สงครามน้ำลายระหว่างตุรกีและอิสราเอลดูจะระอุคุกรุ่นขึ้น เมื่อ เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ประกาศระงับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และประณาม เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐอิสราเอล เป็นผู้ก่อเหตุล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในสงครามกาซา พร้อมระบุว่าเนทันยาฮูจะต้องมีชะตากรรมไม่ต่างจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำนาซีเยอรมนี ผู้บงการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการเสียดสีว่าเนทันยาฮูผู้มีเชื้อสายยิว ทำตัวเช่นเดียวกับฮิตเลอร์ซึ่งก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ
ท่าทีของผู้นำตุรกีเกิดขึ้นที่เมืองริเซ บ้านเกิดของเขาเอง โดยเป็นการกล่าวอย่างเร้าอารมณ์ต่อผู้สนับสนุนพรรครัฐบาล AK (Justice and Development Party) ของตุรกีที่มาฟังการปราศรัย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2024 ซึ่งแอร์โดอันระบุเป็นนัยๆ ด้วยว่าตุรกีต้องแข็งแกร่งให้มาก เพื่อที่อิสราเอลจะได้ไม่กล้าก่อเหตุกับชาวปาเลสไตน์ พร้อมยกตัวอย่างกรณีลิเบีย ส่งกำลังทหารไปยังประเทศลิเบียและดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทั้งสองเหตุการณ์
ฝั่งคู่กรณีก็มีปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงไม่แพ้กัน เพราะ อิสราเอล คาตซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิสราเอล แถลงผ่านบัญชี X ในวันต่อมาว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ควรจะขับไล่ตุรกีพ้นจากการเป็นสมาชิก และบอกอีกว่าประธานาธิบดีแอร์โดอันก็คงมีจุดจบไม่ต่างจาก ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำเผด็จการอิรัก ซึ่งส่งกองทัพบุกประเทศคูเวต และถูกสหรัฐอเมริกานำกำลังทหารของประเทศพันธมิตรกว่า 40 ชาติเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยคูเวตช่วงปี 1990-1991 นำไปสู่ความล่มสลายของรัฐบาลซัดดัม และสุดท้ายก็ถูกประชาชนโค่นล้ม ไล่ล่า จับกุม ก่อนจะถูกตัดสินประหารชีวิตในฐานะอาชญากรสงคราม
ถัดจากการแลกหมัด (ทางวาจา) ระหว่างตุรกีและอิสราเอลได้ไม่นาน อิสมาอิล ฮานิเยห์ แกนนำฝ่ายการเมืองของกลุ่มติดอาวุธฮามาส ผู้ปกครองดินแดนฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ ซึ่งรัฐบาลตุรกีและรัฐบาลอิหร่านคอยให้ความสนับสนุน ก็เสียชีวิตที่กรุงเตหะรานในอิหร่าน โดยโฆษกของฮามาสระบุว่าสาเหตุเกิดจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ทำให้ประธานาธิบดีแอร์โดอันโพสต์ผ่าน X ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 ทั้งประณามและสาปแช่งการลอบสังหารฮานิเยห์ และย้ำว่ารัฐบาลของเขาจะสนับสนุนการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์จนถึงที่สุด
ความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นใหม่ระหว่างสองประเทศที่มีบทบาทสำคัญทั้งในตะวันออกกลางและยุโรป ทำให้มีผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจับจ้องเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่อิสราเอลและตุรกีจะถึงขั้นแตกหักทำสงครามกันจริงๆ หรือไม่ เป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์เห็นต่างกันอยู่มาก
ความขัดแย้งระหว่างตุรกี-อิสราเอลระลอกใหม่เกิดขึ้นหลังอิสราเอลประกาศตอบโต้กลุ่มติดอาวุธฮามาสที่ก่อเหตุโจมตีอิสราเอลหลายจุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023
