Humberger Menu

อุปสรรคของ คามาลา แฮร์ริส

การประกาศถอนตัวจากตำแหน่งแคนดิเดตพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยของ โจ ไบเดน อาจเป็นเรื่องที่หลายคนแอบคาดหวังอยู่ลึกๆ และมีการคาดเดาไว้แล้วว่าคนที่จะถูกผลักดันมาแทนไบเดนคงหนีไม่พ้น คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคู่บุญ 

แต่พอเกิดเรื่องขึ้นจริงๆ ก็ยังมีคำถามตามมาอยู่ดี

โจ ไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส

ประเด็นหลักที่ผู้สนับสนุนเดโมแครตต้องการคำตอบชัดเจนกว่านี้ คือ ไบเดนประกาศสนับสนุนแฮร์ริสขึ้นเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีแทนตัวเอง สมาชิกพรรคที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนในแต่ละรัฐรวมกว่า 50 รัฐในสหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีสนับสนุนแฮร์ริส รวมถึงมียอดเงินบริจาคเข้าพรรคเพิ่มขึ้นจากหลายกลุ่ม-หลายองค์กร แต่บุคคลผู้ทรงอิทธิพลหลายคนในพรรคยังสงวนท่าที ไม่ได้ประกาศสนับสนุนแฮร์ริสเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งยังไม่ได้เคาะชื่อว่าใครจะมาเป็นแคนดิเดตรองประธานาธิบดีสู้ศึกเลือกตั้งพร้อมกับแฮร์ริส 

ขณะที่ประเด็นสำคัญที่สุด คือคำถามว่า สังคมอเมริกันพร้อมหรือยังสำหรับผู้นำหญิง? เพราะการเลือกตั้งปี 2016 ตัวเต็งฝั่งเดโมแครตอย่าง ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเคยเป็นมาแล้วทั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศและสุภาพสตรีหมายเลข 1 ก็ยังพ่ายแพ้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ผู้กลับมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปีนี้ 

โดนัลด์ ทรัมป์

และทรัมป์ยังได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอีกโข หลังจากถูกลอบยิงระหว่างหาเสียงและรอดชีวิตมาได้ ทำให้มีผู้คาดเดาว่า ถ้าเดโมแครตเสนอชื่อแฮร์ริสก็อาจเจอชะตากรรมเดียวกับตอนเสนอชื่อคลินตัน - คือได้ประธานาธิบดีชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงอย่างนั้นก็ตาม แฮร์ริสมีจุดแข็งอยู่หลายข้อ และมีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายกับ บารัค โอบามา ซึ่งเป็นผู้นำจากพรรคเดโมแครตที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดสมัยดำรงตำแหน่ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การเลือกตั้งที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าเบื่อเพราะเป็นการเผชิญหน้าครั้งที่ 2 ของคู่ท้าชิงหน้าเดิมๆ ที่เป็นชายแก่ผิวขาวสูงวัย กลับกลายเป็นการท้าชิงที่น่าสนใจและน่าจับตามอง เพราะบางเรื่องแฮร์ริสก็มีจุดยืนแตกต่างจากไบเดนและทรัมป์ชัดเจน จนอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างได้

คามาลา แฮร์ริส

เหตุผลเบื้องหลัง ‘สังคมอเมริกันยังไม่พร้อมมีผู้นำหญิง (ผิวดำ)’

จากข้อมูลที่ว่ามาทั้งหมดก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้หญิงอเมริกันบนถนนสายการเมืองได้รับโอกาสทางอาชีพน้อยกว่าผู้ชายจนกลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป กว่าผู้หญิงจะได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตพรรคเพื่อไปชิงตำแหน่งระดับประเทศจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่เดโมแครตซึ่งเชื่อว่าตัวเองเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้าก็เพิ่งเลือก ฮิลลารี คลินตัน เป็นตัวแทนพรรคไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 นี่เอง ขณะที่ คามาลา แฮร์ริส เพิ่งได้รับโอกาสเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถ้าเทียบกับประเทศอื่นทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่มีผู้นำหญิงกันไปแล้วหลายคน ถือว่าสหรัฐฯ ยังตามหลังอยู่มาก

นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ที่ฮิลลารี คลินตัน พ่ายแพ้ทรัมป์ ทำให้มีรายงานเชิงวิเคราะห์ออกมามากมาย โดยตัวอย่างหนึ่งคืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers University) ที่สรุปว่าความเป็นผู้หญิงและผู้ชาย คือปัจจัยสำคัญส่งผลต่อการเลือกตั้งและการหาเสียงในเวทีการเมือง เพราะแคนดิเดตหญิงและชายได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันจากคนรอบข้าง เห็นได้จากการที่นักข่าวผู้ชายตั้งคำถามกับการปราศรัยแบบตะโกนใส่อารมณ์ของคลินตัน ทั้งยังมีผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตบางคนบอกให้คลินตันยิ้มมากขึ้นในระหว่างหาเสียง แต่กลับไม่เคยมีใครแสดงท่าทีแบบนี้กับนักการเมืองชายคนอื่นๆ ที่หาเสียงด้วยรูปแบบเดียวกัน

เนื้อหารายงานสรุปว่า การที่ผู้หญิงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันคือการท้าทายจารีตที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาในเวทีการเมืองซึ่งถูกปกคลุมด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงจึงต้องเผชิญเงื่อนไขและการตั้งคำถามมากมายยิ่งกว่าผู้ชาย อีกทั้งการหาเสียงของฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ประเด็นความเป็นผู้หญิง/ผู้ชายผูกโยงกับภาวะผู้นำไม่เคยถูกสังคมประณาม จนกลายเป็นคำกล่าวว่าสังคมอเมริกันยังไม่พร้อมให้ผู้หญิงเป็นประธานาธิบดี 

โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน

และเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี แฮร์ริส มีแนวโน้มจะได้เป็นแคนดิเดตหญิงคนที่ 2 ของเดโมแครตไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศที่เชื่อกันว่าเป็นโลกเสรี แต่คำถามว่าคนอเมริกันพร้อมไหมสำหรับผู้นำหญิงก็ยังเจือไปด้วยน้ำเสียง ‘ไม่แน่ใจ’ อยู่เช่นเดิม 

นอกจากปัจจัยเรื่องความเป็นผู้หญิงแล้ว แฮร์ริสยังมีประเด็นเรื่องสีผิวเป็นเงื่อนไขให้คนจำนวนมากตั้งคำถามด้วยเช่นกัน เพราะตอนที่ บารัค โอบามา ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีช่วงปี 2008 และ 2012 อาจดูเหมือนนิมิตหมายอันดีว่าสังคมอเมริกันสามารถก้าวข้ามเรื่องสีผิวไปได้แล้ว แต่ในความเป็นจริง ช่วงที่โอบามาดำรงตำแหน่งสมัยแรก มีการตั้งกลุ่มและองค์กรที่มีแนวคิดเหยียดผิวแสดงความคิดเห็นในเชิงดูหมิ่นและโจมตีคนอเมริกันผิวดำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นเหมือนแรงสะท้อนเพื่อโต้กลับชัยชนะของโอบามา (ผู้เป็นดั่งความหวังของลูกหลานคนผิวดำจำนวนมากในสังคมอเมริกันยุคนั้น) 

สำนักข่าว NBC News เคยรายงานอ้างอิงผลสำรวจขององค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน Southern Poverty Law Center พบว่าช่วงปี 2008-2012 ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของโอบามา มีกลุ่มหรือองค์กรสนับสนุนแนวคิดเหยียดผิวเผยแพร่ข้อมูลสะท้อนความเกลียดชังต่อกลุ่มคนผิวดำเพิ่มขึ้นจาก 888 กลุ่มเป็น 1,007 กลุ่ม ทั้งยังมีสถิติคดีจากความเกลียดชังที่คนผิวดำถูกกระทำเพิ่มขึ้นด้วย แม้หลังจากนั้นกลุ่มดังกล่าวจะทยอยปิดตัวลง แต่นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มเหล่านี้อาจไม่ได้ยุติบทบาทหรือสลายกลุ่มจริงๆ แค่เปลี่ยนไปเคลื่อนไหวในทางลับ หรือพูดง่ายๆ คือ ‘ลงใต้ดิน’ แทนการรวมตัวอย่างเปิดเผย

