ครบสัปดาห์แล้ว กับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นอดีต พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคสองชุด รวม 11 คน 10 ปี ทำให้ สส. ของพรรคเหลือ 143 คน
โชคยังดีที่ฟาร์มงูเห่ายังไม่เกิดขึ้น บรรดา สส. ที่เหลือพร้อมเพรียงต่อแถวเข้าพรรคใหม่ ‘พรรคประชาชน’ ที่เปิดตัว 2 วันถัดจากที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ โดยมี เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค
แต่โชคก็ไม่ได้เข้าข้างไปเสียทั้งหมด เพราะ สส. ของอดีตพรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมยื่นเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 ต่อสภา เมื่อปี 2564 กำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเพื่อไต่สวนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ถ้าหากไปให้สุดทาง 44 สส. จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
ในบรรดา 44 รายชื่อนี้ มีทั้งอดีต สส. ที่โดนตัดสิทธิไปพร้อมๆ กับการยุบพรรค เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ทำให้เหลือ สส. ในนามพรรคประชาชน 143 คน แต่หากบรรดาบุคคลในรายชื่อ 44 คน ที่ยื่นแก้ไขมาตรา 112 ถูกซ้ำดาบสอง พรรคประชาชนอาจเสีย สส. ในสภาไปอีก 25 คน เหลือ 118 คน
ที่สำคัญ ในบรรดารายชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นระดับ ‘เลือดแท้’ ที่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคส้มมาตั้งแต่ยังเป็นอนาคตใหม่ หาก ป.ป.ช. เลือกทางนี้จริง บุคลากรแกนนำพรรคส้มตัวจริงแทบจะสูญพันธุ์ไปจากสารบบการเมือง
ไม่ใช่เป็นเรื่องเกินความคาดหมายสำหรับพรรคก้าวไกล กับการถูกยุบและตัดสิทธิทางการเมือง เนื่องจากคำตัดสินก่อนหน้าระบุแล้วว่า การหาเสียงด้วยการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขต สุ่มเสี่ยงต่อการล้มล้างการปกครอง จนนำมาสู่การยื่นยุบพรรคในเวลาต่อมา
ไม่ใช่เป็นเรื่องเกินความคาดหมายสำหรับพรรคก้าวไกล กับการถูกยุบและตัดสิทธิทางการเมือง เนื่องจากคำตัดสินก่อนหน้าระบุแล้วว่า การหาเสียงด้วยการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขต สุ่มเสี่ยงต่อการล้มล้างการปกครอง จนนำมาสู่การยื่นยุบพรรคในเวลาต่อมา
การเตรียมการตั้งพรรคส้มร่างใหม่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วผุดขึ้นมาจากดิน แต่ผ่านการคิดและเตรียมการมาในระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งชื่อพรรค โลโก้พรรค ส่วนแกนนำและหัวหน้าพรรคคงยึดหลักแนวทางเดิมของพรรคการเมืองไทยในยุคหลัง คือ ตั้งกรรมการบริหารพรรคน้อยๆ และไม่ใส่สมาชิกระดับแกนนำสำคัญๆ ลงไป โดยกรณีศึกษาสำคัญคือ การยุบพรรคไทยรักไทย ที่ต้องเสียกรรมการบริหารพรรค 111 คน หรือกลุ่ม ‘บ้านเลขที่ 111’ เพื่อล้มกระดานเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น
พรรคประชาชน หรือ People’s Party ชื่อที่อาจจะเหมือนอย่างบังเอิญกับชื่อภาษาอังกฤษของคณะราษฎร เปิดตัววันที่ 9 สิงหาคม และจัดงานใหญ่รับสมัครสมาชิกพรรค ได้ยอดเงินบริจาคเข้าพรรคถึง 25 ล้านบาท ในไม่กี่วัน เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคที่ทะลุ 50,000 คน
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประกาศเตรียมสู้เลือกตั้ง 2570 พร้อมตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และยืนยันไม่ลดเพดานแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112
แต่การยักไหล่แล้วไปต่อของพรรคส้มร่างสอง ที่ย้ายมาร่างสามในนามพรรคประชาชน ยังต้องถูกตีกรอบด้วยกับดักมาตรา 112 อีกเช่นกัน