กว่าทศวรรษก่อนหน้านั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองประเทศจะเป็นศัตรูคู่แค้นกันมาตั้งแต่ต้น เพราะถ้าย้อนกลับไปช่วงเริ่มก่อตั้งประเทศอิสราเอลใหม่ๆ ก็นับว่าสถานการณ์วันนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างมาก เนื่องจากครั้งนั้นตุรกีเป็นประเทศแรกที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ออกมาประกาศรับรองสถานะรัฐอิสราเอลแบบไม่กลัวสวนกระแสชาติอาหรับเพื่อนบ้าน
นักวิชาการประวัติศาสตร์บางส่วนระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและอิสราเอลช่วงก่อตั้งประเทศใหม่ๆ นั้นถือว่าดีมาก มีการแลกเปลี่ยนทางทหาร การค้า และวัฒนธรรม เพราะยุคนั้นตุรกีอยู่ใต้การปกครองของ มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก รัฐบุรุษ (และเผด็จการ) ผู้ถูกยกให้เป็นบิดาแห่งสาธารณรัฐตุรกีหลังจากที่อาณาจักรออตโตมันล่มสลาย และนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของอะตาเติร์กคือการทำให้ตุรกีเป็นรัฐโลกวิสัย หรือรัฐฆราวาส (Secular State) ที่ทันสมัยเมื่อเทียบกับชาติมุสลิมอื่นๆ เพราะแยกเรื่องศาสนาออกจากการเมืองโดยเด็ดขาด
อีกประเด็นที่นักวิชาการวิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุให้ตุรกีกับอิสราเอลเข้ากันได้ดีในยุคอะตาเติร์ก เนื่องจากชาวเติร์กซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของตุรกีมีความเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมตะวันตกมากกว่าจะเกี่ยวโยงกับชนชาติอาหรับ เนื่องด้วยสมัยที่อาณาจักรออตโตมันเรืองอำนาจ สามารถแผ่ขยายอิทธิพลไปปกครองดินแดนหลายส่วนทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกาเหนือ แต่ชนชั้นนำส่วนใหญ่ล้วนมีเชื้อสายเติร์ก ขณะที่กลุ่มชนเผ่าซึ่งพูดภาษาอาหรับเกือบทั้งหมดคือผู้ถูกปกครอง
เมื่อถึงยุคที่อาณาจักรออตโตมันค่อยๆ ล่มสลาย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการลุกขึ้นสู้และเรียกร้องอิสรภาพของกลุ่มชาตินิยมอาหรับที่เคยตกเป็นอาณานิคมในอดีต ประกอบกับระบอบสุลต่านในตุรกีที่เป็นศูนย์กลางอำนาจยุคอาณาจักรออตโตมันก็ถูกโค่นล้มโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เชื้อสายเติร์กที่มีแนวคิดเสรีนิยมภายใต้การนำของ เคมาล อะตาเติร์ก
แม้กระทั่งช่วงที่เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948 ซึ่งเป็ชนวนความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลตุรกียุคนั้นก็ยังประกาศจุดยืนเป็นพันธมิตรกับอิสราเอล ส่งผลสะเทือนต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาหรับที่อยู่รอบด้านในตะวันออกกลางไม่น้อยเลย
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและอิสราเอลจะเคยมี ‘ยุครุ่งเรือง’ มาก่อน แต่การเมืองในประเทศตุรกีก็เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีการรัฐประหารหลายครั้ง รวมถึงเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจในยุคที่เกิดภาวะฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ในเอเชียช่วงปลายทศวรรษ 1990’s ทำให้กลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดอิสลามนิยมและชาตินิยมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
รัฐบาลตุรกียุคทศวรรษ 2000’s จึงประกาศจุดยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ ‘พี่น้องมุสลิม’ ในปาเลสไตน์เหมือนกับประเทศอาหรับอื่นๆ เป็นจุดเริ่มต้นให้ตุรกีเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญที่ยืนเคียงข้างปาเลสไตน์
