การถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม 2021 ถูกเปรียบเหมือนฉากจบของ ‘สงครามต่อต้านก่อการร้าย’ ที่กินเวลายาวนานเกือบ 20 ปีหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ในดินแดนสหรัฐอเมริกา
เรื่องนี้กลายเป็นวิวาทะร้อนแรงทางการเมืองในสหรัฐฯ อีกครั้ง เพราะ ไมเคิล แม็กคอล สส.รัฐเท็กซัส สังกัดพรรครีพับลิกัน และประธานกรรมาธิการต่างประเทศประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพิ่งเผยแพร่รายงานการไต่สวนกระบวนการถอนทัพจากอัฟกานิสถานฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2024
รายงานฉบับนี้จัดทำโดย สส.รีพับลิกันทั้งหมดที่นั่งเก้าอี้กรรมาธิการต่างประเทศ และใช้เวลา 18 เดือนเพื่อรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางการของรัฐบาล กองทัพ และการบันทึกปากคำผู้เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปแบบฟันธงว่า ภารกิจถอนทหารฯ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปีแรกที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตเข้ารับตำแหน่ง เป็นการหลับหูหลับตาออกคำสั่งโดยไม่ดูบริบทแวดล้อม ไม่ฟังคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญทางทหาร นำไปสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่ของพลเมืองอเมริกันและอัฟกัน
เป้าหมายของ สส.รีพับลิกันเป็นการสอบสวนแบบเฉพาะเจาะจงไปยังเหตุวินาศกรรมสนามบินฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2021 ซึ่งขณะนั้นทางการสหรัฐฯ กำลังพยายามอพยพพลเรือนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดออกนอกประเทศโดยเร็วที่สุด แต่กลับถูกแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธตาลีบันระดมโจมตีด้วยอาวุธ ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 13 นาย ชาวอัฟกานิสถานเสียชีวิต 170 ราย และเกิดเหตุวุ่นวายโกลาหลตามมาอีกหลายระลอก เพราะผู้ที่เคยทำงานหรือเป็นพันธมิตรกับกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานต่างตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มตาลีบัน จึงมีทั้งผู้ถูกจับกุม ถูกไต่สวนด้วยวิธีรุนแรง และถูกสังหาร
สส.แม็กคอลระบุว่า ความสูญเสียเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ‘หลีกเลี่ยงได้’ แต่รัฐบาลไบเดนและแฮร์ริสกลับไม่พิจารณาข้อมูลประกอบให้รอบด้าน ทั้งที่มีหลายเหตุการณ์บ่งชี้ว่ากลุ่มตาลีบันสามารถรุกคืบยึดเมืองต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วกว่าที่หน่วยความมั่นคงของสหรัฐฯ เคยประเมินไว้ แต่รัฐบาลไบเดนก็ยังเดินหน้าภารกิจถอนกำลังทหาร จึงไม่อาจป้องกันความสูญเสียจากเหตุวินาศกรรมที่สนามบินในกรุงคาบูลครั้งนั้นได้
ขณะที่โฆษกประจำทำเนียบขาว ชารอน หยาง แถลงตอบโต้แม็กคอลว่ารายงานที่ฝั่งรีพับลิกันทำขึ้นนั้นเต็มไปด้วยอคติ เลือกหยิบเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับฝั่งรีพับลิกันมาขยายต่อ เห็นได้ชัดว่าต้องการใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาลไบเดน
ขณะที่สำนักข่าว AP ระบุเพิ่มเติมว่า รายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามอัฟกานิสถานมีหลายฉบับ และถ้าพิจารณาจากรายงานที่จัดทำโดยองค์กรอิสระไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด จะพบว่า แต่ละรัฐบาลมีจุดอ่อนด้านความมั่นคงโดยถ้วนหน้ากัน เพียงแต่รายงานฉบับรีพับลิกันที่เพิ่งเผยแพร่ล่าสุดไม่พูดถึงสาเหตุที่รัฐบาลไบเดนต้องสั่งถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วน ว่าเป็นผลพวงจากเงื่อนไขในข้อตกลงที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ไปลงนามร่วมกับผู้นำตาลีบันแบบทิ้งทวนก่อนจะพ้นจากตำแหน่งได้ไม่นาน
นอกจากนี้ จังหวะเวลาในการดึงประเด็นสงครามอัฟกานิสถานมาเป็นวิวาทะทางการเมืองยังสอดคล้องกับช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นปลายปี 2024 และใกล้กับวาระครบรอบ 23 ปีเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นปฐมบทของสงครามต่อต้านก่อการร้ายที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนบทจากเหยื่อสู่การเป็นวีรบุรุษผดุงความยุติธรรมปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายให้หมดโลก - เพียงแต่ผลพวงของสงครามอันยาวนานไม่ได้นำมาซึ่งความสงบสุขและสันติภาพอย่างที่เคยประกาศไว้เท่านั้นเอง
