Humberger Menu

ยูเครนบุกรัสเซีย เพราะอะไร

เรื่อง: ตติกานต์ เดชชพงศ

ช่วงแรกที่รัสเซียนำกองทัพบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 สนับสนุนการประกาศอิสรภาพของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคโดเนตสก์และลูฮันสก์ให้แยกตัวออกจากยูเครน ทางการรัสเซียยืนยันหนักแน่นว่านี่ไม่ใช่การทำสงคราม แต่เป็น ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่ไม่ต้องการถูกปกครองโดยรัฐบาลกลางยูเครน และ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ก็ย้ำว่าการบุกยูเครนคือ ‘การปลดปล่อย’ ประชาชนผู้ถูกกดขี่ และเพื่อกำราบยูเครนที่ต้องการเป็นสมาชิกองค์การนาโต (ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตในอดีต)

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน นอกจากจะไม่ยอมหลบหนีออกนอกประเทศตามที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ เขายังประกาศสู้สุดใจ และสามารถนำทัพซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าค้ำยันกองทัพรัสเซียมาจนถึงปัจจุบันซึ่งกินเวลานาน 2 ปีกว่า (โดยได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกนาโต) 

จนกระทั่งล่าสุด ยูเครนส่งกองทัพบุกรัสเซียเมื่อคืนวันที่ 6 สิงหาคม 2024 โดยพุ่งเป้าไปยังภูมิภาคเคิร์สก์ (Kursk) ทางภาคตะวันตกของรัสเซีย ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1.3 ล้านคน และมีพรมแดนติดกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน 

การโจมตีครั้งนี้ทำให้แทบทั้งโลกประหลาดใจ ส่วนปูตินและหน่วยข่าวกรองรัสเซียก็เสียหน้าพอสมควร เพราะแม้จะมีรายงานความเคลื่อนไหวของกองทัพยูเครนบริเวณแนวชายแดนแถบนี้มาก่อน แต่รัสเซียกลับไม่ได้หาทางป้องกันการรุกรานอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะไม่คาดคิดว่ายูเครนจะบ้าดีเดือดถึงขั้นเปิดแนวรบอีกแห่งนอกจากพื้นที่ทางภาคตะวันออกที่ถูกรัสเซียบุกรุกและยึดครองมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อยูเครนนำทัพบุกเข้ามาในดินแดนเคิร์สก์จริงๆ จึงไม่มีการป้องกันที่เข้มแข็งพอ

สภาพความเสียหายในเคิร์สก์

นักวิเคราะห์หลายรายประเมินตรงกันว่ายูเครนจะไม่นำทัพบุกเข้าไปถึงกรุงมอสโกของรัสเซียแน่นอน เพราะกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของยูเครนไม่อาจต่อกรกับแสนยานุภาพของกองทัพรัสเซียได้ แต่การรุกคืบจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญบริเวณแนวชายแดนรัสเซีย-ยูเครนเป็นไปเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของปูตินซึ่งใช้มาตรการเด็ดขาดในการปกครองประเทศ โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ และการโต้กลับของยูเครนครั้งนี้สะท้อนว่าชีวิตของประชาชนรัสเซียภายใต้รัฐบาลปูตินอาจไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด 

ส่งคืน ‘สงคราม’ เพราะไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้

หลังถูกรัสเซียบุกมากกว่า 2 ปี ผู้นำยูเครนบอกว่า ต้อนำสงครามครั้งนี้กลับไปส่งคืนรัสเซีย

หลังจากส่งทหารกว่า 5,000 นายบุกเข้าไปในดินแดนรัสเซียนาน 2 สัปดาห์ รัฐบาลยูเครนประกาศในวันที่ 19 สิงหาคม 2024 ว่ากองทัพยูเครนสามารถยึดสถานที่สำคัญในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียได้ทั้งหมด 84 แห่ง รวมเป็นระยะทางกว่า 1,150 กิโลเมตรตามแนวชายแดนระหว่างยูเครน-รัสเซีย และยังระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำไปอีก 3 แห่ง ตัดเส้นทางลำเลียงความช่วยเหลือและกำลังพลของรัสเซียไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์

สะพานข้ามแม่น้ำซีมในเคิร์สก์ถูกระเบิด

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนระบุกับสื่อต่างประเทศถึงเหตุผลที่บุกรัสเซียว่าเป็นเพราะ ‘ไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้’ และบอกว่านี่เป็นการส่งสงครามคืนสนองให้กับประธานาธิบดีปูติน ซึ่งเปิดฉากโจมตีก่อนในสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2022 แต่ล่าสุดเซเลนสกีแถลงเป้าหมายในปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า ต้องการให้ภูมิภาคเคิร์สก์เป็นดินแดนกันชนทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนและทางภาคตะวันตกของรัสเซีย พร้อมย้ำว่าการบุกรุกของยูเครนอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะบีบรัสเซียให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองยุติสงครามได้ 

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสถานการณ์นี้มากนัก หลังจากแถลงผ่านสื่อในประเทศว่ายูเครนจะถูกตอบโต้กลับอย่างสาสม และย้ำว่าจะไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆ เกิดขึ้นทั้งนั้น 

วลาดิเมียร์ ปูติน

จากนั้นปูตินก็ออกเดินทางไปเยือนอาเซอร์ไบจานตามกำหนดการปฏิบัติภารกิจระหว่างประเทศ สะท้อนว่าตัวเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรุกคืบของยูเครนมากนัก แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่าการที่ปูตินเงียบไปนานถึง 24 ชั่วโมงเต็มๆ หลังเกิดเหตุยูเครนบุกรุก แสดงให้เห็นว่าปูตินเองก็อาจรับมือกับสถานการณ์นี้ไม่ทันเช่นกัน 

ทั่วโลกมีปฏิกิริยาต่อสมรภูมิรบแห่งใหม่อย่างไร?

การบุกรุกภูมิภาคเคิร์สก์ของกองทัพยูเครนถูกประเทศพันธมิตรรัสเซียประณามชัดเจน โดยเกาหลีเหนือแถลงว่ายูเครนก่อเหตุอันเลวร้าย ซึ่งเป็นการย้ำคำพูดของปูติน และประกาศเพิ่มเติมด้วยว่าเกาหลีเหนือจะยืนเคียงข้างรัสเซียเสมอไป ขณะที่เบลารุสอ้างว่ากองทัพยูเครนเคลื่อนกำลังทหารนับแสนนายตามแนวชายแดนยูเครน-เบลารุสเช่นกัน ถือเป็นภัยคุกคามภูมิภาค แต่ยูเครนปฏิเสธข่าวดังกล่าว 

สว. มาร์ก เคลลี

ส่วน มาร์ก เคลลี สว.อเมริกัน สังกัดพรรครัฐบาลเดโมแครต หนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงแห่งวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์สื่อ NPR ว่าการตอบโต้กลับของยูเครนเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ จะต้องจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่ารัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต จะช่วยยูเครนต่อต้านการรุกรานอันไม่เป็นธรรมจากรัสเซียต่อไป โดยที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนมาตลอด

ขณะที่สำนักข่าว CNBC รายงานบทวิเคราะห์จากสถาบันสงครามศึกษา (The Institute for the Study of War: ISW) ในสหรัฐฯ ซึ่งประเมินว่าปฏิบัติการทางทหารของยูเครนครั้งนี้น่าจะถูกเตรียมการไว้นานแล้ว และมีเป้าหมายเพื่อบีบให้รัสเซียระดมกำลังทหารเพิ่ม อาจส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลหรืออาวุธยุทโธปกรณ์จากสมรภูมิโดเนตสก์-ลูฮันสก์-ดอนบัส ในสงครามรัสเซีย-ยูเครนในภูมิภาคโดเนตสก์-ลูฮันสก์ ซึ่งแต่เดิมรัสเซียเป็นฝ่ายกุมสภาพความได้เปรียบ

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกียังประกาศตั้งแต่แรกว่า การบุกรัสเซียครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายจะยึดครองดินแดนรัสเซียถาวร ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ารัฐบาลยูเครนรู้ดีว่ากำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตนนั้นไม่อาจงัดข้อกับรัสเซียได้ในระยะยาว การรุกรานครั้งนี้ไม่น่าจะกินเวลานานข้ามปี เพราะนี่คือการยกระดับทางทหารแบบเฉพาะหน้าเพื่อสร้างเงื่อนไขต่อรอง ก่อนที่สหรัฐฯ จะจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2024 เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ถ้าหากคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะ และได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ก็มีแนวโน้มสูงมากที่สหรัฐฯ จะสานต่อนโยบายช่วยเหลือยูเครนในการสู้ศึกกับรัสเซีย 

แต่ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและผู้ท้าชิงตำแหน่ง สามารถคว้าชัยชนะได้ รัฐบาลชุดต่อไปของสหรัฐฯ อาจไม่ได้สนับสนุนยูเครนต่อ เพราะทรัมป์เคยมีท่าทีชื่นชมปูติน ต้องการสานความสัมพันธ์กับรัสเซีย และมีเบาะแสบ่งชี้ว่าการเลือกตั้งในปี 2016 ที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี ได้มีการเคลื่อนไหวจากรัสเซียเพื่อแทรกแซงสื่อโซเชียลในสหรัฐฯ และมีผลต่อความคิดเห็นของประชาชนอเมริกันในการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่น้อย โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนโจมตีคู่แข่งทางการเมืองของทรัมป์

ปูตินเยือกเย็นดุจขุนเขา หรือแค่หนีปัญหา?

แม้เซเลนสกีจะประกาศชัดเจนว่ายูเครนไม่คิดยึดครองดินแดนส่วนนี้ของรัสเซียเป็นการถาวร แต่ปฏิบัติการทางทหารนี้ก็ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลปูตินถูกสั่นคลอนเช่นกัน

เพราะนี่คือการรุกรานด้วยอาวุธครั้งใหญ่สุดที่เกิดขึ้นในรัสเซียหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นสมรภูมิที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นดินแดนที่กองทัพแดงอันเกรียงไกรแห่งสหภาพโซเวียตในอดีตยืนหยัดรักษาเอาไว้ได้ ทำให้กองทัพนาซีเยอรมนีต้องล่าถอย นำไปสู่การยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่การที่กองทัพยูเครนบุกเข้ายึดครองดินแดนได้ในเวลาไม่นาน สะท้อนว่าป้อมปราการที่เคยแข็งแกร่งในอดีตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การบุกรุกของยูเครนจึงมีนัยทางยุทธศาสตร์มากกว่าคิดจะยึดครองดินแดนจริงๆ แต่เป็นการสะท้อนว่าชีวิตของประชาชนรัสเซียภายใต้รัฐบาลปูตินไม่ได้ปลอดภัยไร้กังวลเสมอไป นี่จึงเป็นการโจมตีที่จุดแข็งของปูตินโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาปูตินมักกล่าวอ้างประเด็นความมั่นคงและการปกป้องดินแดนอธิปไตยในการบริหารประเทศและสร้างความชอบธรรมให้กับการรุกรานประเทศอื่นๆ ในสมัยที่เขาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามกับจอร์เจียในปี 2008 เพื่อหนุนหลังการแบ่งแยกดินแดนในเซาท์ออสซีเชีย หรือการส่งทหารเข้าไปยังดินแดนไครเมียของยูเครนในปี 2014 จนนำไปสู่การจัดลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครน และล่าสุดก็คือการบุกรุกไปยังภาคตะวันออกของยูเครน จนกลายเป็นสงครามที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

รถกองทัพรัสเซีย

การทำสงครามยูเครนทำให้รัสเซียเกณฑ์ทหารและระดมกำลังพลสำรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ประชาชนที่มีแนวคิดชาตินิยมจะสนับสนุนการทำสงครามยูเครนเพื่อแสดงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ แต่การเพลี่ยงพล้ำให้ยูเครนบุกเข้ามายึดดินแดนรัสเซียได้ถือเป็นความล้มเหลวที่น่าอับอายของกองทัพ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ผู้นำบุรุษเหล็กและป้อมปราการอันแข็งแกร่งของปูตินด้วยเช่นกัน

สำนักข่าว The Washington Post รายงานอ้างอิงการประชุมเรื่องยูเครนซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านสื่อของรัสเซีย บ่งชี้ให้เห็นว่าปูตินมีสีหน้าเคร่งขรึม และสั่งให้นายทหารระดับสูงกับหน่วยงานความมั่นคงจัดการยุติเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่ไม่ได้พูดอะไรที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญหรือคำแนะนำที่เป็นรูปธรรม จากนั้นก็เดินทางไปอาเซอร์ไบจานเหมือนไม่สนใจเรื่องนี้อีก ซึ่งแม้จะดูเหมือนไม่หวั่นไหว แต่อีกทางหนึ่งก็อาจเป็นภาพสะท้อนว่าปูตินต้องการปัดภาระความรับผิดชอบจากผลพวงของสงครามยูเครนให้กับเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชา ทั้งที่ผู้จุดชนวนสงครามตั้งแต่ต้นก็คือตัวปูตินเองที่ต้องการ ‘สั่งสอน’ ยูเครนที่คิดฝักใฝ่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโต

ภาพจากคลิปเหตุการณ์กองทัพรัสเซียควบคุมตัวทหารยูเครน

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ด้วยว่าวิธีบริหารประเทศแบบเผด็จการและอำนาจนิยมทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของปูตินเลี่ยงจะรายงานข้อเท็จจริงที่เป็นเชิงลบ เห็นได้จากพลเอกวาเลอรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการซึ่งรับผิดชอบเรื่องสงครามยูเครน ออกมาแถลงว่า กองทัพรัสเซียสกัดทหารยูเครนไว้ได้ 2,800 นาย และควบคุมสถานการณ์ได้แล้วตั้งแต่วันแรกที่มีการบุกภูมิภาคเคิร์สก์เมื่อ 6 สิงหาคม 2024 แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอออกมาจากหลายฝั่ง บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เกราซิมอฟประกาศผ่านสื่อ 

พลเอกวาเลอรี เกราซิมอฟ 

คลิปเหตุการณ์ในเคิร์สก์มาจากประชาชนรัสเซียที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ และมีอีกหลายคลิปที่ถูกบันทึกและเผยแพร่โดยทหารยูเครน แสดงให้เห็นว่ากองทัพรัสเซียยังไม่สามารถตีโต้หรือยึดคืนพื้นที่จากยูเครนได้ ทำให้บล็อกเกอร์รัสเซียที่มีแนวคิดชาตินิยมประณามว่าเกราซิมอฟโกหก-หลอกลวง ทั้งยังเรียกร้องให้กองทัพรัสเซียรีบหาทาง ‘เอาคืน’ ยูเครนโดยเร็ว ทำให้เกราซิมอฟออกมายอมรับภายหลังว่าสถานการณ์ในเคิร์สก์นั้นเรียกได้ว่า ‘ยากลำบาก’ อยู่เหมือนกัน

นักวิเคราะห์ประเมินว่าถ้าเกราซิมอฟไม่ได้จงใจปกปิดข้อเท็จจริง ก็มีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะถูกนายทหารใต้บังคับบัญชาปิดบังสถานการณ์จริงในที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็บ่งชี้ว่าการบริหารประเทศของปูตินไม่ได้ดำเนินไปโดยมีข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐาน แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและการสร้างภาพชวนเชื่อ และก่อนหน้านี้รัฐบาลปูตินก็ถูกท้าทายมาแล้วด้วยกองกำลังกลุ่มวากเนอร์ (Wagner Group) นำโดยอดีตพันธมิตรปูตินอย่าง เยฟเกนี ปริโกซิน ซึ่งมีเรื่องขัดแย้งกับขั้วอำนาจรัสเซียถึงขั้นยกพลเกือบจะถึงกรุงมอสโก แต่สถานการณ์คลี่คลายเพราะปริโกซินหลบหนีออกนอกประเทศไปก่อน และเสียชีวิตในเหตุเครื่องบินระเบิดในอีก 2 เดือนต่อมา

เกมสงครามยังไม่เปลี่ยน แต่ความรุนแรงอาจบานปลาย

แม้การบุกเคิร์สก์จะชี้ช่องโหว่ว่าในกองทัพรัสเซียก็มีปัญหาเรื่องการบังคับบัญชาและการประเมินข่าวกรอง แต่นักวิเคราะห์หลายรายยังเห็นตรงกันว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงสภาพความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในสงครามยูเครน-รัสเซียมากนัก เพราะอีกไม่นานรัสเซียน่าจะตอบโต้กลับและกองทัพยูเครนจะต้องถอยร่นกลับประเทศตัวเองไป

อย่างไรก็ดี การระดมกำลังพลครั้งใหม่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลรัสเซียมากกว่ายูเครน เพราะมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าทหารเกณฑ์รัสเซียต้องเผชิญกับศึกสงครามซึ่งหน้า สวนทางกับคำมั่นสัญญาที่กองทัพรัสเซียเคยบอกว่าทหารใหม่จะไม่ถูกส่งไปรบ แต่จะเข้ารับการฝึกเพื่อเตรียมตัวเป็นกำลังพลสำรองเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนวัยฉกรรจ์ของรัสเซียจำนวนมากก็ทยอยเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหนีการเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้มีนักเดินทางชาวรัสเซียอยู่เกินกำหนดวีซ่าในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก

นักวิเคราะห์ยังประเมินด้วยว่า การสู้รบจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในยุโรปบางประเทศ เช่น ออสเตรีย ฮังการี และสโลวาเกียที่ไม่ระงับการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียแม้สหภาพยุโรป (EU) จะมีมติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียไปแล้วจากการก่อสงครามยูเครน 

ในทางกลับกัน รัสเซียไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามหรือมาตรการคว่ำบาตรจากต่างประเทศมากนัก เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาขยายตัวตามเป้า 3.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากการทุ่มงบประมาณในการจัดสรรกำลังพลและจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่นเดียวกับการระดมกำลังทหารเกณฑ์ก็ช่วยลดสถิติประชากรว่างงานลงไปได้ ซึ่งก็ตรงกับสถานการณ์ของหลายประเทศในอดีตที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 และพบว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในภาวะสงคราม 

และก็ใช่ว่ายูเครนจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ เพราะสุดท้ายแล้วการเล่นกับไฟด้วยการเปิดศึกบุกรัสเซียอาจทำให้ไฟลุกลามบานปลายได้เช่นกัน เนื่องจากผลสำรวจความเห็นประชาชนรัสเซียในเดือนมิถุนายน 2024 ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ The Conversation บ่งชี้ว่า คนรัสเซียเห็นด้วยกับการเจรจาเงื่อนไขยุติสงครามยูเครนเพิ่มขึ้นเป็น 58 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 34 เปอร์เซ็นต์ในช่วงก่อนหน้า แต่การบุกเคิร์สก์ของยูเครนอาจทำให้ชาวรัสเซียรู้สึกไม่พอใจและหันมาสนับสนุนสงครามเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อแผนริเริ่มเจรจายุติศึก

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และ โจ ไบเดน

ท้ายที่สุดแล้ว ยูเครนจึงเป็นฝ่ายที่ต้องลุ้นมากสุดในการวางเดิมพันยกระดับปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ เพราะนี่คือการเปิดสมรภูมิการต่อสู้แห่งใหม่นอกเหนือจากดินแดนทางตะวันออกที่หนักหน่วงอยู่แล้ว รวมทั้งไม่สามารถแน่ใจได้ว่าในอนาคตอันใกล้ กองทัพยูเครนจะยังได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาลขั้วใหม่ ความช่วยเหลือต่างๆ จากสหรัฐฯ ก็อาจชะงักงันหรือหายไปภายในชั่วพริบตา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกนาโตเพียงลำพังคงจะไม่พอให้ยูเครนยืนระยะสู้กับรัสเซียต่อไปได้อีกนานสักเท่าไร

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