการ จึงสรุปได้ยากว่าครูกส์มีจุดยืนทางการเมืองแบบใดแน่ และก่อเหตุครั้งนี้ไปเพื่ออะไร
นอกจาก ทรัมป์ ยังมีผู้นำอเมริกันอีกหลายคนที่ตกเป็นเป้าโจมตี ความพยายามลอบสังหารผู้นำ และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ เพราะประธานาธิบดีคนก่อนหน้าทรัมป์ก็เคยเผชิญเหตุการณ์คล้ายกันนี้มาก่อน
ประธานาธิบดีอเมริกัน คนที่ 40 ถูกยิง 6 นัดขณะดำรงตำแหน่งในปี 1981 อาการค่อนข้างสาหัส แต่ฟื้นตัวกลับมาได้ ส่วน จอห์น ฮิงค์ลีย์ ผู้ก่อเหตุ ถูกกักตัวตลอดชีวิตในศูนย์บำบัดผู้มีอาการทางจิต
ประธานาธิบดี คนที่ 38 เจอเหตุการณ์ลอบสังหาร 2 ครั้ง ในปี 1975 และผู้ก่อเหตุเป็นผู้หญิงทั้งคู่ โดยครั้งแรกผู้ก่อเหตุชื่อว่า ลินเน็ตต์ ฟรอมม์ เป็นสาวกลัทธิ ชาร์ลส์ แมนสัน ซึ่งพัวพันการฆ่าตัวตายและสังหารหมู่ในทศวรรษ 80 แต่ฟรอมม์ถูกสกัดได้ก่อนจะลงมือ ส่วนการลอบสังหารครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกแค่ 18 วัน ก่อเหตุโดย ซาราห์ เจน มัวร์ เปิดฉากยิงได้หนึ่งนัด แต่พลาด และถูกเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขารวบตัวไว้ได้
ประธานาธิบดี คนที่ 26 ถูกลอบยิงขณะกล่าวปราศรัยหาเสียงในปี 1912 ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นอดีตผู้นำที่กลับมาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่เอกสารคำปราศรัยหาเสียง ความหนา 50 หน้า และกล่องใส่แว่นตาในกระเป๋าเสื้อ ช่วยสกัดกระสุนสังหารเอาไว้ได้ รูสเวลต์จึงสามารถกล่าวปราศรัยต่อได้จนจบหลังเกิดเหตุ ส่วน จอห์น แชรงค์ มือปืนที่ลงมือไม่สำเร็จ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้มีอาการทางจิต และถูกกักตัวในศูนย์บำบัดตลอดชีวิตเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต้องจบชีวิตจากการลอบสังหารมีจำนวนพอๆ กันกับผู้รอดชีวิต
ประธานาธิบดี คนที่ 35 ผู้ได้รับการยกย่องว่าสร้างผลงานได้ดีในยุคที่สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามเย็นกับประเทศคอมมิวนิสต์ ถูกลอบสังหารในปี 1963 โดย ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ผู้มีแนวคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสต์ และเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ และออสวอลด์ถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อรัฐ แต่ถูกยิงเสียชีวิต 2 วันหลังก่อเหตุโดย แจ็ก รูบี เจ้าของร้านอาหาร
ประธานาธิบดี คนที่ 25 ถูกยิงเสียชีวิตขณะอยู่ที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ในปี 1901 ส่งผลให้รูสเวลต์ที่เป็นรองประธานาธิบดีในขณะนั้นก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนมือปืนคือ ลีออน ซอลกอซ ผู้สนับสนุนแนวคิดอนาธิปไตย ภายหลังถูกประหารชีวิต
ประธานาธิบดี คนที่ 20 ของสหรัฐฯ ถูกมือปืนลอบยิงในปี 1881 แม้จะไม่ได้เสียชีวิตทันที แต่ก็ยื้อชีวิตได้เพียง 2 เดือนกว่า เพราะต่อมาเขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ขณะที่ ชาร์ลส์ กีโต นักกฎหมายและนักเขียนซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ ถูกลงโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา
ประธานาธิบดี คนที่ 16 และอดีตทนายความผู้ยืนยันหลักการคนเท่ากัน ถูกลอบยิง และเสียชีวิตในปี 1865 โดยผู้ก่อเหตุ คือ จอห์น วิลก์ส บูท ผู้สนับสนุนสมาพันธรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มรัฐที่แยกตัวเป็นเอกราชจากสหรัฐฯ เพราะไม่เห็นด้วยกับการเลิกทาส และแนวทางทางการเมืองของลินคอล์น ที่ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งในปี 1861 โดยหลังก่อเหตุบูทหลบหนีไปได้ แต่โดนตามล่าตัวเกือบ 2 สัปดาห์ ก่อนจะถูกวิสามัญฆาตกรรม
