สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอนประกาศเตือนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2024 ให้คนไทยในอังกฤษและคนที่กำลังจะเดินทางไปอังกฤษ หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุมประท้วงและติดตามข่าวสารของทางการอังกฤษเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงและจลาจลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะเมืองฮัลล์, ลิเวอร์พูล, บริสตอล, สโตก-ออน-เทรนต์, แบล็กพูล และเบลฟาสต์
แต่ถ้าดูข้อมูลของสื่ออังกฤษเพิ่มเติมจะพบว่าการรวมตัวของกลุ่มขวาจัดลุกลามไปยัง 23 เมืองทั่วประเทศ และมีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 400 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เผยแพร่เมื่อ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทั้งยังมีคำประกาศที่หนักแน่นจาก เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคแรงงานที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ราวเดือนเศษ ไฟเขียวให้ตำรวจยกระดับบทลงโทษผู้จงใจก่อจลาจลด้วยข้อหาที่เกี่ยวพันกับการก่อกวนความสงบสาธารณะ ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่เขาประณามการก่อจลาจลว่าเป็นพฤติกรรมของ ‘กุ๊ย’ หรืออันธพาลขวาจัด มีแนวคิดสุดโต่ง และบ่มเพาะความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม
ส่วนชนวนเหตุของการจลาจลครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังโศกนาฏกรรมในวันที่ 29 กรกฎาคม 2024 ซึ่งมือมีดรายหนึ่งบุกไปทำร้ายเด็กๆ ที่กำลังเข้าร่วมกิจกรรมเต้นรำในธีม เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่เมืองเซาท์พอร์ต ทางเหนือของอังกฤษ ทำให้มีเด็กหญิงอายุ 3-6 ขวบเสียชีวิต 3 ราย รวมถึงผู้บาดเจ็บอีก 8 ราย ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ต่อจากนั้นผู้ใช้สื่อโซเชียลในอังกฤษบางส่วนก็เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนว่ามือมีดคือชายชาวมุสลิมที่มาถึงอังกฤษด้วยเรือผู้อพยพลี้ภัย ทำให้กลุ่มคนที่มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัดนัดหมายผ่านสื่อโซเชียลออกมารวมตัวประท้วงในวันถัดมา เพื่อย้ำจุดยืนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายรับผู้อพยพลี้ภัยของรัฐบาลอังกฤษ
การชุมนุมที่เซาท์พอร์ตมีเป้าหมายจะโจมตีมัสยิดในเมือง แต่ตำรวจสกัดการก่อเหตุได้ทัน แต่กลับส่งผลให้การเผยแพร่ข้อมูลในสื่อโซเชียลเพื่อปลุกระดมให้คนออกมาชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้น นำไปสู่การรวมตัวในอีกหลายๆ เมืองทั่วอังกฤษ และเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมขว้างปาถังขยะและจุดไฟเผาโรงแรมที่พักของผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในเมืองร็อตเธอร์แฮมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม และมีการก่อจลาจลในอีกหลายเมืองหลังจากนั้น ซึ่งมีทั้งการเผาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ เช่น อาคารบ้านเรือน รถตำรวจ มีการพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มผู้อพยพและชาวอังกฤษเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนผิวขาว รวมถึงการปล้นสะดมร้านค้าอีกหลายแห่ง
ความรุนแรงครั้งนี้มากเกินไปกว่าการชุมนุมทางการเมืองที่มีข้อเรียกร้องอะไรสักอย่าง
โจ มัลฮอล ผู้อำนวยการ Hope Not Hate องค์กรต่อต้านการเผยแพร่ความเกลียดชังในอังกฤษ เขียนบทความผ่านทางเว็บไซต์สำนักข่าว The Guardian โดยระบุว่าการรวมตัวของกลุ่มขวาจัดนับเป็นการจลาจล เพราะมีการใช้ความรุนแรงโดยตั้งเป้าชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าจะโจมตีกลุ่มคนที่เป็นเสียงส่วนน้อยของสังคมอย่างผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัย ทั้งยังมีการทำร้ายร่างกายหรือเหยียดเชื้อชาติคนเชื้อสายอื่นๆ ในอังกฤษที่ไม่ใช่คนผิวขาว จึงเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ เหยียดเชื้อชาติ และละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเจตนา
นอกจากนี้ มัลฮอลยังระบุด้วยว่า บรรยากาศแห่งความเกลียดชังได้ก่อตัวในสังคมอังกฤษตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีการเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมสุดโต่งอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านผู้อพยพ นับตั้งแต่ช่วงที่มีการลงประชามติเมื่อปี 2016 ว่าอังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ ซึ่งมติเสียงข้างมากในช่วงนั้นสนับสนุนแนวคิดเรื่องการแยกตัว หรือ Brexit มากกว่าฝ่ายที่ต้องการให้เป็นสมาชิก EU ต่อ และมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อประกาศอุดมการณ์ขวาจัด จนได้รับความนิยมและมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีการเมืองอังกฤษนอกเหนือจากพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานที่เคยเป็นสองพรรคหลักๆ ในอังกฤษ
กระแสนิยมของพรรคขวาจัดเฟื่องฟูอย่างมากหลังการประชามติ Brexit และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีแนวคิดขวาจัดก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจำนวนมากเช่นกัน หลังจากนั้นข้อมูลบิดเบือนที่โจมตีกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย รวมถึงถ้อยคำต่อต้านผู้อพยพลี้ภัยในอังกฤษ ก็ถูกนำไปเผยแพร่ต่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสื่อโซเชียล สังเกตได้จากการใช้คำเดิมๆ เป็นแฮชแท็กเพื่อแสดงความเห็นต่อต้านนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ เช่น Enough is Enough (พอกันที) Stop the Boat (หยุดเรือผู้ลี้ภัย) และ Save Our Children (ปกป้องลูกหลานของเรา) ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่าผู้อพยพลี้ภัยคือคนนอก และเป็นภัยคุกคามต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองอังกฤษตัวจริง รัฐบาลต้องรับภาระในการโอบอุ้มคุ้มครองผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้ แทนที่จะนำงบประมาณไปใช้กับประชาชนในประเทศ
การเผยแพร่ข้อมูลโจมตีผู้อพยพลี้ภัยด้วยวาจาของบรรดานักการเมืองและอินฟลูเอนเซอร์ขวาจัด ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือเป็นข้อมูลเท็จ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สถิติคดีเกี่ยวกับความเกลียดชัง เลือกปฏิบัติ และเหยียดเชื้อชาติในอังกฤษเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งช่วงก่อนและหลังโควิด-19 เมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างการทำร้ายเด็กหญิงเสียชีวิตที่เมืองเซาท์พอร์ต กระแสความเกลียดชังผู้อพยพก็ปะทุขึ้นและลุกท่วมเหมือนไฟลามทุ่ง
อย่างไรก็ดี คริส อัลเลน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ เขียนบทความเผยแพร่ทาง The Conversation เตือนว่าการจลาจลครั้งนี้ไม่ใช่แค่การรวมตัวของกลุ่มขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพลี้ภัย แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความหวาดกลัวหรือเกลียดชังอิสลาม (Islamophobia) เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นนี้ก็เกรงว่าจะไม่มีทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังในสังคมอังกฤษได้
แม้ข้อมูลที่เป็นชนวนเหตุของการรวมตัวประท้วงและก่อจลาจลจะถูกหักล้างด้วยคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งย้ำชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุเป็นวัยรุ่นชายชาวอังกฤษ เกิดที่อังกฤษ โตที่อังกฤษ และไม่พบหลักฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกลุ่มก่อการร้าย แต่คนอังกฤษฝ่ายขวาจัดจำนวนมากกลับเลือกจะเชื่อข้อมูลในสื่อออนไลน์มากกว่า
สำนักข่าว Reuters ยกตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ฝ่ายขวาจัดที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เช่น สตีเฟน แยกซ์ลีย์-เลนนอน (Stephen Yaxley-Lennon) เจ้าของนามแฝง ‘ทอมมี โรบินสัน’ เป็นหนึ่งในผู้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เซาท์พอร์ต รวมถึงปลุกระดมแนวคิดต่อต้านอิสลามและผู้อพยพลี้ภัย ทั้งยังชักชวนให้คนออกมารวมตัวกันเยอะๆ แต่เขาโต้กลับว่าตัวเองถูกสื่อใส่ร้าย
