สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซาและดินแดนปาเลสไตน์อื่นๆ ย่างเข้าสู่วันที่ 333 เมื่อ 3 กันยายน 2024 นับจากกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อ 7 ตุลาคม 2023 ความเสียหายต่อชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะเห็นทางคลี่คลาย
นักวิเคราะห์ในสื่อตะวันตกประเมินว่าสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสกำลังลุกลามบานปลายเป็น ‘วิกฤติตะวันออกกลาง’ ช่วงต้นเดือนกันยายน 2024 หลังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนประกาศยกระดับการโจมตีอิสราเอล เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพกับกลุ่มฮามาสแห่งดินแดนปาเลสไตน์ และเพื่อตอบโต้อิสราเอลที่สังหารผู้นำทางทหารระดับสูงของกลุ่มเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
การเคลื่อนไหวของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ทำให้กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่เป็นแนวร่วมเชิงอุดมการณ์ยกระดับการก่อเหตุด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่พุ่งเป้าโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง รวมถึงกลุ่มติดอาวุธแยกย่อยที่สังหารเจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งถูกส่งไปประจำการในจอร์แดน จึงมีแนวโน้มที่การก่อเหตุรุนแรงเหล่านี้จะพุ่งเป้าไปยังพลเรือนกลุ่มอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่ร่วมมือกับชาติตะวันตก
ด้วยเหตุนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสจึงมีจำนวนหลายหมื่นคน แต่ผู้สูญเสียมากสุดอยู่ในฉนวนกาซาและดินแดนอื่นๆ ของปาเลสไตน์ รวมแล้วกว่า 40,602 คน รองลงมาก็คือฝั่งอิสราเอลซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 1,478 คน ถัดมาคือเลบานอนที่มีผู้เสียชีวิตราว 527 คนจากการยิงจรวดโจมตีของฝั่งอิสราเอลช่วงเดือนที่ผ่านมา
ขณะที่สื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากการรายงานสถานการณ์ในสงครามกาซามีจำนวน 116 ราย เป็นชาวปาเลสไตน์ อิสราเอล และเลบานอน โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) รวมถึงรายงานของสื่ออิสราเอลที่เผยแพร่ปลายเดือนสิงหาคม 2024
ผู้เกี่ยวข้องกับสงครามและความขัดแย้งครั้งนี้จึงไม่ได้มีแค่อิสราเอล-ฮามาส แต่นักวิเคราะห์หลายรายย้ำชัดว่านี่คือสงครามตัวแทน (Proxy War) ที่มีเงื้อมเงาของประเทศมหาอำนาจอยู่เบื้องหลัง
การแบ่งฝ่ายคร่าวๆ คือ ฝั่งอิสราเอล ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และประเทศสมาชิก EU และฝั่งฮามาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ประเทศอิสลามทรงอิทธิพลที่ทดลองโครงการอาวุธนิวเคลียร์มานานนับสิบปี ทั้งยังมีตัวแปรอย่างกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่ต้องการใช้จังหวะนี้ตอบโต้ศัตรูทางอุดมการณ์ของตัวเอง โดยมีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนขึ้นแท่นกองกำลังปฏิปักษ์อิสราเอลที่แข็งแกร่งที่สุด
กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (IDF) พบร่างไร้ชีวิตของตัวประกันชาวอิสราเอล 6 รายซึ่งถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไปในปฏิบัติการ 7 ตุลาคม โดยตัวประกันที่เสียชีวิตถูกทิ้งไว้ในอุโมงค์ในเมืองราฟาห์ซึ่งอยู่ในฝั่งฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2024 กลายเป็นชนวนประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงเทลอาวีฟ
สื่ออิสราเอล The Times of Israel และ The Jerusalem Post รายงานว่าผู้ร่วมชุมนุมมีประมาณ 800,000 คน อ้างอิงจากจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานที่เป็นแกนนำการประท้วงครั้งใหญ่นี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่การเรียกร้องให้ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มฮามาส เพื่อรักษาชีวิตของตัวประกันราว 101 รายที่ยังอยู่ในกำมือของฮามาส