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการลอบสังหารทางการเมือง
แอรี เพอร์ลิเกอร์ (Arie Perliger) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของศูนย์ต่อต้านก่อการร้าย Combating Terrorism Center ในสังกัดโรงเรียนเตรียมทหารแห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา เคยศึกษาเรื่องการลอบสังหารผู้นำประเทศ และบุคคลสำคัญทางการเมืองทั่วโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1946-2013 ก่อนจะสรุปชัดเจนว่าการลอบสังหารผู้นำคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองโลก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตกาลนานมา หน่วยงานด้านความมั่นคงในปัจจุบันจึงควรศึกษาทบทวนเพื่อทำความเข้าใจ และหาแนวทางป้องกัน
ตัวอย่างการลอบสังหารที่ย้อนเวลากลับไปไกลสุดไม่ได้เกิดในสหรัฐฯ แต่เพอร์ลิเกอร์พูดถึงกรณี จูเลียส ซีซาร์ ผู้นำเผด็จการโรมัน ถูกสมาชิกวุฒิสภาโรมันบางส่วนวางแผนตลบหลังจนสิ้นชื่อที่โรงละครปอมปีย์ ในวันที่ 15 มีนาคม (Ides of March) ปีที่ 44 ก่อนคริสตกาล ความตายของเขาทำให้เกิดสงครามกลางเมืองตามมา ทั้งยังกลายเป็นเหตุการณ์ที่คนฝั่งตะวันตกยุคหลังมักกล่าวพาดพิงเพื่อเตือนใจว่าไม่มีอะไรแน่นอนในเวทีการเมือง และเรื่องโหดร้ายอาจเกิดขึ้นได้เสมอ
ส่วนแรงจูงใจในการก่อเหตุลอบสังหารผู้นำที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพอร์ลิเกอร์ ประเมินว่าเรื่องนี้ซับซ้อนหลากหลายจนไม่อาจสรุปได้ง่ายๆ บางกรณีผู้ก่อเหตุลงมือเพราะต้องการปกป้องสถานะที่ได้เปรียบ หรือการมีอำนาจนำ ของขั้วการเมืองที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับตนเอง แต่หลายครั้งก็เป็นการก่อเหตุแบบลุยเดี่ยวของผู้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสภาพจิตผิดปกติ
แต่สิ่งที่เพอร์ลิเกอร์เน้นย้ำไม่แพ้กัน คือ ข้อมูลเชิงสถิติ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ตกเป็นเป้าของการลอบสังหาร (และพยายามลอบสังหาร) ไม่ได้มีแค่ผู้นำประเทศ แต่รวมถึงนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนนโยบายบางอย่าง ซึ่งอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ ยิ่งถ้าเป็นกรณีฝ่ายค้านหรือผู้วิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐถูกลอบสังหาร ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่าผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุอาจเกี่ยวพันกับภาครัฐเสียเอง และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีการก่อเหตุลอบสังหารในสัดส่วนที่ไม่ต่างกับประเทศกำลังพัฒนามากนัก
บทความของเพอร์ลิเกอร์ ยกตัวอย่าง ประเทศอิหร่าน เลบานอน ปากีสถาน บังกลาเทศ อียิปต์ ศรีลังกา รัสเซีย รวมถึงประเทศแถบลาตินอเมริกา มีการลอบสังหารผู้นำประเทศ รัฐมนตรี นักการเมือง นักกฎหมาย และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ซึ่งประเด็นร่วมที่ทำให้มีการลอบสังหารเกิดขึ้นมากมายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ คือ การเมืองไร้เสถียรภาพ มีความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายเพราะอุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงการมีพลเมืองหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ และพยายามแย่งชิงอำนาจทางการเมือง การก่อเหตุมักมีความถี่เพิ่มขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ยิ่งถ้าดูข้อมูลของสำนักข่าว AP เพิ่มเติม จะพบว่าประเทศฝั่งตะวันตกก็มีเหตุลอบสังหารผู้นำหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศยุโรปที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2024 คือ การลอบยิง โรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย และผู้ก่อเหตุยิงรัวๆ 5 นัด คือ ยูรัค ซี. นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง มีรายงานข่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายแทรกแซงสื่อมวลชนของฟิโก รวมถึงนโยบายยกเลิกการสนับสนุนยูเครน และยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซีย
ขณะที่บางประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการหรืออำนาจนิยม ผู้นำสามารถยึดกุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ กลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าการลอบสังหารมักเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมากกว่า เช่น รัสเซีย มีแกนนำฝ่ายค้านถูกลอบสังหาร และไม่สามารถปิดคดีได้เป็นจำนวนมาก โดยคนล่าสุดคือ อเล็กเซ นาวัลนี ซึ่งเสียชีวิตขณะอยู่ในคุกรัสเซีย เมื่อไม่กี่เดือนก่อน และก่อนหน้านั้นเขาถูกคนพยายามฆ่ามาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกถูกคนพ่นสารเคมีใส่หน้า และอีกครั้งถูกลอบวางยาพิษในน้ำดื่ม
ในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา มีการลอบสังหารประมุขประเทศ และบุคคลสำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหลายกรณีก็ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบพลิกขั้วได้จริง โดยเว็บไซต์ด้านสถิติโลก Statista พูดถึงการสังหารประมุขประเทศเนปาล เมื่อปี 2001 กษัตริย์พิเรนทระ ถูกมกุฎราชกุมารดิเพนทรายิงสังหารหมู่พร้อมสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ รวมทั้งหมด 9 ราย นำไปสู่ความปั่นป่วนทางการเมือง และในที่สุดก็เปลี่ยนแปลงจากการปกครองระบอบราชาธิปไตยไปสู่การปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนไม่นับการก่อเหตุสังหารกษัตริย์พิเรนทระแห่งเนปาล ว่าเป็นการวางแผนลอบสังหารผู้นำประเทศ เพราะดูเหมือนการก่อเหตุที่มีแรงจูงใจจากความขัดแย้งภายในครอบครัวมากกว่า และการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของสำนักพระราชวังเนปาลหลังเกิดเหตุสลดก็ดูคลุมเครือ เพราะย้ำว่าเป็นอุบัติเหตุ ‘ปืนลั่น’ แต่การตรวจสอบสภาพที่เกิดเหตุกลับบ่งชี้ข้อเท็จจริงที่สวนทาง ประกอบกระแสกดดันทางการเมืองจากกองกำลังลัทธิเหมาที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงนั้น ทำให้ราชวงศ์เนปาลถูกบีบให้สละอำนาจทางการเมือง บวกกับเกิดเรื่องอื้อฉาวในภายหลังของปารัส ชาห์ (อดีต) เจ้าชายเนปาลซึ่งถูกจับในไทยเมื่อปี 2014 ในข้อหาครอบครองกัญชาและก่อความวุ่นวายในที่พัก ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ราชวงศ์เนปาลเสื่อมถอยกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังมีการลอบสังหารผู้นำประเทศที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมากอีกหลายครั้ง เช่น การลอบวางระเบิดขบวนรถยนต์ของ ราฟิก ฮารีรี นายกรัฐมนตรีเลบานอน ผู้ผลักดันให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงและยุติสงครามกลางเมืองเลบานอนในปี 2005 โดยสมาชิกกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ถูกจับกุมและคุมตัว ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความผิดที่ชัดเจน และมีเบาะแสบ่งชี้ภายหลังว่ารัฐบาลซีเรียอาจเกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้ ทำให้ประชาชนเลบานอนจำนวนมากรวมตัวประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ จนถูกเรียกว่าการปฏิวัติซีดาร์ที่นำไปสู่การบีบให้กองทัพซีเรียถอนกำลังออกจากดินแดนเลบานอนในที่สุด