หากอ้างอิงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่บอกว่า ความผิดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความผิดนี้เริ่มต้นตั้งแต่การยื่นแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภา วันที่ 25 มีนาคม 2564 แต่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาขณะนั้น ไม่รับ โดยให้เหตุผลว่าขัดรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น หากใช้หลักนี้มาพิจารณาเรื่อง 44 สส. เป็นผู้ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 ในวันนั้น นับว่า ‘เสี่ยงอย่างมาก’ ที่จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพ เพราะวันที่ศาลใช้อ้างอิงตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ก็ยึดวันที่ยื่นกฎหมายเข้าสภาเป็นหลัก
คาดการณ์กันแบบสุดทางว่า กรณี 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล อาจจบลงเหมือน ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ที่ถูกตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต เนื่องจากโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก ที่อาจเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควร อันเป็นพฤติการณ์หรือการกระทำที่ส่อไปในทางขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
พรรคประชาชน บรรดาคนในพรรค ฐานเสียง แฟนคลับ ‘ด้อมส้ม’ อาจจะอยู่ในช่วงอารมณ์แค้นเคืองคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และสวิงกลับมาที่ความสะใจและมั่นใจว่า ต่อให้อยู่ในนามพรรคใหม่ ความนิยมในพรรคส้มยังไม่เสื่อมคลาย ยังคงปักธงมั่นคงในหลายๆ พื้นที่ และในการเลือกตั้ง 2570 ก็ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลมีภาษีดีว่าใครเพื่อน หนึ่ง-ยังได้รับความนิยมจริงๆ สอง-เป็นผู้ถูกกระทำทางการเมือง
แต่การยักไหล่นั้นง่าย ไปต่ออย่างไรยังคาดเดายาก บางคนเล่นมุกผ่านโลกออนไลน์ว่า การสมัครสมาชิกพรรคตลอดชีพ - ไม่ใช่ตลอดชีพของผู้สมัคร แต่เป็นตลอดชีพของพรรค (ซึ่งน่าจะสั้นมากตามเคย)
อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคก้าวไกลเป็นกระแสไปทั่วโลก หลายประเทศและองค์กรนานาชาติต่างจับตา แสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่าอาจทำให้กระบวนการทางประชาธิปไตยไทยถอยลงคลอง แต่ทางการไทยก็ตอบกลับอย่างตรงไปตรงมาที่แปลได้เป็นภาษาชาวบ้านเราๆ ท่านๆ ว่า เรื่องของเรา จัดการเองได้ พวกคุณอย่ายุ่ง
มองโลกแง่งามว่า การยุบพรรคประชาชนคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะเนื้อแท้ไทยก็แคร์สายตาชาวโลกไม่น้อย แต่ไม้ตายที่จะใช้ขจัดพรรคส้ม คือการตัดสิทธิ 44 สส. มากกว่า
หากไล่ 44 รายชื่อ จะมีทั้งคนที่เป็นอดีต สส. คนที่ถูกตัดสิทธิไปแล้วจากการยุบพรรค และคนที่ยังเป็น สส. อยู่ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต ที่สำคัญ บุคคลที่ลงชื่อทั้งหมด คือเหล่า ‘บิ๊กเนม’ ระดับแกนนำเลือดแท้ที่ฟูมฟักพรรคส้มมาตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่
หากฉากทัศน์ (คำเชยๆ นี่แหละ) ทางการเมืองแบบนี้เกิดขึ้นจริง พรรคประชาชนจะอ่อนแอลงอย่างมาก จาก สส. 25 คนที่หายไป บางเขตต้องเลือกตั้งใหม่ หัวหน้าพรรคและแกนนำเก๋าเกมถูกตัดสิทธิ คนที่จะมานำพรรครุ่นใหม่ที่ฉะฉานแน่นหลักการคงเหลือแค่ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ และบรรดา สส. หน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสภาหลังการเลือกตั้งปี 2566
ภาพที่ใครต่อใครเคยเห็นในสภา การอภิปรายอย่างถึงลูกถึงคนจาก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร การแจงตัวเลขและข้อมูลละเอียดยิบโดย ศิริกัญญา ตันสกุล การบู๊พร้อมชนแบบ รังสิมันต์ โรม หรือ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ผู้กัดกองทัพไม่ยอมปล่อย สิ่งที่ทำให้ประชาชนนั่งเฝ้าการถ่ายทอดสด จ้องสไลด์ประกอบการประชุมสภาอย่างใจจดใจจ่อและมีส่วนร่วม อาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว
ความฮึกเหิมของด้อมส้ม จะกลายเป็นความหนักใจของการจัดการภายในพรรคประชาชน ที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องคิดว่าจะผลักดันใครขึ้นมาเป็นแกนนำ และการจัดสรรองคาพยพเพื่อรองรับทั้งบทบาทสภา และการเลือกตั้ง 2570 คงไม่ง่ายเหมือนจินตนาการ