นายกฯ เนทันยาฮูแสดงความเสียใจ และขอให้ครอบครัวตัวประกันทั้ง 6 รายที่เสียชีวิตในปฏิบัติการตอบโต้ของอิสราเอลเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ‘ให้อภัย’ แก่ตัวเขา แต่ขณะเดียวกันก็ประกาศกร้าวว่ารัฐบาลอิสราเอลและ IDF จะไม่ยอมอ่อนข้อให้ฮามาสเด็ดขาด และจะไม่เจรจาหยุดยิงในขณะนี้ด้วย เพราะอิสราเอลต้องตอบโต้กลับอย่างสาสมแก่กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามประเทศและประชาชนอิสราเอล ซึ่งกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเนทันยาฮูมีจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้การชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมครั้งใหญ่สุดในรอบเกือบ 3 ปีค่อยๆ แผ่วปลายลงไป เพราะกระแสความเคลื่อนไหวไม่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในสงครามกาซา
ตัวประกันทั้งหมดถูกจับไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 การเสียชวิตครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทางการอิสราเอลไม่จริงใจกับการช่วยตัวประกัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การประท้วงถูกมองว่า ‘จุดไม่ติด’ เป็นเพราะกลุ่มผู้มีแนวคิดชาตินิยมและเชื้อชาตินิยมขวาจัดของอิสราเอลสนับสนุนแผนกวาดล้างฮามาส (และปาเลสไตน์) ของเนทันยาฮูเพิ่มขึ้น โดยมองว่า นี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว ถ้าหากรัฐบาลและ IDF กลับเข้าสู่กระบวนการเจรจา จะยิ่งส่งเสริมให้ฮามาสก่อเหตุอย่างอุกอาจมากขึ้นในครั้งหน้า แต่การยืนยันไม่เจรจาจะทำให้ฮามาสตระหนักว่าวิธีการนี้ไม่ได้ผล
ขณะที่ครอบครัวตัวประกันชาวอิสราเอลบางส่วน ทั้งที่เสียชีวิตแล้วและที่ยังไม่รู้ชะตากรรม ไม่เห็นด้วยกับท่าทีแข็งกร้าวของเนทันยาฮู โดยมีผู้แสดงความเห็นผ่านสื่อว่า การปราบปรามฮามาสเป็นเรื่องที่ต้องทำก็จริง แต่รัฐบาลต้องคำนึงความปลอดภัยของตัวประกันชาวอิสราเอลด้วย เพราะการประกาศไม่ยอมเจรจาหยุดยิงจะทำให้ฮามาสสังหารตัวประกันทิ้งอย่างต้องไม่ลังเล เช่นเดียวกับกรณี 6 ชีวิตตัวประกันในราฟาห์ ที่ต้องจากไปเพราะอิสราเอลยืนยันเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารตอบโต้ฮามาสโดยไม่พูดถึงการช่วยชีวิตตัวประกันเลย และการที่ฮามาสสามารถก่อเหตุในวันที่ 7 ตุลาคมได้ ก็สะท้อนว่ารัฐบาลเนทันยาฮูนั้นผิดพลาดร้ายแรง ไม่สามารถสกัดหรือป้องกันชีวิตพลเรือนได้อย่างที่พยายามกล่าวอ้าง
หลังจากนั้นกลุ่มฮามาสก็ตอบโต้ด้วยท่าทีแข็งกร้าวพอกัน โดยขู่ว่าตัวประกันที่เหลืออยู่ในมือจะได้กลับบ้านในโลงศพ ทั้งยังปล่อยคลิปวิดีโอตัวประกันที่เสียชีวิตไปแล้วขณะพูดอ้อนวอนให้เนทันยาฮูยอมรับเงื่อนไขเจรจาหยุดยิงกับฮามาส ก่อนที่โฆษกฮามาสจะทิ้งท้ายว่า ตัวประกันต้องเสียชีวิตเพราะเนทันยาฮูไม่ฟังคำขอร้องของพวกเขา และ IDF ยังบุกยึด Philadelphi Corridor เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ระยะทางราว 14 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการลำเลียงความช่วยเหลือมายังดินแดนปาเลสไตน์ ทำให้ฮามาสเตรียมยกระดับการก่อเหตุเพื่อยึดพื้นที่คืนมาด้วย
ยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูท่าทีของ โยอัฟ แกลลันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล จะเห็นว่าเขาลงมติคัดค้านแผนยกระดับปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลเนทันยาฮูในเดือนสิงหาคม 2024 โดยยืนยันเหตุผลว่าแผนการนี้สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของตัวประกัน เหล่านักวิเคราะห์ทั้งในสื่ออิสราเอลและสื่อต่างประเทศจึงมองว่า เนทันยาฮูไม่ยอมเจรจากับฮามาสในตอนนี้ เพราะเขายังได้รับการสนับสนุนที่หนักแน่นจากฐานคะแนนที่เป็นชาวอิสราเอลฝั่งขวาจัดและผู้มีแนวคิดชาตินิยม แต่ก็มีผู้วิเคราะห์ว่ากระแสต่อต้านจากประชาชนอิสราเอลฝั่งซ้ายและครอบครัวตัวประกันอาจไม่สงบลงง่ายๆ เช่นกัน อาจส่งผลต่อความนิยมของเนทันยาฮูในอนาคต
นอกจากสถานการณ์การเมืองภายในบ้านที่ระอุคุกรุ่น อิสราเอลยังเปิดแนวรบอีกด้านกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน
มีการยิงจรวดตอบโต้กันไปมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายน 2024 หลังจากที่หน่วยลับของอิสราเอลบุกสังหาร ฟูอัด ชูกร์ ผู้นำทางทหารระดับสูงของฮิซบอลเลาะห์ ที่เมืองทางตอนใต้ของเบรุต เลบานอน