เมื่อโลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ไม่นานก็เกิดเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือการจี้เครื่องบิน 4 ลำโดยสมาชิก 19 คนของกลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์ (Al Qaeda) จากตะวันออกกลาง ในวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเดือน 9 วันที่ 11 จึงถูกเรียกสั้นๆ ภายหลังว่า ‘เหตุการณ์ 9/11’
เครื่องบิน 2 ลำแรกถูกบังคับให้พุ่งชนตึกแฝดของกลุ่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ด้านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ผู้อยู่บนเครื่องบินทั้งหมดเสียชีวิต ขณะที่ตึกแฝดเกิดไฟลุกไหม้ทำลายโครงสร้างอาคารจนถล่มลงมา ก่อความเสียหายร้ายแรงต่อกลุ่มอาคารใกล้เคียง มีผู้เสียชีวิตและติดอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นจำนวนมาก จุดเกิดเหตุแห่งนี้ถูกเรียกว่า Ground Zero ในเวลาต่อมา
เครื่องบินลำที่ 3 พุ่งชนด้านหน้าอาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในอาร์ลิงตันเคาน์ตีของรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญด้านการทหาร ผู้อยู่บนเครื่องบินและผู้อยู่ในอาคารบางส่วนเสียชีวิตรวมกันนับร้อยราย
เครื่องบินลำที่ 4 เป็นเที่ยวบิน 93 ของ United Airlines ถูกบังคับให้บินไปยังกรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารรัฐสภา ศูนย์กลางทางการเมือง แต่ลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องบินร่วมกันขัดขวางจนเครื่องไปตกลงใกล้เมืองแชงก์สวิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย จึงเป็นเครื่องบินลำเดียวที่การก่อเหตุไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
เหตุการณ์ 9/11 กลายเป็นการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่สุดในแผ่นดินสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตรวม 2,977 ราย ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวอเมริกันและกลุ่มผู้ก่อเหตุ แต่รวมถึงผู้คนหลากหลายเชื้อชาติจาก 90 ประเทศซึ่งอยู่ในจุดเกิดเหตุเกือบทั้งหมด ขณะที่หน่วยกู้ภัยและดับเพลิงที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในกลุ่มอาคารเวิลด์เทรดก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก
มีรายงานหลายฉบับบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งซึ่งล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังอาจเป็นผลจากการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ 9/11
ส่วนเหตุผลที่กลุ่มอัลกออิดะห์จู่โจมสหรัฐฯ อย่างอุกอาจถูกวิเคราะห์ไว้หลายแง่มุม แต่ประเด็นที่นักวิชาการมองว่าเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดมาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศยุคหลังสงครามเย็น สหภาพโซเวียตถอนกำลังออกจากการยึดครองอัฟกานิสถานและล่มสลายไป กลุ่มติดอาวุธตาลีบันเข้ายึดครองประเทศในเวลาต่อมา ทำให้แนวคิดสุดโต่งอ้างหลักศาสนาอิสลามของตาลีบันมีแนวร่วมเพิ่มขึ้น ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะพี่น้องในโลกมุสลิมจึงมีความเข้มแข็งขึ้นเช่นกัน ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งหนุนหลังอิสราเอลมาตลอด ถูกมองเป็นศัตรูของอิสลาม และกลายเป็นเป้าโจมตีขนาดใหญ่
การจี้เครื่องบินก่อวินาศกรรม 9/11 กลายเป็นบทเรียนสำคัญให้ธุรกิจการบินพลเรือนทั่วโลกปรับแก้กฎระเบียบด้านความปลอดภัยจนเข้มงวดยิ่งขึ้นและยังมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพราะแม้จะมีการจี้เครื่องบินเพื่อก่อเหตุหลายครั้งก็ไม่เคยมีความสูญเสียที่ร้ายแรงขนาดนี้เกิดขึ้นมาก่อน
สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) เพื่อตอบโต้การก่อเหตุ 9/11 จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนด้านนโยบายความมั่นคงทั่วโลกซึ่งมุ่งเน้นการเฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามจากเครือข่ายก่อการร้ายต่างประเทศไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลหรือก่อเหตุวุ่นวายภายในประเทศ
สหรัฐฯ ส่งกองทัพอเมริกันเข้าไปเริ่มสงครามในอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2001 (ต่อมา 7 ตุลาคม 2023 คือวันที่ฮามาสบุกอิสราเอล) เพื่อล่าตัว โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์ ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลตาลีบัน และ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีอเมริกันในขณะนั้น ประกาศว่า สงครามต่อต้านก่อการร้ายคือสงครามระดับโลก (Global War) ไม่ใช่แค่ภารกิจของสหรัฐฯ เพียงลำพัง แต่เรียกร้องความร่วมมือจากนานาประเทศในการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามโลกด้วย