เมื่อเลือกข้างปาเลสไตน์ นับตั้งแต่นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและอิสราเอลก็ถดถอยลงเรื่อยๆ และเหตุการณ์สำคัญถึงขั้นเกิดรอยร้าวที่ยากประสานทางการทูต คือกรณีเรือสัญชาติตุรกี Mavi Marmara ประกาศว่าจะนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาซึ่งถูกอิสราเอลคว่ำบาตรปิดกั้นเส้นทางคมนาคม แต่กลับเกิดเหตุชุลมุนขณะเรือพยายามเทียบท่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2010 ทหารอิสราเอลเปิดฉากยิงโจมตีเรือตุรกี ทำให้นักกิจกรรมบนเรือเสียชีวิต 9 ราย และอีกรายบาดเจ็บสาหัสก่อนจะเสียชีวิตในอีก 4 ปีต่อมา
ผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติที่รับผิดชอบกรณีเรือ Mavi Marmara ถูกเผยแพร่ราว 1 ปีหลังเกิดเหตุ ระบุว่ากระสุนราว 250 นัดของทหารอิสราเอลระดมยิงเข้าใส่เรือสัญชาติตุรกี ทำให้เกิดความเสียหายและมีผู้เสียชีวิต แต่รัฐบาลอิสราเอลยืนยันว่าการกระทำของกองทัพนั้น ‘ชอบด้วยกฎหมาย’ เพราะเป็นการปกป้องน่านน้ำและดินแดนใต้อำนาจอธิปไตย แต่หลายประเทศประณามว่าการโจมตีเรือลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไร้อาวุธเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้
นอกจากตุรกีที่สั่งขับไล่ทูตอิสราเอลพ้นประเทศ ยังมีอีกหลายประเทศที่เรียกทูตตัวเองกลับจากอิสราเอล เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการโจมตีเรือด้านมนุษยธรรมครั้งนั้น
แต่กระบวนการลงโทษผู้ก่อเหตุไม่เคยเกิดขึ้น เพราะฝั่งอิสราเอลยืนยันคำเดิมว่าการกระทำของทหารในเหตุการณ์เป็นไปเพื่อปกป้องดินแดนของตัวเอง
นับตั้งแต่นั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิสราเอลก็ยากจะหวนคืนกลับไปดีดังเดิม เมื่ออิสราเอลปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบในฉนวนกาซาหลังกลุ่มฮามาสก่อวินาศกรรม 7 ตุลาคม 2023 ทำให้คนในฝั่งปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วมากกว่า 34,000 ราย รัฐบาลตุรกีก็ประณามอิสราเอลว่าแอบอ้างการทำสงครามตอบโต้กลุ่มฮามาสเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ ขณะที่อิสราเอลก็ประณามตุรกีว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายเพราะฮามาสเองก็เข่นฆ่าและลักพาตัวคนจำนวนมากในเหตุการณ์ 7 ตุลาคมเช่นกัน
การปราศรัยเชิงขู่ว่าจะบุกอิสราเอลของประธานาธิบดีตุรกีครั้งล่าสุด ถูกตั้งคำถามโดยนักวิเคราะห์ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะถ้าดูจาก 2 เหตุการณ์ที่แอร์โดอันเอ่ยอ้าง ก็จะเห็นได้ว่าเป็นการลงมือทำจริง ทั้งยังส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์ในประเทศและดินแดนที่ว่ามาทั้งคู่
กรณีแรก ‘ลิเบีย’ เป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจอย่างหนัก หลังพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจเป็นเวลานานถูกโค่นล้มในปี 2011 องค์การ NATO ได้ส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ และรัฐบาลตุรกีซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก NATO อนุมัติส่งทหารตุรกีไปประจำในลิเบียในปี 2020 เพื่อหนุนหลังรัฐบาลลิเบียในกรุงตริโปลีที่ได้รับการหนุนหลังจากประเทศตะวันตกสมาชิก NATO ทั้งหลาย มีผลให้กองกำลังฝ่ายต่อต้านซึ่งยึดฐานที่มั่นทางภาคตะวันออกและทางใตของลิเบียได้รับผลกระทบเช่นกัน
ส่วนอีกกรณีคือ ดินแดนนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน มีการทำสงครามครั้งแรกระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายอาร์เมเนียกับกองทัพของอาเซอร์ไบจานช่วงปี 1991-1994 หลังจากนั้นมีการประกาศหยุดยิง แต่ก็ยังพบเห็นการปะทะระหว่างสองฝ่ายอยู่บ่อยๆ กระทั่งสงครามครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในปี 2020 ตุรกีภายใต้การนำของแอร์โดอันประกาศสนับสนุนฝั่งอาเซอร์ไบจาน ซึ่งมีทั้งการแสดงจุดยืนเคียงข้างและส่งความช่วยเหลือทางการทหารไปให้
อาเซอร์ไบจานใช้มาตรการปิดกั้นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารไปยังดินแดนนากอร์โน-คาราบัค สลับกับเกิดเหตุต่อสู้ปะทะระหว่างกองทัพอาเซอร์ไบจานและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายอาร์เมเนียขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเดือนกันยายน 2023 กองทัพอาเซอร์ไบจานยกระดับปฏิบัติการทางทหาร และยึดดินแดนคืนจากกลุ่มต่อต้านได้สำเร็จ นำไปสู่การทำข้อตกลงยุติศึก
และในเดือนมกราคม 2024 กลุ่มต่อต้านที่เคยตั้งตัวเป็นรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัค (แต่ไม่ได้รับการรับรองจากนานาประเทศ) ได้ประกาศยุบดินแดนเป็นการถาวร และมีผู้อพยพลี้ภัยไปยังอาร์เมเนียเป็นจำนวนมาก
ทั้งสองเหตุการณ์มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ประชาคมโลกต้องจับตาท่าทีของตุรกีว่ารัฐบาลภายใต้การนำของแอร์โดอันอาจตัดสินใจบุกอิสราเอลจริงๆ และนักวิเคราะห์จากสถาบัน AEI ในสหรัฐฯ ก็เตือนว่าผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ควรแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของแอร์โดอัน โดยมีการยกตัวอย่างกรณี ซัดดัม ฮุสเซน ที่ขู่ว่าจะบุกคูเวต แต่สหรัฐฯ ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดอย่างจริงจัง ทำให้อดีตผู้นำอิรักตีความว่านี่คือการเปิดไฟเขียวให้บุกคูเวตได้
แต่นักวิเคราะห์อีกฝั่งหนึ่งประเมินว่าแอร์โดอันไม่น่าจะบุกอิสราเอลจริง โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดเช่นนี้เป็นเพราะพฤติกรรมแต่ดั้งเดิมของแอร์โดอันที่ถูกวิจารณ์อยู่บ่อยๆ ว่า ‘ปากไว’ และมักพูดจาเร้าอารมณ์เกินจริงเพื่อปลุกระดมกลุ่มผู้สนับสนุน การกล่าวว่าจะบุกอิสราเอลครั้งนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง
ส่วนผู้ที่เห็นต่างด้วยเหตุผลอื่น มองว่าตุรกีจะไม่บุกอิสราเอล เพราะสถานะของอิสราเอลต่างจากทั้งลิเบียและนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งถ้าจะสรุปแบบคร่าวๆ คือสองดินแดนหลังอ่อนแอจากความขัดแย้งภายใน มีการก่อเหตุรุนแรงเพื่อแย่งชิงอำนาจจนรัฐบาลไร้เสถียรภาพ การที่ตุรกีส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงจึงส่งผลกระทบอย่างมาก ขณะที่ฝั่งอิสราเอลนั้นมีความเข้มแข็งทางทหารไม่แพ้กัน อาวุธยุทโธปกรณ์และการครอบครองนิวเคลียร์ก็เหนือกว่าตุรกี ทั้งยังมีพันธมิตรเป็นชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ การบุกอิสราเอลจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกับการบุกลิเบียหรือนากอร์โน-คาราบัค
อย่างไรก็ดี ถ้าตุรกีบุกอิสราเอลจริงๆ ก็สามารถสร้างความกดดันอย่างใหญ่หลวงให้กับอิสราเอลและประเทศพันธมิตรได้ เพราะตุรกีอาจใช้วิธีปิดกั้นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศบริเวณช่องแคบตุรกี ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เชื่อมต่อระหว่างทะเลอีเจียน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลดำ ทำให้มีนักวิเคราะห์เตือนว่าต่อให้ตุรกีเพียงแค่ข่มขู่ นานาประเทศก็ไม่ควรวางเฉย แต่ควรแสดงท่าทีอะไรบางอย่างออกมาเพื่อให้รู้ว่าไม่เห็นด้วยกับความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วโลกได้
เรื่อง: ตติกานต์ เดชชพงศ
อ้างอิง:
AA, AEI, Aljazeera, AP, ArmenPress, BBC, Brookings, DW, Friedrich Naumann Foundation, The Guardian, Globes, NZ History, Osram , Reuters, Setav, WeNews