คามาลา แฮร์ริส และ บารัค โอบามา

เมื่อโอบามาพ้นจากตำแหน่งสมัยที่ 2 ทรัมป์ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 และนโยบายหาเสียงของทรัมป์มักพุ่งเป้าโจมตีประชากรกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่คนผิวขาวและไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ผู้อพยพเชื้อชาติอื่นๆ รวมถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ LGBT+ รู้สึกว่าพวกเขาถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติหนักข้อขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มเชิดชูคนผิวขาวแบบสุดโต่งและกลุ่มผู้ปกป้องสิทธิถือครองปืน ก็แสดงความตื่นตัวทางการเมืองเพื่อสนับสนุนทรัมป์ บรรยากาศแห่งความเกลียดชังและความแตกแยกในสังคมอเมริกันจึงถูกรายงานผ่านสื่อกระแสหลักเพิ่มขึ้น

การที่ คามาลา แฮร์ริส เป็นทั้งนักการเมืองหญิง แถมยังมีเชื้อสายอินเดียจากฝั่งแม่ และมีเชื้อสายชาวจาเมกันจากฝั่งพ่อ ทำให้เธอมีความหลากหลายอยู่ในตัว แต่ถ้ามองอีกแง่ก็ถือเป็นความท้าทายต่อจารีตและธรรมเนียมปฏิบัติหลักๆ ทางการเมืองของสังคมอเมริกัน เมื่อบวกกับความฮึกเหิมในห้วงยามนี้ของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ที่อยากแสดงพลังตอบโต้การลอบสังหารเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2024 คะแนนนิยมของทรัมป์ก็ยิ่งสูงขึ้น สวนทางกับไบเดนซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องสุขภาพและความเฉียบคมจนต้องถอนตัว แม้การเสนอชื่อแฮร์ริส เป็นตัวตายตัวแทนจะได้รับเสียงสนับสนุนค่อนข้างมากจากคนในพรรค แต่ก็มีคำถามดังมาให้ได้ยินเช่นกัน

คามาลา แฮร์ริส

สำนักข่าว The New York Times และ Reuters เผยแพร่ความเห็นคนอเมริกันผิวดำต่อประเด็นแฮร์ริส ที่แม้จะมีผู้ตอบอย่างมั่นใจว่า พวกเขาจะลงคะแนนเลือกแฮร์ริสแน่ๆ แต่ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตจำนวนหนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะทักท้วงว่าการเลือกแฮร์ริสเป็นแคนดิเดตคือหนทางที่เหมาะสมจริงหรือ เพราะคำถามว่าคนอเมริกันจะยอมรับผู้นำหญิงได้ไหมก็ลุ้นมากพอแล้ว กรณีแฮร์ริสยังต้องพ่วงอีกคำถามว่าผู้นำผิวดำจะได้รับโอกาสจากประชาชนอเมริกันเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่ 

ส่วนความคิดเห็นของคนอเมริกันที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกฝั่งไหนก็เคลือบแคลงว่าแฮร์ริสน่าจะรู้สภาพของไบเดนดีอยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นรองประธานาธิบดีซึ่งทำงานด้วยกันมานาน การที่เธอไม่เคยพูดอะไรให้ชัดเจนก่อนหน้านี้จึงดูไม่ต่างจากความพยายามปกปิดข้อเท็จจริงที่สำคัญมากๆ อย่างเรื่องสุขภาพผู้นำ ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศสักเท่าไร 

นอกจากแฮร์ริสแล้วยังมีใครอีกที่เข้าตากรรมการ?

องค์กรเฝ้าระวังทางการเมือง Whyy ที่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อสาธารณะอเมริกัน รวบรวมรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจฐานะตัวเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากคามาลา แฮร์ริส ในการเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดี (หรืออาจจะเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับแฮร์ริส) แต่ละคนมีประวัติน่าสนใจไม่น้อยเลย

เจ.บี. พริตซ์เกอร์ (J.B Pritzker) 

ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ นักการเมืองผู้ร่ำรวยติดอันดับท็อป เพราะเป็นทายาทเครือกิจการโรงแรมไฮแอท (Hyatt) อายุ 59 ปีเท่าแฮร์ริส แต่เพิ่งจะถูกวิจารณ์ว่าไม่จริงใจ เพราะเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองพอใจกับการเป็นผู้ว่าการรัฐในปัจจุบันแล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมากลับตระเวนขึ้นเวทีปราศรัยในกิจกรรมระดมทุนสนับสนุนพรรค ทั้งยังพูดจาคล้ายกับผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่บ่อยๆ 

เกรตเชน วิตเมอร์ (Gretchen Whitmer) 

ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน อายุ 52 ปี เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2020 ในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทรัมป์ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีช่วงท้ายๆ แต่วิทเมอร์เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่ายังไม่สนใจจะลงเล่นเวทีการเมืองระดับประเทศ 

แกวิน นิวซัม (Gavin Newsom) 

ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย อายุ 56 ปี เคยเป็นนายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโกที่ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งติดต่อกันถึง 2 สมัย และเป็นที่รู้จักจากนโยบายออกใบอนุญาตแต่งงานให้คู่รักเพศเดียวกันในปี 2004 ก่อนที่ศาลสูงสหรัฐฯ จะมีคำตัดสินให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี 2015 และเขายังเป็นผู้ปกป้องไบเดนมาตลอดว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมแล้วในฐานะแคนดิเดตของพรรคเดโมแครต

จอช แชพิโร (Josh Shapiro) 

อดีตอัยการ ซึ่งสื่ออเมริกันเรียกว่าเป็นดาวรุ่งทางการเมือง ครองตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียมาแล้ว 2 สมัย ปัจจุบันอายุ 51 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่แก้ต่างให้กับไบเดนเรื่องความพร้อมในการเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีของพรรค แต่ด้วยอายุที่น้อยสุดในกลุ่มตัวเต็งคนอื่นๆ ทำให้เขาถูกจับตามองว่าอาจจะได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตรองประธานาธิบดีของแฮร์ริสมากกว่า และเขายังเป็นนักการเมืองเชื้อสายยิวเพียงไม่กี่คนในพรรคเดโมแครตที่เติบโตอย่างรวดเร็วในสายอาชีพนี้

รอย คูเปอร์ (Roy Cooper) 

ผู้ว่าการรัฐนอร์ทแคโรไลนา อายุ 62 ปี เคยเป็นอัยการสูงสุดของรัฐและเป็นที่รู้จักในฐานะผู้รับผิดชอบการทบทวนคดีที่อดีตนักกีฬาลาครอสของมหาวิทยาลัยดยุคถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีละเมิดทางเพศ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนพ้นผิด

แอนดี เบเชียร์ (Andy Beshear) 

ผู้ว่าการรัฐเคนตักกี อายุ 46 ปี เป็นทายาทของ สตีฟ เบเชียร์ อดีตผู้ว่าการรัฐที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย แต่เขาก็สร้างชื่อเสียงและผลงานทางการเมืองด้วยตัวเอง ทั้งยังสามารถเอาชนะผู้สมัครคู่แข่งที่ได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มาได้ และเขายังได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากการรับมือโควิด-19 รวมถึงภัยพิบัติจากพายุทอร์นาโดได้ดี มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ประสบภัย

มาร์ก เคลลี (Mark Kelly)

 สว. รัฐแอริโซนา อดีตนักบินอวกาศขององค์การนาซา อายุ 60 ปี ผู้ผันตัวสู่เวทีการเมืองหลังจาก แกเบรียล กิฟฟอร์ด ภรรยาของเขาซึ่งเป็น สส.รัฐแอริโซนา ถูกยิงเข้าที่ศีรษะในเหตุกราดยิงที่เมืองทูซอนเมื่อปี 2011 มีผู้เสียชีวิต 9 ราย แม้กิฟฟอร์ดรอดชีวิตมาได้แต่ก็ตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองและสนับสนุนให้เคลลีลงสมัครเลือกตั้งแทนจนกระทั่งได้รับเลือกเป็น สว. รัฐแอริโซนา โดยเคลลีมีผลงานด้านการตรวจสอบนโยบายด้านความมั่นคงและการรณรงค์เพื่อควบคุมอาวุธปืน