สถาบันสำรวจความคิดเห็นในสหรัฐฯ Pew Research รายงานว่าช่วงปีแรกหลังเกิดเหตุ 9/11 คนอเมริกันส่วนใหญ่ตอบแบบสอบถามว่าการทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายเพื่อตอบโต้การก่อวินาศกรรม ‘มีเหตุผลและชอบธรรม’ เพราะสหรัฐฯ ก็ต้องปกป้องประชาชนของตัวเอง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่เข้าร่วมสงครามครั้งนี้กับสหรัฐฯ เป็นเพราะประชาชนของตัวเองคือผู้ได้รับผลกระทบ หรือไม่ก็เสียชีวิตจากการก่อเหตุของกลุ่มอัลกออิดะห์เช่นเดียวกัน
ประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ที่สนับสนุนสงครามต่อต้านก่อการร้ายส่วนใหญ่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสานต่อความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศอยู่แล้ว จึงมีหลายประเทศที่ส่งทหารของตัวเองไปร่วมรบกับกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานตั้งแต่ต้นจนจบ
การผนึกกำลังระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพันธมิตร ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความมั่นคงและการฝึกอบรมร่วมกันระหว่างทหารของแต่ละประเทศ โดยมุ่งเน้นการฝึกแบบเฉพาะทางมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อรวบรวมข่าวกรองอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์แบบควบคุมระยะไกลและเทคโนโลยีนำวิถีเพิ่มความแม่นยำในการโจมตีทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ รวมถึงการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรทั่วโลก
รัฐบาลไทย (และอีกหลายประเทศ) เคยถูกกล่าวถึงในเอกสารของทางการสหรัฐฯ และการให้สัมภาษณ์สื่อของผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ซึ่งระบุว่าไทยเคยอนุญาตให้ CIA ตั้งคุกลับในประเทศ เพื่อใช้เป็นที่คุมขังและสอบสวนผู้ต้องสงสัยในช่วงที่สหรัฐฯ ทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย แต่รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยที่ถูกพาดพิงปฏิเสธข้อมูลชุดนี้มาโดยตลอด
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ด้านความมั่นคงซึ่งมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องสามารถรวบรวมข่าวกรองด้วยการดักฟังหรือสอดแนมบุคคลและนิติบุคคลต่างๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามขั้นตอนกฎหมายทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ถูกเปิดโปงโดยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาต่อมา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
แต่หน่วยข่าวกรองและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แย้งว่ามาตรการด้านความมั่นคงเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการจับกุมและสกัดการก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้าย ส่วนผู้ที่เปิดเผยข้อมูลด้านนี้ของรัฐบาลเข้าข่ายกบฏ เนื่องจากทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงตกอยู่ในอันตราย เพราะถูกเปิดโปงตัวตนและภารกิจสำคัญที่เคยทำ
การทำสงครามในอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรกินเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2001-2021 และในเวลาไล่เลี่ยกันสหรัฐฯ ยังทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายในอิรักระหว่างปี 2003-2011 โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลอิรัก ภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซน อาจกำลังซุกซ่อนอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction: WMD) เอาไว้ในประเทศ หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ยังส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรียในปี 2014 อีกทางหนึ่ง
ข้อมูลขององค์กรไม่แสวงผลกำไร American Progress ระบุว่าสงครามต่อต้านก่อการร้ายที่ยืดเยื้อยาวนานข้ามทศวรรษใช้งบประมาณของประเทศมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 68 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 2.7 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งประเทศโดยเฉลี่ย ทั้งยังทำให้ทหารอเมริกันและเจ้าหน้าที่ภาคพลเรือนซึ่งถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ต่างแดนเสียชีวิต 7,074 ราย และปัจจุบันมีทหารผ่านศึกประมาณ 1.8 ล้านนายขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการทั่วประเทศสหรัฐฯ เนื่องจากการร่วมรบในสงครามต่อต้านก่อการร้าย