ขณะที่ The Guardian ไล่รายชื่อกลุ่มขวาจัดที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อ้างนิยามความรักชาติและแนวคิดชาตินิยม ตั้งแต่ Patriotic Alternative, Britain First และ Turning Point UK ทั้งยังมีเครือข่ายผู้ชื่นชอบ (และเชื่อ) ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ เช่น Resistance GB และ Unity News Network (UNN) ซึ่งใช้แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลสื่อสารกันทั้งในทางเปิดและทางลับ โดยกลุ่มเหล่านี้มีอุดมการณ์ร่วมกันคือ ต่อต้านผู้อพยพลี้ภัยและอิสลาม
นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมต่อต้านนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลอังกฤษที่มักจะย้ำผ่านสื่อโซเชียลว่า ผู้อพยพลี้ภัยทำให้สังคมไม่ปลอดภัย มักจะเกี่ยวพันกับคดีทำร้ายร่างกาย และเป็นภัยคุกคามต่อผู้หญิงและเด็ก รวมถึงได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากนักการเมืองฝ่ายซ้าย ถึงขั้นดียิ่งกว่าสิ่งที่พลเมืองอังกฤษได้รับ จนเป็นที่มาของฉายานายกฯ สองมาตรฐาน (Two-Tier Kier) ที่กลุ่มขวาจัดใช้เรียกนายกฯ คนใหม่อย่างเคียร์ สตาร์เมอร์ แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกหักล้างโดยกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนที่อ้างอิงสถิติคดีอาญาจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลอังกฤษ ว่าไม่เป็นความจริง
อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนแนวคิดขวาจัดในอังกฤษไม่ได้สนใจรับฟังข้อมูลที่มีหลักฐานอ้างอิงมากเท่ากับข้อมูลเร้าอารมณ์ที่โดนใจจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์หรือนักการเมืองขวาจัดที่มีช่องทางสื่อสารในแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นของตัวเอง เพราะคนจำนวนมากไม่ได้ติดตามข้อมูลจากสื่อมวลชนกระแสหลักอีกต่อไป ข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจึงไม่ได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในวงกว้างเหมือนข้อมูลบิดเบือนอื่นๆ ที่มีส่วนหล่อเลี้ยงความเกลียดชังในสังคมให้เติบโตและงอกงาม
ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงในบทความขององค์กรด้านความมั่นคง Georgetown Security Studies Review ซึ่งย้ำว่าสื่อโซเชียลมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนประเด็นการเมืองในหลายประเทศ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดเติบโตในประเทศยุโรปช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการที่พรรคขวาจัดในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสภายุโรปเพิ่มขึ้น มักเกี่ยวพันกับการเผยแพร่ข้อมูลในเชิงบิดเบือนหรือพูดถึงข้อเท็จจริงเพียงส่วนเดียว
อีกประเด็นที่สื่อหลายสำนักวิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุของการก่อจลาจลเช่นกัน คือ ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2024 ของพรรคแรงงานอังกฤษ เพราะนี่คือครั้งแรกในรอบ 14 ปีที่นายกฯ อังกฤษมาจากพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งมีจุดยืนเรื่องเปิดรับผู้อพยพลี้ภัย แตกต่างจากกลุ่มขวาจัดสุดโต่งที่มองว่าผู้อพยพลี้ภัยคือผู้รุกราน เมื่อสตาร์เมอร์เข้ารับตำแหน่งได้เดือนเศษๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มขวาจัดจะนัดรวมตัวกันเพื่องัดข้อนายกฯ มือใหม่จากพรรคฝ่ายซ้ายที่มีอุดมการณ์อยู่ในขั้วตรงข้าม
สตาร์เมอร์ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดที่เกี่ยวกับเหตุจลาจลทั่วประเทศ โดยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว 2 เคส คือ ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งถูกจับกุมและไต่สวน จากการโพสต์ข้อความที่ถูกตีความว่าเป็นการคุกคามหรือข่มขู่ในประเด็นเกี่ยวกับเชื้อชาติ-สีผิว และอีกคดีเป็นชายวัย 58 ปี ถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุก 3 ปี ในการก่อความรุนแรงระหว่างเหตุการณ์จลาจลในเมืองลิเวอร์พูล