งานหินที่รออยู่ข้างหน้าแคนดิเดตคนใหม่แห่งพรรคเดโมแครต

ไม่ว่าสุดท้ายใครจะได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตแทน โจ ไบเดน สิ่งที่เธอหรือเขาต้องเผชิญไปอีกพักใหญ่ๆ คือกระแสฝุ่นตลบทางการเมืองว่าจะเลือกใครเป็นแคนดิเดตรองประธานาธิบดี ซึ่งคงต้องใช้เวลาเจรจาทาบทามและต่อรองหาข้อตกลงระหว่างคู่ท้าชิงซึ่งจะต้องไปสู้ศึกเลือกตั้งด้วยกันช่วงปลายปี 2024 และน่าจะเป็นจังหวะที่ฝั่งรีพับลิกันต้องหาทางสกัดดาวรุ่งของพรรคคู่แข่ง ถ้าหาก (ว่าที่) แคนดิเดตเคยพลั้งเผลอพูดหรือทำอะไรผิดไปในอดีต ก็อาจกลายเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองได้ทั้งหมด 

แต่ถ้า คามาลา แฮร์ริส ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนในฐานะแคนดิเดตประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ เธอถูกทรัมป์เสียดสีเรื่องภาพลักษณ์ เพราะตอนที่ทรัมป์ปราศรัยหาเสียงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2024 ซึ่งเป็นการออกงานครั้งแรกหลังเกิดเหตุลอบยิง เขาก็โจมตีแฮร์ริสเรื่องเสียงหัวเราะว่าดูเหมือน ‘คนบ้า’ ทั้งยังบอกอีกว่าเสียงหัวเราะสามารถบอกได้ว่าคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ทั้งยังย้ำคำว่าบ้าและเพี้ยนถึงสามครั้ง แต่ถ้าเทียบกับสิ่งที่ ฮิลลารี คลินตัน เคยเจอมาก่อน นี่อาจจะเป็นแค่การอุ่นเครื่องของทรัมป์เท่านั้น 

เรื่องที่น่ากังวลใจอีกอย่างคือ การปั่นกระแสข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนจากฝั่งผู้สนับสนุนรีพับลิกันที่มีแนวคิดขวาจัด โดยมีนักวิเคราะห์คาดเดาว่าแฮร์ริสอาจเจอการปั่นข่าวลือเรื่องสถานที่เกิดซึ่งเป็นประเด็นที่โอบามาเคยเจอมาก่อนแล้ว เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 โอบามาถูกกระแสข่าวลือจากผู้ไม่ประสงค์ดีกล่าวหาว่าเขาไม่ได้เกิดในสหรัฐฯ ทั้งที่จริงแล้วโอบามาเกิดที่ฮาวายและมีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่ผลสำรวจความเห็นของคนอเมริกันสมัยนั้นบ่งชี้ว่าข่าวปลอมเรื่องโอบามาไม่ได้เกิดในสหรัฐฯ มีผลเชิงลบต่อทัศนคติของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งต่อโอบามา กรณีของแฮร์ริสซึ่งมีแม่เป็นคนอินเดียและพ่อเป็นคนจาเมกัน อาจถูกปล่อยข่าวลือว่าเธอเกิดในสองประเทศนี้แทนที่จะเป็นสหรัฐฯ ก็เป็นได้

ขณะเดียวกันยังมีฉายาที่ทรัมป์ใช้เรียกแฮร์ริสในเชิงเหยียดและขยายความให้ดูเกินจริง ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 ฉายาด้วยกัน คือ Laffin Kamala ที่เป็นการพาดพิงเสียงหัวเราะของแฮร์ริสซึ่งทรัมป์บอกว่าบ้าและเพี้ยน อีกฉายาคือ Border Czar ซึ่งถ้าแปลแบบใกล้เคียงสุดหมายถึง ‘จักรพรรดิแห่งชายแดน’ แต่ความหมายโดยนัยคือทรัมป์พาดพิงว่าแฮร์ริสเป็นมาเฟียผู้ทรงอิทธิพลในประเด็นชายแดน เพราะแฮร์ริสรับผิดชอบดูแลเรื่องผู้อพยพช่วงปี 2021 และทรัมป์ใช้คำนี้เรียกแฮร์ริสตอนนักข่าวถามว่านโยบายไหนของเดโมแครตที่เขาคิดว่าจะส่งกระทบต่อสังคมอเมริกันมากที่สุด โดยเขาบอกว่าแฮร์ริสจะปล่อยให้ผู้อพยพเข้ามาเบียดเบียนภาษีคนอเมริกัน และทำให้อาชญากรรมแพร่ระบาด ทั้งยังมีแนวโน้มว่าทรัมป์จะใช้ฉายานี้โจมตีแฮร์ริสในการปราศรัยครั้งต่อๆ ไป

แต่ถึงจะมีเรื่องน่าหนักใจในฝั่งเดโมแครตที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนม้าศึกกลางทาง หันมองฝั่งรีพับลิกันก็เจอเหตุการณ์คล้ายกับเดินสะดุดขาตัวเองล้มเหมือนกัน นั่นก็คือการแฉเรื่อง Project 2025 ซึ่งถูกมองว่าเป็นโรดแม็ปนโยบายที่ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันจะ ‘ทำทันที’ ในช่วง 180 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2025 และผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้คือองค์กรเอกชน Heritage Foundation ซึ่งระดมทุนว่าจ้างผู้คนมากมายให้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลออกมาเป็นโรดแม็ปความหนากว่า 900 หน้า แถมยังตีพิมพ์อย่างเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ที่มีชื่อตรงตัวว่า Project 2025 

เพียงแต่โรดแม็ป Project 2025 เจอกระแสตีกลับจากประชาชนแทบทุกฝ่าย ทั้งผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตและฝั่งรีพับลิกันเอง ลามไปถึงผู้ที่ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกพรรคไหนดี เพราะเนื้อหาหลายข้อดูแล้วสุดโต่งแบบ ‘คุณพ่อรู้ดี’ ที่คิดแทนคนในสังคม เช่น การแบนสื่อโป๊เปลือย การถอดยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาทำแท้ง ยาปรับสมดุลฮอร์โมน และถุงยางอนามัยออกจากบัญชียาที่รัฐสนับสนุนให้แก่ประชาชนตามนโยบายสาธารณสุข Affordable Care Act รวมถึงแผนยุบกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาทิ้ง

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลหาทางจัดสรรงบประมาณเพื่อฝึกอบรมและว่าจ้างบุคลากรหลายพันคนเข้ารับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐในแผนกต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามโรดแม็ปในนาม Project 2025 ซึ่งกลุ่มคนที่มีรายชื่อในฐานะ ‘ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม’ กับตำแหน่งส่วนใหญ่เป็นอดีตคนทำงานหรือไม่ก็ที่ปรึกษาของอดีตรัฐบาลทรัมป์นั่นเอง จึงดูจะเป็นประเด็นเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มมากไปหน่อย 

กระแสต่อต้านดังขึ้นหนาหูจนทรัมป์ต้องออกมาโพสต์สื่อโซเชียลของตัวเองว่าเขาไม่รู้ไม่เห็นไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ Project 2025 ทั้งสิ้น และบอกด้วยว่าหลายประเด็นในโปรเจกต์นี้ดูประหลาดและแย่มาก แต่สำนักข่าว CNN แจกแจงว่าผู้ที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับ Project 2025 ประมาณ 140 คน คือกลุ่มผู้ใกล้ชิดหรือไม่ก็เป็นผู้เคยทำงานในรัฐบาลทรัมป์มาก่อนทั้งนั้น พร้อมตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติมว่าเป็นไปได้จริงๆ หรือที่ทรัมป์จะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโรดแม็ปที่เขียนวัตถุประสงค์ชัดแจ้งว่าต้องการให้เป็นแนวทางการทำงานของประธานาธิบดีแห่งพรรครีพับลิกันคนถัดไป และแคนดิเดตของพรรคก็แทบจะ ‘ล็อกมง’ ที่ทรัมป์มาตั้งนานแล้ว 

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