อย่างไรก็ดี รายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อประเมินความคุ้มค่าของการทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดในทศวรรษที่ 21 ของสหรัฐฯ ระบุว่า สงครามครั้งนี้ล้มเหลวในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กองทัพรัฐบาลอัฟกานิสถาน เพราะกองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติภารกิจจำนวนมากตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีในการวางรากฐานและการบริหารกำลังพล การฝึกอบรมบุคลากร การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้กองทัพอัฟกันต่อสู้และปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในประเทศได้ แต่กองทัพอเมริกันยังไม่ทันถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานได้อย่างหมดจด กลุ่มตาลีบันก็ยึดครองประเทศได้อย่างง่ายดายในเดือนสิงหาคม 2021
ความพ่ายแพ้ของกองทัพและอดีตรัฐบาลอัฟกันที่สหรัฐฯ หนุนหลังมาตลอด จึงเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่นำโดยสหรัฐฯ เพราะงบประมาณและกำลังพลที่ทุ่มเทลงไปไม่อาจทำให้กองทัพอัฟกันเข้มแข็งพอที่จะต่อกรกับตาลีบันได้อย่างทัดเทียม ไม่สามารถกำจัดกลุ่มตาลีบันและแนวร่วมที่เป็นกลุ่มสุดโต่งอื่นๆ ได้แบบถอนรากถอนโคน และกลายเป็นภัยคุกคามยิ่งกว่าเดิมในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน สงครามอิรักก็กลายเป็นรอยด่างพร้อยที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกประณามจากนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก หลังทหารอเมริกันเข้าไปปฏิบัติการอยู่นานหลายปี ก็ยังไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลอิรักมีอาวุธ WMD ในครอบครอง จนท้ายที่สุดคนในรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ต้องออกมายอมรับว่าเบาะแสเรื่อง WMD นั้นไม่มีมูลความจริง หลายประเทศซึ่งเคยสนับสนุนสหรัฐฯ จึงเปลี่ยนท่าทีและทยอยปรับลดกำลังพลที่ส่งไปร่วมสู้รบจนกระทั่งรัฐบาล บารัค โอบามา สั่งถอนทหารอเมริกันจากอิรักในปี 2011
แต่เรื่องอื้อฉาวร้ายแรงที่สุดถูกเปิดโปงโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวในนาม WikiLeaks นำโดย จูเลียน อัสซานจ์ เพราะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าทหารอเมริกันซ้อมทรมาน ทารุณจิตใจและร่างกายผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอาบูกรออิบของอิรักช่วงที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย โดยหลักฐานประกอบมีทั้งคลิป ภาพถ่าย และบันทึกภายในหน่วยงานที่บ่งชี้ว่าพฤติกรรมคุกคามละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อผู้ต้องสงสัยและเชลยศึกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบโดยที่ผู้บังคับบัญชาทางทหารก็รับรู้แต่ปล่อยผ่านไม่ตักเตือนใดๆ ในขณะเกิดเหตุ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าภารกิจทางทหารในอิรักบางส่วนเกิดความผิดพลาด การโจมตีด้วยอาวุธระยะไกล ทำให้พลเรือนถูกสังหาร แทนที่จะเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อการร้าย นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อนำเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมารับโทษ แต่กระบวนการทางคดีส่วนใหญ่ล่าช้า และบางคดีลงเอยที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอจะเอาผิดผู้ปฏิบัติหน้าที่
20 ปีเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2021 นักวิชาการด้านความมั่นคงในสหรัฐฯ จึงระบุคล้ายกันว่า แม้การทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐฯ จะช่วยป้องกันการก่อเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยในในดินแดนสหรัฐฯ ได้จริง แต่ภาพลักษณ์ผู้นำโลกประชาธิปไตยของสหรัฐฯ กลับเสื่อมเสียไป เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในสงครามต่อต้านก่อการร้ายสวนทางกับบทบาทวีรบุรุษปราบปรามก่อการร้ายที่สหรัฐฯ พยายามจะเป็น
การทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอิสลามบางส่วน ประกอบกับเรื่องอื้อฉาวของกองทัพสหรัฐฯ ทำให้กลุ่มก่อเหตุอ้างอิงศาสนาอิสลาม (ญิฮาด) นำไปอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งประเด็นหลังนี้คือปัจจัยสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้แนวคิดสุดโต่งและภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายยังจุดติดในหลายพื้นที่ทั่วโลก และกลุ่มประเทศ NATO ก็เผชิญกับการก่อการร้ายในประเทศเพิ่มขึ้นหลังเข้าร่วม War on Terror กับสหรัฐฯ
นับตั้งแต่ปี 2001 รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งเน้นการปราบปรามและป้องกันกลุ่มก่อการร้ายในต่างแดนเป็นหลัก
แต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 2021 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ 9/11 และสงครามในอัฟกานิสถาน โดยรัฐบาลไบเดนประกาศยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศ (National Strategy for Countering Domestic Terrorism: NSCDT) เป็นครั้งแรก โดยระบุว่าภัยคุกคามจากแนวคิดสุดโต่งในประเทศเป็นสิ่งที่ต้องป้องกันและเฝ้าระวังเช่นกัน
กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับไบเดนมองว่า แนวทางด้านความมั่นคงแบบใหม่นี้มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง และอาจใช้การดำเนินคดีทางกฎหมาย ‘ปิดปาก’ ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพราะต้นปี 2021 กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ซึ่งไม่พอใจผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ที่ไบเดนเป็นฝ่ายชนะ รวมตัวบุกอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันดีซี จนถูกตั้งคำถามจากคนอเมริกันอีกหลายฝ่ายว่าเหตุการณ์นี้เข้าข่ายการก่อการร้ายและภัยคุกคามความมั่นคงหรือไม่ เพราะผู้ชุมนุมบางส่วนก็พกอาวุธเข้าไปในสถานที่สำคัญทางการเมือง และประกาศเจตนาชัดเจนว่าไม่ยอมรับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไบเดน
หน่วยงานจัดการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ทยอยออกมายืนยันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ดำเนินไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็มีเพียงเล็กน้อยจนไม่อาจเรียกได้ว่า ‘โกงเลือกตั้ง’ แต่กระบวนการไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการบุกอาคารรัฐสภากลับเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผู้ชุมนุมหลายคนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น แม้แต่ทรัมป์ก็ยังเจอข้อหาพยายามล้มล้างผลเลือกตั้ง
เมื่อยุทธศาสตร์ป้องกันภัยก่อการร้ายภายในประเทศของรัฐบาลไบเดนถูกแจกแจงออกมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายสนับสนุนทรัมป์จะรู้สึกว่านี่อาจเป็นข้ออ้างเพื่อใช้ในการสอดส่องหรือควบคุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
ข้อมูลของสถาบัน New America ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอเมริกัน พบว่าคดีที่ถูกเรียกว่าเป็นการก่อการร้ายในสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ 9/11 ระหว่างปี 2002-2024 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 271 ราย โดยการก่อเหตุของผู้มีแนวคิดขวาจัดสุดโต่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุด รวม 134 ราย มากกว่าผู้เสียชีวิต 107 รายจากการก่อเหตุของผู้มีแนวคิดสุดโต่งอ้างอิงอิสลาม ส่วนผู้เสียชีวิตจากแนวคิดเหยียดเพศมี 17 ราย คดีที่พุ่งเป้าโจมตีคนผิวดำมีผู้เสียชีวิต 13 ราย และคดีที่ผู้ก่อเหตุมีแนวคิดซ้ายสุดโต่งมีผู้เสียชีวิต 1 ราย
ข้อมูลของ New America ระบุว่า แนวคิดขวาจัดสุดโต่ง รวมถึงกลุ่มผู้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด ไปจนถึง White Supremacist ที่ยกย่องเชิดชูคนผิวขาวว่าเหนือกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งมักจะเกลียดชังกลุ่มคนที่นับถือต่างศาสนาหรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากตนเอง และกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อประเภทนี้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทั่วสหรัฐฯ ทั้งยังมีเบาะแสว่ากลุ่มขวาจัดสุดโต่งในสหรัฐฯ อาจจะติดต่อหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ที่มีแนวคิดแบบเดียวกันในยุโรปหรือประเทศอื่นๆ
สิ่งที่ป้องกันได้ยากที่สุด คือ การก่อการร้ายแบบลุยเดี่ยว (lone wolf) ของผู้มีแนวคิดสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง เพราะการเฝ้าระวังบุคคลนั้นทำได้ยากกว่าการจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบกลุ่มก้อน และในความเป็นจริง ภัยก่อการร้ายจากกลุ่มติดอาวุธนอกประเทศก็ยังอันตราย และเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดิม แต่การขยายตัวของกลุ่มผู้มีแนวคิดสุดโต่งในประเทศสหรัฐฯ ก็ควรต้องจับตาและเฝ้าระวังเช่นกัน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปี 2024 ซึ่งทรัมป์กับแฮร์ริสคือคู่ท้าชิงจะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไรต่อไป