นอกจากนี้ พีเตอร์ ไคล์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ยังได้เข้าพบกับผู้บริหารสื่อโซเชียลต่างๆ ในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น Google, Meta, X หรือ TikTok เพื่อขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังและช่วยระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจสร้างความเกลียดชังหรือนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงในสังคม ทำให้รัฐบาลชุดนี้ถูกผู้ใช้สื่อโซเชียลบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำตัวราวกับเผด็จการที่พยายามปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชน
ที่สำคัญคือ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีฝีปากกล้าชาวอเมริกัน เจ้าของสื่อโซเชียล X ยังกระโดดเข้ามาร่วมวงความขัดแย้งด้วยอีกคน เพราะเขาโพสต์ข้อความใน X ว่าสงครามกลางเมืองในอังกฤษคงเลี่ยงไม่ได้แล้ว (“civil war is inevitable”) ทั้งยังเรียกนายกฯ อังกฤษว่า Two-Tier Kier ตามผู้ใช้ X ที่เป็นฝ่ายขวาจัด ทำให้ เฮลีย์ อเล็กซานเดอร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ แถลงเตือนมัสก์ว่า ควรแสดงความเห็นอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเอง
รัฐมนตรียุติธรรมอังกฤษย้ำว่า การเรียกเหตุจลาจลในอังกฤษว่า ‘สงครามกลางเมือง’ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าผู้ก่อจลาจลเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงก่อนในหลายกรณี ทั้งยังมีตำรวจถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหลายนาย
แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่ตอบโต้อะไรเลยคงไม่ใช่ อีลอน มัสก์ เพราะ CEO ของ X โพสต์ภาพการ์ตูนสะท้อนเหตุการณ์นักโทษกำลังจะถูกประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าในวันที่ 6 สิงหาคม พร้อมข้อความประกอบเชิงเสียดสีว่านี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 กับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความไม่ถูกใจรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งผู้ใช้ X ที่เข้ามากดหัวใจให้กับโพสต์ของมัสก์มีจำนวนกว่า 732,000 ยูสเซอร์ และมีผู้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเพื่อประณามรัฐบาลอังกฤษว่าพยายามปิดปากผู้เห็นต่างอีกเป็นจำนวนมาก
เพื่อตอบโต้การจับกุมและปราบปรามของรัฐบาล กลุ่มขวาจัดนัดหมายผ่านสื่อโซเชียลอีกครั้งว่าจะรวมตัวกันแถวๆ ศูนย์ทนายความที่ดูแลคดีเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยและจุดบริการต่อวีซ่าราว 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแสดงพลังกดดันรัฐบาลในวันที่ 7 สิงหาคม แต่เครือข่ายกลุ่มต่อต้านการเหยียดผิวและนักสิทธิมนุษยชนอีกหลายกลุ่มจัดชุมนุมแบบที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘ม็อบชนม็อบ’ เพราะต้องการทำให้กลุ่มขวาจัดรู้ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการโหมกระพือความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาตินั้นมีจำนวนมากกว่า
สำนักข่าว CNN รายงานว่าการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านการเหยียดผิวในอังกฤษดำเนินไปอย่างสงบ มีเพียงการชูป้ายประท้วง ไม่มีการยั่วยุให้ก่อความรุนแรง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพิ่มกำลังรักษาความสงบตามจุดต่างๆ ที่เป็นสถานที่จัดม็อบชนม็อบ จึงไม่มีรายงานเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่ม
แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่าถ้าการชุมนุมของกลุ่มขวาจัดยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มต่อต้านการเหยียดผิวยืนยันรวมตัวต่อไปก็มีแนวโน้มจะเกิดการปะทะหรือความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มได้เช่นกัน และประชาชนอังกฤษในเมืองต่างๆ ที่เกิดการชุมนุมประท้วงและการจลาจลก็สะท้อนความเห็นว่าพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางหรือเข้าไปใกล้สถานที่ชุมนุม เพราะกลัวจะได้รับอันตรายจากกลุ่มผู้ก่อจลาจล
อ้างอิง:
Aljazeera, AP, BBC, CNN, Georgetown Security Studies Review, The Guardian, Reuters, Royal Thai Embassy, London UK, X