ในปี 2007 เบนาซีร์ บุตโต นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอิสลาม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย ถูกลอบสังหาร 2 ครั้ง ขณะเธอกลับจากลี้ภัยในต่างแดนเพื่อมาลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกฯ สมัย 3 โดยครั้งแรกเกิดเหตุลอบวางระเบิดโจมตีขบวนรถยนต์หาเสียงของบุตโตในกรุงการาจีในเดือนตุลาคม ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนบุตโตและพรรค PPP ที่เธอเป็นหัวหน้า เสียชีวิตรวม 139 ศพ ขณะที่บุตโตบาดเจ็บแต่รอดมาได้ แต่การก่อเหตุลอบยิงอีกครั้งในเดือนธันวาคม ที่เมืองราวัลปินดีปลิดชีพบุตโตลงในที่สุด
ความตายของอดีตนายกฯ หญิงที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดในปากีสถาน ทำให้พรรค PPP ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปีถัดมา จากที่เคยเป็นพรรคคะแนนอันดับสองในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า ก็ได้ที่นั่งเพิ่มมาถึง 36 ที่นั่ง โค่นพรรคการเมืองที่หนุนหลังผู้นำสายทหารอย่าง เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ไปได้อย่างขาดลอย
ส่วนเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ครบรอบ 1 ปีไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2024 คือการลอบสังหาร ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ขณะที่เขากำลังกล่าวสุนทรพจน์เพื่อหาเสียงให้พรรค LDP ก่อนการเลือกตั้งสภาสูงในเดือนกรกฎาคม 2023 และผู้ก่อเหตุ เท็ตสึยะ ยามากามิ ชาวนารา วัย 41 ปี ซึ่งอ้างว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุเป็นเพราะเขาเชื่อว่าอาเบะคือผู้สนับสนุนกลุ่มศาสนาคริสต์ ‘โบสถ์แห่งความสามัคคี’ (Unification Church) หรือลัทธิมูน (Moonies) โดยเป็นผลสืบเนื่องจากที่แม่ของยามากามิเป็นสมาชิกของโบสถ์แห่งนี้ และทุ่มเงินบริจาคมากมายจนทำให้ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
การก่อเหตุของยามากามิ ถือเป็นเรื่องช็อกคนญี่ปุ่นและคนทั่วโลก เพราะอัตราการก่อเหตุประเภทนี้ในญี่ปุ่นนั้นต่ำมาก แม้จะเคยเกิดเหตุวินาศกรรมปล่อยสารพิษบนรถไฟของลัทธิโอมชินริเกียวก็ดูเหมือนเป็นเรื่องเกิดนานมากแล้วตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 การลอบยิงสังหารอาเบะด้วยปืนประดิษฐ์เอง จึงเหมือนสัญญาณเตือนภัยให้ญี่ปุ่นหันมาตรวจสอบมาตรการด้านความปลอดภัยในประเทศครั้งใหญ่ นำไปสู่การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับการครอบครองอาวุธในญี่ปุ่น รวมถึงตรวจสอบการดำรงอยู่ของกลุ่มหรือลัทธิแอบอ้างศาสนา ที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแนบแน่น
อย่างไรก็ดี หลังก่อเหตุยามากามิไม่ได้หลบหนี แต่ยืนรอให้เจ้าหน้าที่จับกุมแต่โดยดี และต้นปี 2024 เขาถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อไต่สวนพิจารณาคดีในข้อหาฆาตกรรม และละเมิดกฎหมายด้านการครอบครองอาวุธ ซึ่งการลงมือกับอาเบะอย่างอุกอาจมีแนวโน้มจะทำให้เขาถูกลงโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหาร
แต่แรงจูงใจในการลงมือของเขาก็กระทบใจชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเช่นกัน นำไปสู่การผลักดันสภาญี่ปุ่นจนผ่านร่างกฎหมายป้องกันและช่วยเหลือเยียวยาบุคคลซึ่งถูกฉ้อโกงทางการเงินโดยกลุ่มองค์กรศาสนา หรือกลุ่มอื่นๆ ออกมา ถือเป็นกฎหมายใหม่ที่ไม่เคยมีการพูดถึงมาก่อนในญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ห้ามการรับบริจาคผ่านช่องทางที่ไม่เหมาะสม เพื่อป้องกันการล่อลวงของสแกมเมอร์ในโลกไซเบอร์อีกด้วย
ในไทยเองก็เคยมีเหตุการณ์พยายามลอบสังหารนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในเดือนมีนาคม 2006 โดยผู้ต้องหาคือ ร้อยโทธวัช กลิ่นชนะ นายทหารที่เคยเป็นคนขับรถส่วนตัว พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในขณะนั้น ถูกตำรวจหน่วยอารักขานายกฯ ทักษิณ จับกุมพร้อมของกลางเป็นระเบิดทีเอ็นที-ซีโฟร์ และรีโมตคอนโทรล ขณะจอดรถอยู่ใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด
หลังการจับกุมร้อยโทธวัช มีการเปิดเผยจากฝั่งรัฐบาลในยุคนั้นว่า นี่คือความพยายามลอบสังหารทักษิณด้วยการลอบวางระเบิดรถยนต์ หรือคาร์บอมบ์ และต่อมายังมีคำสั่งปลด พลเอกพัลลภ จากตำแหน่งใน กอ.รมน. แต่ว่ากระแสการเมืองไทยในขณะนั้นกำลังเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างหนัก ทำให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และสื่อในเครือ เรียกคดีคาร์บอมบ์นี้ว่า ‘คาร์บ๊อง’
ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงกับทำโพลสำรวจความเห็นประชาชนว่าคิดอย่างไรกับเรื่องคาร์บอมบ์ โดยเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคม พ.ศ. 2549 และสุ่มสำรวจประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 25 เขต และปริมณฑล 3 จังหวัด จำนวน 1,174 คน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 20.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการมุ่งปองร้ายต่อทักษิณจริงๆ ขณะที่อีก 49.8 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ โดยในจำนวนนี้ 60.6 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่ากระทำโดยฝ่ายรัฐบาล และอีก 20.3 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ากระทำโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และอีก 19.1 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ากระทำโดยฝ่ายอื่นหรือมือที่สาม
หลังการจับกุมผู้พยายามก่อเหตุคาร์บอมบ์ได้ไม่นาน สถานการณ์ทางการเมืองก็นำไปสู่การรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน และถูกขนานนามว่าเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเรื้อรังยาวนานจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ร้อยโทธวัช ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 6 เดือนใน พ.ศ. 2552 แต่ไม่ใช่จากข้อหาพยายามลอบสังหารอดีตผู้นำ เพราะบทลงโทษเกิดจากข้อหาละเมิดกฎหมายด้านการครอบครองอาวุธ
การลอบสังหารผู้นำในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของไทยจึงมีเพียงคดีคาร์บอมบ์-คาร์บ๊อง แต่ผู้ต่อต้านรัฐบาลซึ่งถูกลอบสังหารและถูกอุ้มหายกลับมีจำนวนมากมาย ในยุคทักษิณเป็นนายกฯ มีการอุ้มหาย สมชาย นีละไพจิตร ทนายความ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และช่วงที่เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อต่อต้านผลพวงของคณะรัฐประหารก็มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นอย่างอุกอาจ เช่น การลอบยิงสังหาร พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง และการยิงสังหาร ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยถูกลักพาตัวขณะอยู่ในต่างแดน และถูกพบว่าเสียชีวิตในยุคอดีตรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก่อรัฐประหาร ในปี 2557 ก็มีอีกหลายคดี
โศกนาฏกรรมที่เกิดกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในช่วงเวลาเหล่านี้แทบจะไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้เลย จึงเป็นปริศนาอันย้อนแย้งว่าผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุเหล่านี้คือใครกันแน่ เพราะเหตุใดผู้มีอำนาจรัฐจึงดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จในการหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษสักเท่าไร
อ้างอิง:
AP, Bangkok Poll, Bloomberg/ The Business Times, CNA, Combating Terrorism Center at West Point, The Conversation, The Guardian, Reuters, Statista