เปรียบเทียบกันว่า การกำจัดวัชพืชบางอย่าง แค่ถอนหรือตัดมันยังมีวันกลับมางอกงามได้ วิธีที่ชะงัดกว่า ‘ของเขา’ คือเอาน้ำร้อนเดือดรดราดให้ตายถึงราก - ฉากที่ร้ายขั้นสุดแบบนี้อาจกำลังจะเกิดขึ้นก็ได้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เบญจา แสงจันทร์, ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ย้ายไปพรรคเป็นธรรม), อภิชาติ ศิริสุนทร, สมชาย ฝั่งชลจิตร, สุเทพ อู่อ้น
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา, สมเกียรติ ถนอมสินธุ์, ทองแดง เบ็ญจะปัก, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์, ทวีศักดิ์ ทักษิณ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) และ สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล
ใน 44 รายชื่อ มีทั้ง สส. และอดีต สส. โดยบางคนถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปพร้อมๆ กับการยุบพรรค แต่ยังมีอีก 25 คน ที่ยังเป็น สส. อยู่ในสภา
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.บัญชีรายชื่อ
สส.เขต 24 กรุงเทพฯ
สส.เขต 18 กรุงเทพฯ
สส.เขต 3 จันทบุรี
สส.เขต 25 กรุงเทพฯ
สส.เขต 4 ฉะเชิงเทรา
สส.เขต 8 ชลบุรี
สส.ตราด
สส.เขต 4 สมุทรปราการ
การตั้งพรรคประชาชนขึ้นมาเพื่อรับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ทำให้เห็นว่า อุดมการณ์อนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงทศวรรษเข้มแข็งและงอกงามเป็นกลิ่นความเจริญที่คน 14 ล้านโหยหาได้ ผ่านการเลือกตั้งแค่ 2 ครั้ง …เช่นเดียวกับการยุบพรรค 2 ครั้ง
เชื่อว่าหลายคนคงรู้แก่ใจว่า ความนิยมของอนาคตใหม่และก้าวไกล คือ สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของชนชั้นนำและอนุรักษนิยมไทย (เรื่องนี้ผู้ให้กำเนิดพรรคไทยรักไทยน่าจะเข้าใจดี) ยิ่งพรรคส้มประกาศกร้าวว่าจะแก้ปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้าง ยิ่งทำให้กลุ่มอำนาจเดิมและอำนาจทุนใหญ่ไม่พอใจพร้อมๆ กัน เพราะผลประโยชน์ของพวกเขาเหล่านั้นย่อมกระทบกระเทือน
นโยบายหลายๆ อย่างของพรรคส้ม ถูกมองว่าเป็นอุดมการณ์ อุดมคติ แต่ยังไม่สมจริงในทางปฏิบัติ เป็นความคิดของคนรุ่นใหม่หัวรั้นที่ปั้นให้เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่พูดเรื่องง่ายๆ ทำเรื่องที่จับต้องได้ก็อยู่รอดปลอดภัยสบายตัว แถมมีอำนาจและเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้น
การเกิดขึ้นของพรรคประชาชน บนอุดมการณ์ ‘ประชาชน’ แบบเดิม และอิงหลักการของคณะราษฎร ย่อมเป็นความหวังที่น่าฮึกเหิม ว่าเรายังมีโอกาสเอาชนะได้ด้วยการเลือกตั้ง เพราะการลงถนนชุมนุมใหญ่ไม่นำไปสู่อะไร และคงไม่เกิดภาพแบบนั้นอีกแล้ว
การตั้งพรรคประชาชน ด้วยสีเดิม อุดมการณ์เดิม โลโก้คล้ายเดิม และถ้อยคำเดิมๆ เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกทางหรือไม่ คงเร็วเกินไปที่จะคาดเดาล่วงหน้า
แต่หากมองสมรภูมิการเมืองไทยเป็นสงครามระหว่างอนุรักษนิยม ชนชั้นนำ กับคนอีกกลุ่มที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง - ที่อาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ - เราควรกางตำรารบแบบไหน ถ้าวิธีเดิมนำไปสู่ความพ่ายแพ้มาแล้ว 2 ครั้ง แม้ชนะการเลือกตั้ง ก็ยังแพ้ด้วยข้อกล่าวหาที่หลายคนต้องตบเข่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคส้มทั้งร่างแรกและร่างสอง น่าจะรู้ชะตากรรมอยู่บ้างแล้วว่า ถ้าเลือกทางนี้ เจอจุดอวสานแบบนี้ ก็ไม่อาจเลี่ยง แต่จะให้พรรคประชาชนพลิกแผนเปลี่ยนเกมไปหาวีธีการสร้างดีลกับกลุ่มอำนาจ ยอมลดทอนเพดานกฎหมาย หรือเอนเข้าหาชนชั้นนำ แม้กระทั่งอิงแอบทหาร หากเลือกทางนั้น อุดมการณ์ที่สร้างความหวัง จุดประกายความเปลี่ยนแปลงที่สร้างรากฐานขึ้นมาคงแตกสลายเน่าตายโดยไม่ต้องให้ใครเอาน้ำร้อนมาราด
แล้วพรรคประชาชนจะไปอย่างไรต่อ ประชาชนคงต้องใจเย็น ในฐานะผู้มีส่วนร่วม มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะสงครามครั้งใหม่อาจเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง