_________________________
เรื่องโดย: ทัศนา พุทธประสาท, ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย, ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
ภาพถ่ายโดย : จิตติมา หลักบุญ
หากว่าวันหนึ่งเราพบว่า โลกทั้งใบเหลือคนเพียงแค่ 500 คนเท่านั้นที่ฟังถ้อยคำของเราเข้าใจ เราจะรู้สึกยังไง?
ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่น้อยกว่านักเรียนในโรงเรียนมัธยมบางที่ น้อยกว่าจำนวนผู้อยู่อาศัยในคอนโดฯ หลายแห่ง และยังไม่สามารถเติมฮอลล์คอนเสิร์ตส่วนมากให้เต็มได้ด้วยซ้ำ แล้วเราจะรู้สึกยังไงเมื่ออยู่มาวันหนึ่งไม่สามารถเล่าถึงสิ่งที่เราเจอ หรือเพ้อถึงสิ่งที่เราฝันได้ด้วยถ้อยคำที่เรารู้จักให้ใครฟังได้เลย
สถานการณ์นี้คงไม่ใช่สิ่งที่เราจินตนาการถึงได้ง่ายๆ หากภาษาของเราคือภาษาไทยกลาง แต่สำหรับหลายๆ คน พวกเขาไม่ต้องจินตนาการด้วยซ้ำ เพราะมันคือเรื่องจริงที่พวกเขากำลังประสบพบเจอ
หนึ่งในผู้ประสบภัยที่ว่าคือ ‘คนชอง’ ผู้มีพื้นเพมาตั้งแต่ก่อนการแบ่งแยกรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสันนิษฐานว่าแต่เดิมคนพื้นเมืองจังหวัดจันทบุรีและระยองคือคนชอง เนื่องจากชื่อเดิมของจันทบุรีคือ ‘จันกะบูย’ ซึ่งเป็นภาษาชอง หรือ ราย็อง ที่แปลได้ว่าเขตแดน
คนชองมีภาษาเป็นของตัวเองคือ ‘ภาษาชอง’ ภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก (ภาษาข้างเคียงกันกับมอญและเขมร) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ภาษาในประเทศไทยที่เสี่ยงจะสาบสูญอย่างหนัก ตามการรายงานของยูเนสโก ตัวเลขที่ว่ามานี้ไม่ได้หยิบขึ้นมาลอยๆ มีรายงานว่า แม้จะมีประชากรชองอยู่ราวๆ 6,000-10,000 คนในไทย แต่ในจำนวนนั้นเหลือเพียงประมาณ 500 คนที่พูดภาษานี้ได้ (นั่นคือข้อมูลล่าสุดเมื่อ 9 ปีก่อน ปัจจุบันตัวเลขอาจน้อยลงกว่าเดิม)
ในการออกตามหาภาษาที่กำลังเลือนรางไปในประเทศไทย เราแกะรอยการมีอยู่ของคนชองจากช่องทางมากมาย ข้อมูลวิชาการทั้งจากไทยและจากต่างชาติ สกู๊ปข่าวและสารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมคนชอง และความพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมและภาษาชองโดยนักวิจัยท้องถิ่น ทั้งในมุมของภูมิปัญญา ประเพณี และภาษา รอยขนมปังของข้อมูลนำเราเข้ามายังอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
แหล่งข้อมูลเล่าว่า เรามักพบคนชองได้ในภาคตะวันออก ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดและอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนที่สุดในอำเภอเขาคิชฌกูฏ แต่นั่นไม่ใช่เพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้เราตัดสินใจมาที่นี่ เพราะอีกเหตุผลสำคัญคือเพราะมีหนึ่งชื่อที่ผลุบโผล่ออกมาเสมอตลอดการศึกษาข้อมูล ไม่ว่าเราจะย้อนรอยการต่อสู้เพื่อรักษาภาษาชองกลับไปกี่ปีก็ตาม
. . . . .
. . .
.
“พอถึงโรงเรียนแล้วถามทางไปบ้าน 'กำนันเฉิน' จากคนแถวนั้นได้เลยค่ะ”
เสียงคุณครูโรงเรียนคลองพลูวิทยา อำเภอเขาคิชฌกูฏ ดังจากโทรศัพท์อย่างเรียบเฉย มันเป็นวิธีการบอกทางที่คนเมืองอย่างเราไม่ชินนัก ใครเล่าจะเป็นที่รู้จักถึงขนาดว่าถามทางไปบ้านจากใครๆ ก็รู้ แถมยังมียศว่า ‘กำนัน’ ติดอยู่หน้าชื่อทั้งๆ ที่รับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2507 จนปัจจุบันไม่ได้รับหน้าที่แล้วก็ตาม เราจึงรู้จักเขาตั้งแต่ยังไม่ได้พบหน้าผ่านความเคารพนับถือที่คนในชุมชนมีให้แก่เขา
ทีมงานดำเนินการตามอย่างเชื่อฟัง “ขับตรงเข้าไป จะมีบ้านชั้นเดียว ทางเข้ามีต้นทุเรียนกับต้นรัก” เขาว่ากันอย่างนั้น ที่หมายเป็นไปตามคำอธิบาย เราเลี้ยวรถเข้าจอดบนพื้นหินกรวด ไม่นานนักชายวัย 87 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์ไล่หลังเรามา เขาต้อนรับเราที่หน้าบ้านด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
แต่ความธรรมดาของเขาเป็นดั่งฉากหน้าที่ทำเราเกือบลืมว่าคุยกับใครอยู่ ชายคนนี้คือผู้นำในการรักษาภาษาและวัฒนธรรมชองมาเกือบทั้งชีวิต แล้วยังเป็นทั้งผู้ที่พยายามพัฒนาตัวอักษรให้แก่ภาษาที่สืบทอดแบบปากต่อปากมาโดยตลอด พร้อมทั้งเป็นปราชญ์ชาวบ้านผู้นำภาษาชองเข้าไปสอนในโรงเรียนท้องถิ่น และในมหาวิทยาลัยด้วย
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นเสียก่อน...
. . .
เมื่อปี 2480 เด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นมาอย่าง ‘ฉุกเฉิน’ จนหมอตำแยตั้งชื่อเด็กชายคนนั้นว่า ‘เฉิน’
สังคมที่เด็กชายเฉินอาศัยอยู่นี้ หน้าตาแตกต่างจากอำเภอเขาคิชฌกูฏที่เรารู้จักในปัจจุบัน “คนชองมีภาษาของตัวเอง ประเพณี วรรณกรรม กีฬา คนชองมีหมด” ลุงเฉินพูด
ในสมัยนั้นคนชองพูดกันด้วยภาษาชอง และมีประเพณีพิธีกรรมมากมาย ตามรูปแบบของชนเผ่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเพณีมักเกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษ ตัวอย่างเช่น ประเพณี ‘เล่นผีโรง’ ที่เป็นการเชิญบรรพบุรุษมาเข้าทรงในยามกลางวัน เพื่อถามไถ่ความเป็นไปของคนรุ่นก่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว การสื่อสารระหว่างรุ่น และการรวบรวมคนทั้งเด็กแก่มาอยู่ในพิธีกรรมเดียว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสายใยระหว่างรุ่นของคนชอง
ส่วนสำคัญในพิธีการต่างๆ ของคนชองคือ ‘ศาล’ บ้านไม้หลังน้อยที่มีสองชั้น ศาลถูกใช้ในทุกพิธี เช่น ศาลป่าที่ทำขึ้นเมื่อต้องเข้าป่าไปหาของ เป็นการขอให้เจ้าที่ปกป้องจากศัตรูและภัยอันตราย หรือศาลนาสำหรับการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิเมื่อเข้าไปทำนาทำไร่ และขอพรให้ผลผลิตเติบโตได้ดี
ลุงเฉินเล่าถึงชีวิตของคนชองให้เราฟังด้วยความตื่นเต้น ตาหยีลงเล็กน้อยเมื่อแกย้อนคิดถึงอดีต ทว่า ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาที่ ‘เด็กชายเฉิน’ เข้าเรียน
“จอมพลคนนั้นอะ ที่เขาบังคับไม่ให้พูดภาษาชอง ชื่ออะไรนะ”
“…ป. พิบูลสงคราม!” อดีตกำนันคนชองพยายามขุดความทรงจำตัวเอง
“เมื่อก่อนครูเขาบังคับไม่ให้พูดชอง ครูตี แต่ว่าเป็นคนชองกันทั้งโรงเรียน” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้มว่าพอได้ออกจากห้องเรียนมาเล่นกัน ต่างคนก็พูดภาษาชองกันหมด
“ผมเบื่อ ผมไม่อยากพูดไทย มันพูดยาก” รอยยิ้มเมื่อครู่เปื้อนด้วยน้ำเสียงรำคาญเล็กน้อย
เมื่อเวลาดำเนินผ่านไป อิทธิพลของโลกภายนอกก็เข้าถึงคนชอง ลุงเฉินวาดภาพให้เราเห็นว่าคนชองนับถือหลากหลายความเชื่อ เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ของการเป็นกลุ่มคนที่อาศัยในป่า บวกกับการค้าขายกับมลายู และการเข้ามาของศาสนาพุทธ พวกเขามีพิธีกรรมที่เชื่อมโยงทั้งกับพราหมณ์ พุทธ และผี
. . . . .
“นี่ ศาลนา บางทีก็มีสี่เสา บางทีก็มีหกเสา” ลุงเฉินพาเราเดินเข้าพงรกๆ ห่างจากถนนไม่ไกลนัก แล้วปัดกวาดใบไม้ที่ร่วงหล่นใส่ศาลของเขาให้เราดู หน้าตาศาลมีหลังคาสังกะสีผุพัง แบ่งชั้นเป็น 2 ชั้นตามภาพร่างหยาบๆ ที่เขาร่างให้เราดู
ศาลน้อยๆ หลบมุมอยู่หน้าพงไม้ รอเขากลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง แต่นี่เป็นเพียงศาลที่เขาทำเองส่วนตัว ศาลแบบอื่นที่ใช้รองรับพิธีกรรมขนาดใหญ่ของคนชองได้หายไปเสียแล้ว “ส่วนศาลหมู่บ้านมันหมดแล้ว พังหมด ไม่มีคนมาทำต่อ” พิธีกรรมต่างๆ ที่เคยพาผู้คนมาอยู่ร่วมกันหายไปจากชุมชนไปพร้อมกับมันด้วย
“ความเชื่อพวกนี้มันตายหมดแล้ว มันหายไปหมด” ลุงเฉินพูด
ความเชื่อไม่ใช่สิ่งเดียวที่ได้รับผลกระทบจากโลกภายนอก เขาเล่าว่า เมื่อเวลาผ่านไป คนชองจำนวนหนึ่งเดินเข้าหาพุทธศาสนา กลายเป็นพระ หรือบางคนก็เดินทางไปหางานในเมืองมากขึ้น ทำให้ใช้ภาษาไทยมากขึ้น และใช้ภาษาชองน้อยลงไปด้วย
. . .
กาลเวลาดำเนินไป และที่เดินมาพร้อมเวลาคือ ‘ความศิวิไลซ์’ อันกลืนกินทุกสิ่งไปด้วย...
แต่ถึงอย่างนั้น เฉิน ผันผาย ก็ไม่ได้นอนรอให้เวลาพัดรากเหง้าของพวกเขาไปโดยไม่ได้ต่อสู้ หลังจากได้รับตำแหน่งกำนัน ลุงเฉินและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ร่วมกันจัดงานฟื้นฟูวัฒนธรรมคนชองขึ้นเป็นงานประจำปี ในงานมีทั้งการร้องระบำเพลงพื้นบ้านของชอง ‘ยันแย่’ ไปจนถึงการประกวดนางงาม และบูธให้ความรู้ภาษาชอง
แต่ว่างานประจำปีไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ เฉิน ผันผาย ทำ เพราะหลังจากนั้นเขาได้รับโอกาสพาภาษานี้เข้าสู่การศึกษาด้วย
“ภาษาชองมันจะสาบสูญหมดเลย ถึงคนรุ่นผมจะพูดกันเป็นธรรมดา แต่มันไม่มีเอกลักษณ์ ไม่มีอักษรตัวเขียน” ลุงเฉินพูดเมื่อเราถามเกี่ยวกับเหตุผลที่เขาลงแรงอนุรักษ์ภาษานี้
หลังจากจัดงานฟื้นฟูวัฒนธรรมชองจนเป็นที่รู้จัก ลุงเฉินใช้เวลาระหว่างปี 2542 -2548 ในการเข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาชอง งานที่เขาต้องละทิ้งบ้านเพื่อไปอาศัยอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา
หลังสอนเสร็จ เฉิน ผันผาย ใช้เวลากลางค่ำคืนที่ควรจะนอนพักผ่อน ไปทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดทำ นั่นคือการคิดค้นตัวอักษรให้แก่ภาษาที่ไม่เคยมีตัวอักษรใช้
เขาหยิบปากกากับสมุดที่เราเตรียมมาให้เพื่อลงมือขีดเขียนให้ดูว่าภาษาของเขาหน้าตาเป็นยังไง ชายวัย 87 ปี บรรจงเขียนตัวอักษรที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเองคนเดียว เสียงเอี๊ยดอ๊าดของปากกาไล่เรียงหมึกสีดำให้ขึ้นรูปตัวอักษรแปลกตา แต่ก็ดูคล้ายคลึงกับภาษาไทยที่เราใช้ทุกวันนี้อยู่บ้าง เพราะอักษรภาษาชองมีรากฐานมาจากตัวอักษรไทยที่ตัดทอนอักษรพ้องเสียงออก
. . .
‘โรงเรียน’ ไม่ใช่เพียงที่ที่มีไว้เพื่อการศึกษาเชิงวิชาการเท่านั้น แต่มันคือที่ที่ปลูกฝังคุณค่า วัฒนธรรม และมุมมองโลกของเราด้วย
หากโรงเรียนคริสต์มีการนำศาสนาเข้ามาผสมอยู่ในวิธีคิดของครูและวิธีสอนนักเรียน ทำไมโรงเรียนในท้องที่ที่มีประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองจะทำแบบเดียวกันไม่ได้ – อีกครั้ง เฉิน ผันผาย เข้าไปมีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากมายในจังหวัดจันทบุรี ในการช่วยให้วัฒนธรรมชองเข้าถึงนักเรียนมากขึ้น
‘ลุงครู’ คืออีกชื่อเล่นของคนชื่อเฉิน เมื่อเขาได้ถูกดึงตัวไปสอนนักเรียนมัธยมที่คิชฌกูฏวิทยาเมื่อปี 2553 จากการเล่าของเขา มันเป็นห้องเรียนที่มีบรรยากาศเป็นกันเอง ใครเรียนดีได้เป็นพี่เลี้ยง ใครมาเรียน ลุงครูก็จะเลี้ยงข้าวเลี้ยงขนมด้วยเงินค่าจ้างสอนของเขาเอง ชัดเจนว่าสำหรับลุงเฉินเขาทำทั้งหมดไปเพื่อรักษาความเป็นชอง การเรียนการสอนเกินเลยจากภาษา แต่ลามไปถึงประวัติศาสตร์และประเพณีของชองด้วย
11 ปีถัดมาจากเรื่องเล่า เราได้ไปยืนเยี่ยมชมอยู่ในบรรยากาศห้องเรียนคล้ายกับที่ลุงครูได้กล่าวถึง ณ ศูนย์วัฒนธรรมชอง โรงเรียนคลองพลูวิทยา โรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญในการสอนภาษาชองให้นักเรียน บรรยากาศในห้องเรียนวุ่นวายเล็กน้อยตามประสาห้องเรียนโรงเรียนมัธยม เมื่อลุงเฉินเขียนคำต่างๆ เช่นคำว่า ‘สวย’ หรือ ‘ไข่’ บนกระดาน ก็มีทั้งเสียงตอบรับเจื้อยแจ้ว และมีทั้งสายตามึนงงที่ไม่คุ้นชินอักขระแปลกหน้าอยู่บ้าง
“จังหวัดจันทบุรีจะมีเรื่องชาติพันธุ์ และบังเอิญว่าที่ตำบลคลองพลูของเราจะมีชาวชองอยู่ จึงมีแนวคิดว่าเราน่าจะอนุรักษ์และปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่นี้ ให้เขารู้จักกับรากเหง้าและประวัติความเป็นมาของชาวชอง” ศิรดา พรมเทพ ผู้อำนวยการโรงเรียนคลองพลูวิทยา กล่าวกับเรา เป็นแนวคิดที่ชวนคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์และพื้นที่
ทั้งนักเรียนและครูของโรงเรียนคลองพลูวิทยาไม่ได้มีเชื้อสายชองกันทุกคน บางคนไม่ได้มาจากจันทบุรีด้วยซ้ำ แต่การเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์และผู้คนที่มาก่อนเรา อาจเรียกร้องให้เราต้องมองเห็นวัฒนธรรมที่มาก่อน แม้จะไม่ใช่รากเหง้าของเราเอง
ศูนย์วัฒนธรรมชองแห่งนี้รายล้อมไปด้วยสื่อการเรียนรู้มากมาย ทั้งตัวอักษรชอง คำชอง สถาปัตยกรรมชอง สูตรอาหารชอง แถมหลังห้องก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ของชาวชองที่ลุงเฉินนำมาวางทิ้งเอาไว้ให้ มีตั้งแต่เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา โมเดลบ้านสไตล์ชอง ฯลฯ เป็นสัญญาณว่าโรงเรียนกำลังให้ความสนใจมากกว่าแง่มุมของภาษา แต่ต้องการสร้างความเข้าใจให้ไปถึงระดับวัฒนธรรมประเพณีด้วย
“เราบรรจุเรื่องวัฒนธรรมชองเข้าไปในหลักสูตรสถานศึกษาของเราด้วย และเมื่อเราปรับหลักสูตรปี 2567 โรงเรียนจะจัดรายวิชาเพิ่มเติมให้กับนักเรียนในชั้น ม.1 และ ม.4 เรื่องท้องถิ่นเมืองจันทร์ จะเน้นเนื้อหาเรื่องวัฒนธรรมชอง ส่วนภาษาชองจะจัดสอนให้นักเรียนระดับชั้น ม.6” ผอ.ว่าอย่างนั้น
การวางแผนเหล่านี้เป็นทิศทางและความตั้งใจอันดีที่จะนำความเป็นชองเข้าไปสู่ชีวิตประจำวันของนักเรียน แต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าวิธีเหล่านี้จะรักษามันไว้ได้มากแค่ไหน
“หนูอยากเรียนนะ มันเป็นภาษาที่เสียงเพราะดี” ใหม่ (นามสมมติ) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 พูดกับเรา ใหม่อาศัยอยู่ใกล้หมู่บ้านซึ่งมีคนแก่พูดภาษาชองอยู่เยอะ และคิดว่าคงเป็นการดีถ้าหากเธอสามารถฟังพวกเขาได้เข้าใจมากขึ้น
กานต์ (นามสมมติ) นักเรียนที่นั่งไม่ห่างไปมากนัก บอกกับเราว่า คุณตาของเขาบางครั้งก็ใช้ภาษาชอง ซึ่งเป็นภาษาที่ตัวกานต์ฟังไม่ออก แต่ในขณะที่อยากฟังออกอยู่บ้าง กานต์ก็ไม่ได้อยากเรียนภาษานี้
“คำว่า ‘รัก’ ล่ะลุงเฉิน คำว่ารักเขียนยังไง?”
เราถามชายผู้ยืนสอนอยู่หน้าห้องเรียน ลุงครูพูดออกเสียง ‘รั่ก’ ออกมาก่อนจะเขียนมันลงบนกระดาน
ดูเหมือนคำว่ารักของสองภาษาไม่แตกต่างกันเท่าไร
กระทั่งเมื่อลุงครูเขียนคำว่า ‘รัก’ ลงไปแล้ว เขากลับขยับมือไปมาเพื่อเขียนต่อจนกลายเป็นคำว่า ‘รักษาภาษาชอง’ หากนี่ไม่ยืนยันความมุ่งมั่นและความรักในภาษาชอง เราก็ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรอีก
. . . . .
หลังจบคาบเรียน ท้องฟ้าครื้มฝนรอเราอยู่ข้างนอก
เรื่องมหัศจรรย์คือสายตาของเรามองเห็นบ้านทรงชองคล้ายแบบที่เราเห็นในโมเดล ณ ศูนย์วัฒนธรรมชอง บ้านที่เคยหลุบหลบแทรกตัวอยู่ไม่ไกลจากตึกรามบ้านช่องคอนกรีต
วัฒนธรรมชองยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เราต้องฝึกสายตาให้เห็นในสิ่งที่เคยถูกมองข้ามก็เท่านั้น
. . .
“ผมไม่เคยเรียนเลย เมื่อก่อนผมอยู่กับย่า ย่าจะไม่พูดภาษาไทยเลย ในอดีตเราไม่รู้เรื่องว่าย่าพูดอะไรก็โดนของเขวี้ยงบ้าง เราก็ซึมซับและหลังๆ ก็พูดได้”
คุณหนิง - คำรณ วังศรี เลขาฯ นายกเทศมนตรีตำบลตะเคียนทอง ผู้เคยร่วมทำงานด้านภาษาชองกับลุงเฉินเล่า เรื่องเล่าของเขาทำให้เรานึกถึงประสบการณ์การเรียนภาษาไทยของตัวเอง เราไม่ได้พูดไทยได้จากการเรียนในโรงเรียนเท่านั้น แต่โดยมากเราเรียนผ่านการใช้ภาษากับครอบครัว กับเพื่อน หรือกับการต้องรับสื่อภาษาไทยมากมาย
การคุยกับคุณหนิงไม่ได้อยู่ในแผนของเราตั้งแต่ต้น เขาเป็นคนที่เราพุ่งไปหาหลังจากได้พูดคุยกับคุณครูในโรงเรียนคลองพลูวิทยา ว่ายังมีคนที่มีบทบาทในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภาษาชองอยู่อีกไหม
ภายใต้บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน เราคุยกันที่ลานหน้าบ้านของเขา แม้จะไม่ได้แตกต่างจากบ้านใดๆ มากมายนัก แต่เราพบเห็นภาพพิมพ์ ไวนิล ฟิวเจอร์บอร์ดที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชองอยู่เต็มไปหมด
บทสนทนาแกล้มสายฝนของเราและคุณหนิงว่าด้วยความจำเป็นที่ต้องนำภาษาและวัฒนธรรมชองเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน
“ถ้าพื้นฐานครอบครัวไม่มีการพูดคุยกันก็ยากที่จะอนุรักษ์ หากเราต้องการให้ภาษายังคงอยู่ยาวๆ ต้องมีการพูดคุยกันในครอบครัว เพราะภาษามาจากครอบครัวเป็นหลัก การส่งเสริมหรือการอนุรักษ์ทั่วไปก็ผลักดันไม่ขึ้นและไม่ยั่งยืน” คุณหนิงพูด โดยตัวเขาเองก็มีส่วนในงานทางวัฒนธรรมชองหรืองานเกี่ยวกับชนเผ่าในประเทศไทยมายาวนาน
“เจอกันก็คุยกันเรื่อย คนในหมู่บ้านยังมีพูดกัน แต่เด็กๆ มันไม่พูดแล้ว ใช้ภาษาไทยกันหมด” ลุงเฉินเล่าคล้ายๆ กันเมื่อพูดถึงประเด็นการใช้ภาษาในบ้าน
ประเด็นการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันยังมีอีกมิติที่น่าสนใจ นั่นคือมันเป็นหนึ่งวิธีในการค้นคว้าและรักษาไว้ซึ่งคำศัพท์เก่าโบราณ เพราะภาษาชองเคยเป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษรมาก่อน บางครั้งแหล่งความรู้เดียวคือการเรียนรู้แบบลักจำจากคนเฒ่าคนแก่
“ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ภาษาชองเป็นคำทับศัพท์แทนภาษาไทย…แต่จริงๆ ก็มีคำโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง คือชาวบ้านต้องจับวงคุยภาษาชองกันถึงจะมีคำเหล่านั้นออกมาบ้าง”
เช่นเดียวกับภาษา หากวัฒนธรรมและประเพณีจะอยู่ได้นั้นอาจต้องทำให้มันแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน คนชองไม่ใช่กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมหวือหวานัก โดยมากวัตถุทางวัฒนธรรมของคนชองจะมาในรูปแบบของเครื่องใช้ ยาสมุนไพร หรือการรักษาโรคมากกว่า
“ของเราเหลือแต่ภูมิปัญญา เรื่องของการรักษาโรคตอนนี้ก็ยังอยู่ และพิธีกรรมบางอย่างก็หลงเหลืออยู่ แต่บางอย่างก็เริ่มหายไปแล้ว ปัจจุบันนี้การรักษาโรค เรามีหมอพื้นบ้านชองอยู่ 28 คน อย่างเช่น การรักษาอาการปวดฟัน เรารักษาที่หัวแม่มือ เราไม่ได้รักษาที่ฟัน หรือบางคนป่วยมีอาการไข้ หมอจะมีกลวิธีในการรักษา จะมีหมอพ่น หมอคาถาอาคม และหมอสมุนไพร”
“ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ก็อำนวยความสะดวกสบายให้เราเยอะมาก จนเราลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราไป อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์จักสานของเราจะมีเสื่อ คลุ้ม – คล้า ตอนนี้ก็หายไปหมดแล้ว เพราะมีสิ่งที่ทดแทนและไม่ใช่ว่าของเราแพง แต่พอเป็นแฮนด์เมดเมื่อไรเขาจะเอาไปสะสม ไม่ได้เอาไปใช้ จึงเหมือนขาดการสืบทอด” คุณหนิงเล่า
ภาษาและของใช้ชองแทบจะถูกผลักออกจากบ้าน จากชีวิตประจำวัน ให้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์แทน แต่การผลักออกจากบ้านที่มีอิทธิพลมากอีกอย่าง คือการที่คนชองและคนชนพื้นเมืองจำนวนมากถูกวาดภาพทับจากวัฒนธรรม ‘หลัก’ ให้กลายเป็นอื่นอยู่เสมอ
ความเป็นคนอาศัยในป่า นับถือผีบรรพบุรุษ มีความรู้และภูมิปัญญาด้านอาคม เรื่องเล่าเกี่ยวกับคนชองนั้นมีให้เราเห็นมากมาย เช่น ความเชื่อว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนป่าใช้ไสยศาสตร์ที่น่าเกรงขามจนคนนอกเผ่าต้องหาอุปกรณ์ป้องกัน นั่นเป็นที่มาของไม้ชื่อว่า ‘ชองระอา’ ที่เชื่อว่าหากพบไม้ชนิดนี้จะสามารถป้องกันไสยศาสตร์จากคนชองได้
“ในอดีตจะมีคนว่าเราเป็นเขมรดง เราพูดภาษาแปลกไปจากเขาก็จะโดนเหยียด โดนมองว่าเป็นคนป่าบ้าง แต่จริงๆ เรากำลังฟื้นฟูและส่งเสริมการพูดภาษาชองในชุมชนเพื่อลดความอาย…อีกอย่างที่ทำให้ภาษาของเราเสื่อมถอย เกิดจากรัฐนิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ห้ามพูดภาษาอื่นนอกจากภาษาไทย และมีการขู่ว่าถ้าไม่พูดภาษาไทยจะมีฆ่า ทรมานหรือจับ ทำให้กลุ่มชาวชองหายไป ไม่กล้าพูดภาษาตัวเอง” คำยืนยันจากคุณหนิงให้ภาพตรงกับเรื่องเล่าวัยเด็กของลุงเฉิน
มากไปกว่านั้น การถูกทำให้เป็นอื่นอาจเกิดขึ้นอย่างแนบเนียนและจากระบบระบอบทางวิชาการด้วย เนื่องจากระบบการทำงานเหล่านี้ให้คุณค่ากับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ มากกว่าเจ้าของภาษา คุณหนิงยกตัวอย่างว่าหลายๆ ครั้งนักวิจัยก็พยายามเข้ามาทำการศึกษา แต่ผู้ที่ตรวจงานเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีองค์ความรู้ในวิถีชีวิตคนท้องที่ ทำให้ภาษาของแต่ละที่ผิดเพี้ยนไปได้ “นั่นคือข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของนักวิชาการ”
“มีงานที่เขียนว่าคนชอง มีดวงตากลม ตาโปน ผมหยิก ตัวดำ แต่จริงๆ แล้ว คนชองจะมีผมหยักศก ผิวสองสีไม่ถึงกับผิวดำ เขามองเราเป็นคนป่า แต่จริงๆ คนชองจะมีรูปร่างคล้ายคนกัมพูชา” ข้อมูลที่ผิดพลาดดังกล่าวเป็นข้อมูลเดียวกันกับที่ทีมงานพบเจอระหว่างทำการบ้านก่อนก้าวเท้าเข้าจังหวัดจันทบุรีเช่นกัน
วิธีการมองเหล่านี้เป็นวิธีที่เราคุ้นเคย วิธีที่ครูลูกเสือบอกให้เราแต่งตัวเป็นชนเผ่าก่อนการแสดงรอบกองไฟ วิธีการที่หลายคนจดจำภาพ ‘เงาะป่า’ หรือรูปซาไกผิวดำสนิท ปากหนาสีแดงเถือกไปโดยไม่รู้ตัว เราอาจพบพานมุมมองที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ และทำให้ ‘คน’ กลายเป็น ‘คนอื่น’ กันมาแล้ว
“ผลกระทบไม่มีหรอก เราก็ต้องไปตามการเปลี่ยนแปลง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง แต่เราก็อยู่ของเราไปตามปกติ เหมือนกับบางกลุ่มที่หายไปเลย อย่างที่อำเภอมะขาม เมื่อก่อนมีคนชองเยอะ แต่ปัจจุบันเริ่มหายไป เขาก็ยังรักษาวัฒนธรรมบางอย่างได้” ครูหนิงพูดด้วยน้ำเสียงเรียบเฉยเมื่อเราถามถึงผลกระทบหากภาษาชองหายไป
_________________________
ในโลกปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงดั่งคลื่นที่หยุดได้ลำบาก แต่ เฉิน ผันผาย และใครอีกหลายคนที่แบกความพยายามในการรักษาภาษาชองไม่ได้ดูย่อท้อ
ตลอดการเดินทางของ เฉิน ผันผาย เขาและผู้ที่ยื่นมือเข้าช่วยต่างทิ้งรอยเท้ามากมายไว้ให้ผู้คนเดินตาม แม้ภารกิจชั่วชีวิตของลุงเฉินจะพอทำให้ภาษาชองอยู่ในการรับรู้ของผู้คน
แต่บางที หากมีการสนับสนุนที่มากพอและเข้าใจพอ ภาษาและวัฒนธรรมชองอาจไม่สูญหายไปไหน และไม่ต้องกลายเป็นอดีต