นอกจากนี้ การประกาศตัวเป็นพันธมิตรกับฮามาสของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่สถานะศัตรูคู่แค้นระหว่างฮิซบอลเลาะห์-อิสราเอล มีความเป็นมายาวนานข้ามทศวรรษ และการรุกรานของ IDF เข้าสู่ดินแดนเลบานอนช่วงทศวรรษ 1980 ยังเป็นปฐมบทให้กลุ่มมุสลิมชีอะห์ในเลบานอนจับอาวุธขึ้นสู้จนกลายเป็นกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ในปัจจุบัน
ฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มติดอาวุธซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาวเลบานอนจำนวนมาก เพราะการรุกรานเลบานอนของอิสราเอลในอดีตมีข้ออ้างว่าทำไปเพื่อกำจัดขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่หนีภัยไปกบดานในประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับส่งผลให้พลเรือนชาวเลบานอนถูกสังหารหลายร้อยคน และผู้ที่ต้องอพยพพลัดถิ่นเพราะบ้านเรือนถูกทำลายอีกราว 500,000 คน
การต่อสู้ระหว่างอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ได้แก่ ปี 1982 ปี 2000 ปี 2006 และล่าสุดคือปี 2024 ซึ่งในสายตาของคนภายนอกอาจจะเห็นว่าการปะทะทุกครั้ง อิสราเอลสามารถกุมความได้เปรียบเหนือกว่าฮิซบอลเลาะห์ ที่ปัจจุบันเริ่มเสื่อมความนิยมในเลบานอนเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้หรือทำสงครามที่จะซ้ำเติมสถานการณ์ในประเทศยิ่งกว่าเดิม
แต่ในระยะยาว อิสราเอลก็ต้องเปลืองแรงและเปลืองงบประมาณเพื่อรับมือการก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่เป็นแนวร่วมของทั้งฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ต่อไป เพราะหลายกลุ่มยังคงเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งในตะวันออกกลาง ทั้งในเชิงการเมืองและการทหาร
แนวร่วมกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลางของฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ มีตั้งแต่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ซึ่งถูกรัฐบาลเผด็จการปราบปรามอย่างหนักหลังการรัฐประหารในปี 2013 แต่ก็ไม่อาจถอนรากถอนโคนได้อย่างหมดจด รวมถึงกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ที่ถูกเรียกว่าเป็นภัยคุกคามน่านน้ำระหว่างประเทศ เพราะกลุ่มนี้ประกาศโจมตีเรือเดินสมุทรสัญชาติต่างๆ ที่มาจากประเทศที่ให้การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกาซา
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มติดอาวุธแยกย่อยอื่นๆ ที่ก่อเหตุประปรายในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ไม่ว่าจะเป็น เยเมน อิรัก อียิปต์ ซีเรีย และจอร์แดน
การเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้มีจุดแข็งตรงที่เป็นการก่อเหตุแบบกองโจร ไม่เน้นรบต่อเนื่อง แต่พุ่งเป้าโจมตีในแบบสุ่มซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง และรัฐบาลอิสราเอลก็ไม่จำเป็นต้องไปออกหน้ารับมือการก่อเหตุเพราะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกดินแดนของตัวเอง
อย่างไรก็ดี ท่าทีแข็งกร้าวของอิสราเอลถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไฟสงครามจากฉนวนกาซาลุกลามไปทั่วภูมิภาคเช่นกัน เพราะถึงจุดหนึ่งที่อิสราเอลยึดกุมอำนาจต่อรองไว้ได้แล้ว ก็ควรกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อยุติการสูญเสียของทุกฝ่าย แต่อิสราเอลในยุคเนทันยาฮูไม่เคยพิจารณาทางเลือกนี้เลย
ในความขัดแย้งรอบใหม่นี้ จรวดที่ยิงจากฐานที่มั่นของฮิซบอลเลาะห์ทางใต้ของเลบานอนถูกฝั่งอิสราเอลสกัดเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อาวุธจากฝั่งอิสราเอลที่ยิงใส่เลบานอนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในฝั่งนั้นได้มากกว่า โดยมีรายงานว่าชาวเลบานอนเสียชีวิตราว 547 รายนับตั้งแต่เปิดศึกอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ฝั่งฮิซบอลเลาะห์ก็ประกาศว่าจะต้องเอาคืนอย่างแน่นอน
เพราะสงครามกาซาถูกระบุว่าเป็นสงครามตัวแทน รัฐบาลต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ และประเทศ EU บางส่วนจึงถูกเชื่อมโยงในฐานะผู้ให้การสนับสนุนที่แข็งแกร่งของอิสราเอล
โดยรัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติส่งอาวุธและความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอลมาโดยตลอด เช่นเดียวกับประเทศแถบยุโรปที่มีรัฐบาลขวาจัด ก็ประกาศจุดยืนเคียงข้างอิสราเอล ทำให้พลเรือนของประเทศเหล่านี้ได้รับคำเตือนว่าอย่าเดินทางไปยังตะวันออกกลางและบางพื้นที่ในแอฟริกาเหนือ เพราะอาจจะตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่เหล่านี้ได้ โดยที่ผ่านมามีการจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ รวมถึงการปล้นเรือหรือทรัพย์สินของประเทศตะวันตกในน่านน้ำระหว่างประเทศ
ส่วนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง ได้รับการสนับสนุนเชิงอุดมการณ์และการให้ที่พักพิงจากรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ของโลกที่มีโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง จึงเรียกได้ว่ามีแสนยานุภาพทางการทหารที่หลายฝ่ายต้องคิดทบทวนให้ดีก่อนจะเปิดแนวรบจริงๆ
เช่นเดียวกับที่รัสเซียก็ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางบางส่วนที่แสดงจุดยืนเป็นปฏิปักษ์กับชาติตะวันตก เพราะถือว่ามีศัตรูร่วมกัน ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้พยายามเอาชนะคะคานและแย่งชิงการนำในสมรภูมินอกดินแดนของตัวเองมาโดยตลอด
นอกเหนือจากโครงการอาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านยังมีคลังน้ำมันสำรองและช่องแคบฮอร์มุซเป็นเครื่องมือต่อรองทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่นเดียวกับการคุมน่านน้ำทะเลแดงของกลุ่มฮูตีในเยเมน และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ก็ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือของเอกชนและภาครัฐทั่วโลก
ปัญหาหลักคือ พฤติกรรมโจรสลัดปล้นและยึดเรือเดินสมุทรทั้งหลายสร้างความปั่นป่วนในน่านน้ำทะเลระหว่างประเทศมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้พลเรือนหลากหลายสัญชาติ รวมถึงลูกเรือไทย พลอยได้รับความเดือดร้อนจากการถูกจับเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ ถ้าหากอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ มีความดีเดือดจนถึงขั้นประกาศปิดน่านน้ำจริง ย่อมส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนทั่วโลก เพราะการต่อกรหรือปราบปรามโจรสลัดเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นภาระหนักหน่วงที่อีกหลายประเทศต้องแบกรับร่วมกันอย่างไม่มีทางเลี่ยง
แม้อิสราเอลจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และประเทศ EU บางส่วน แต่ท่าทีของรัฐบาลฝั่งตะวันตกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตามจำนวนวันเวลาที่สงครามกาซาดำเนินไป
แม้อิสราเอลจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และประเทศ EU บางส่วน แต่ท่าทีของรัฐบาลฝั่งตะวันตกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตามจำนวนวันเวลาที่สงครามกาซาดำเนินไป
หนึ่งในนั้นคือการประกาศของรัฐบาล เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคแรงงาน สั่งระงับใบอนุญาตส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งให้อิสราเอลในเดือนสิงหาคม 2024 ถูกมองเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าอังกฤษจะไม่สนับสนุนการทำสงครามกาซาอีกต่อไป เพราะอันที่จริงอาวุธจากอังกฤษคิดเป็น 0.02 เปอร์เซ็นต์ของอาวุธทั้งหมดที่ส่งไปยังอิสราเอลเท่านั้น แม้จะไม่ส่งผลด้านการทหาร แต่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการทูตอย่างแน่นอน
บทวิเคราะห์ในสื่ออังกฤษประเมินว่า สตาร์เมอร์มีท่าทีผ่อนปรนต่ออิสราเอลมากกว่าอดีตหัวหน้าพรรคแรงงานอย่าง เจเรมี คอร์บิน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนปาเลสไตน์และแนวทางแก้ปัญหาแบบรับรองสถานะทั้งสองรัฐที่ริเริ่มขึ้นโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในอดีต
แต่ท่าทีของสตาร์เมอร์ในครั้งนี้ก็สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่รัฐบาลผสมอิสราเอลที่เสียงข้างมากเป็นพรรคชาตินิยมและพรรคที่สนับสนุนแนวคิดไซออนิสต์ ซึ่งมองว่ารัฐอิสราเอลคือรัฐของยิวเท่านั้น ทั้งยังสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ จึงถือว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อเทียบกับจุดยืนของอดีตรัฐบาลอังกฤษที่มาจากฝั่งอนุรักษนิยม
ความเปลี่ยนแปลงในอังกฤษต่อยอดมาจากท่าทีของนอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ ที่ประกาศรับรองสถานะของรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งอันยืดเยื้อเรื้อรังระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ถึงเวลาจะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองที่ใช้การเมืองนำการทหารได้แล้ว เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหายที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่ายในระยะยาว
บทวิเคราะห์มองว่า แรงกดดันภายนอกมีส่วนทำให้อิสราเอลยอมรับการหยุดยิงชั่วคราวระยะหนึ่ง และล่าสุดก็ยอมให้เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าไปฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอให้แก่เด็กๆ ชาวปาเลสไตน์เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี แต่ขณะเดียวกันอิสราเอลก็ยังยืนยันจะยกระดับปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซาและเลบานอนต่อไป ทำให้มีแนวโน้มสูงว่าฮามาสและฮิซบอลเลาะห์จะตอบโต้อย่างรุนแรงเช่นกัน
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2024 หากผู้ชนะคือ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต อาจทำให้นโยบายสนับสนุนทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิสราเอลถูกพิจารณาทบทวนใหม่ เพราะแฮร์ริสมุ่งเน้นที่ภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์ และการแก้ปัญหาด้วยแนวทางเจรจามากกว่าการสู้รบ
แต่ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 จากรีพับลิกัน คว้าชัย กลับมาดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้ง อิสราเอลอาจได้รับแรงผลักดันให้ทุ่มเทกำลังทางทหารหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม เพราะทรัมป์นั้นขึ้นว่าเป็นผู้สนับสนุนนโยบายชาตินิยม และเคยแสดงความเห็นในเชิงเหยียดอิสลามหลายครั้ง จึงคาดเดาได้รางๆ ว่าเขาจะดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไหน
ตอนที่ทรัมป์อยู่ในตำแหน่งก็สร้างวีรกรรมมากมายที่สั่นสะเทือนความมั่นคงและปั่นป่วนตะวันออกกลางมาแล้วหลายรอบ เช่น การประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากการเป็นชาติพันธมิตรองค์การ NATO และยังส่งลูกสาวอย่าง อิแวงกา ทรัมป์ และ จาเรด คุชเนอร์ ลูกเขยของตัวเอง ซึ่งควบตำแหน่งที่ปรึกษาประธานาธิบดี ไปร่วมพิธีรับรองกรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทั้งที่มติของสมัชชาใหญ่ UN ระบุชัดว่าเยรูซาเล็มคือมหานครสำคัญของทั้งหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรือชาวคริสต์และชาวมุสลิมทั่วโลก จึงไม่สามารถประกาศรับรองสถานะเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของชนชาติใดชนชาติหนึ่งได้เพียงลำพัง แต่ทรัมป์ก็ประกาศสวนมติ UN และย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จนกลายเป็นชนวนประท้วงหลายครั้ง
เมื่อทรัมป์ก้าวลงจากตำแหน่ง รัฐบาลอเมริกันในยุค โจ ไบเดน ได้สั่งชะลอและระงับนโยบายต่างประเทศหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง แต่ถ้าหากทรัมป์กลับมาทวงบัลลังก์ประธานาธิบดีได้อีกครั้งในการเลือกตั้งปลายปีนี้ ตะวันออกกลางอาจต้องเจอกับระเบิดเวลาที่ไม่รู้จะเปรี้ยงปร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ และสงครามกาซาระหว่างอิสราเอล-ฮามาสอาจได้เชื้อเพลิงระลอกใหม่ที่จะทำให้ความขัดแย้งไม่จบลงง่ายๆ
อ้างอิง:
AA, AP, The Arab Weekly, CPJ, DW, Euro News, Financial Times, The Globalists, The Jerusalem Post, Le Monde, The New York Times, PBS, Politico, Sky News, TIME, The Times of Israel, UNRWA