เปิด 10 คำร้องของบรรดานักร้อง เมื่อแพทองธาร ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
การเมืองมักจะมาคู่กับความขัดแย้ง การแย่งชิงอำนาจ วิธีการแย่งชิงอำนาจนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ในปัจจุบันรูปแบบที่มักนิยมใช้ เพราะนอกจากจะทำให้บุคคลนั้นต้องลงจากตำแหน่งที่นั่งอยู่ แต่มันสามารถดับอนาคตทางการเมืองคนเหล่านั้นได้เช่นกัน
นิติสงคราม (lawfare) หรือการใช้กฎหมายเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่เพิ่งเกิดกับการเมืองไทย หากมองย้อนกลับไป เรื่องนี้มีการพูดถึงตั้งแต่กรณีของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล หรือกระทั่ง เศรษฐา ทวีสิน ที่มักจะมีนักร้องยื่นร้องในการกระทำต่างๆ จนสุดท้ายคนเหล่านั้นต้องออกจากการเมืองไป
แต่มาในวันที่ แพทองธาร ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาบนเส้นทางการเมืองที่ดูเหมือนมีการปูทางไว้อย่างดี ในการได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เธอก็ไม่รอดพ้นจากนิติสงครามด้วยเช่นกัน ไทยรัฐพลัสพาส่องนายกฯ หญิงของเรา ที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ทันครบเดือน ก็มีเรื่องร้องจ่อคิวเพียบ
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ ในฐานะรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ป.ป.ช. ) มาตรา 4 หรือไม่ เนื่องจากในคำสั่งสำนักนายกฯ 230/2566 ที่แต่งตั้ง แพทองธารระบุเบิกจ่ายเบี้ยประชุมจากงบประมาณสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
บุคคลนิรนาม ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต. ยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จากเรื่องพิจารณาที่ 17/2567 กรณี เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
เรืองไกรร้อง ป.ป.ช.ร้องให้ตรวจสอบว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 แพทองธารกับครอบครัวไปกินข้าวที่โรงแรมแรนโช ชาญวีร์ เขาใหญ่ ใครจ่ายเงินให้ หากไม่ได้จ่ายเงินเอง เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 128 วรรค 1 ที่ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่ เพราะแพทองธารเป็นรองประธานยุทธศาสตร์ซอฟท์เพาเวอร์ฯ รองประธานพัฒนาระบบสุขภาพ และประธานพัฒนาซอฟท์เพาเวอร์ ถือเป็น เจ้าพนักงานของรัฐตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 4
เรืองไกรร้องกกต. ให้ตรวจสอบว่า แพทองธารออกจากกรรมการ 21 บริษัทในเครือชินวัตรตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 จริงหรือไม่ เพราะพบว่ามีการไปจดทะเบียนแจ้งการลาออกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 หลังจากได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 หากลาออกหลังวันที่ 18 สิงหาคม ความเป็นนายกฯ จะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ห้ามรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น หรือลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ แพทองธาร นายกรัฐมนตรี และ ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่
จากกรณีที่ ทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) สืบเนื่องจาก ผลจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า ทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม แต่ แพทองธาร ชินวัตร กลับแต่งตั้ง ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง
สนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัคร สว. ยื่นหนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้ตรวจสอบความซื่อสัตย์สุจริตและการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง 3 คน คือ 1. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2. เดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีเคยพูดกับประชาชนว่าถ้าไม่ได้ สส.เกิน 52 คนจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถือว่าทำผิดสัญญาประชาคม 3. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณี แต่งตั้งให้ทั้ง 2 คนเป็นรัฐมนตรี
เรืองไกร ร้อง กกต. ขอให้ตรวจสอบแพทองธาร กรณีแต่งตั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
เนื่องจากมีเสียงวิจารณ์ถึงอดีตของภูมิธรรม ที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในยุค 6 ตุลาคม 2519 ในนามสหายใหญ่ ว่าได้เข้าป่าและข้องเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.กลาโหม ทั้งที่เคยร่วมกระทำการในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง แพทองธารควรรู้เรื่องนี้อยู่แล้วก่อนการแต่งตั้งจึงเป็นเหตุผลที่ยื่นร้องครั้งนี้
นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีประชุมจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เท่ากับยอมให้ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกครอบงำ
เรืองไกร ร้องให้ตรวจสอบ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ ต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ตามมาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่ กรณีชักชวนให้คณะรัฐมนตรีถ่ายรูปในท่ามินิฮาร์ต ขณะกำลังสวมเครื่องแบบชุดปกติขาว บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีประเด็นที่ควรตรวจสอบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ กรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย ถือเป็นความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ กรณีพรรคเพื่อไทยยอมให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำ ชี้นำ ตามมาตรา 28 พ.ร.ป.เดียวกันหรือไม่
ทั้งนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่านักร้องทั้งหลายหรือผู้ที่เปิดศึกนิติสงครามกับแพทองธารครั้งนี้เบื้องหลังคือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่ชวดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และชวดการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นผู้ส่งกองทัพนักร้องต่างๆ เนื่องจากเรืองไกร ที่ตอนนี้ยื่นไปถึง 5 คำร้องแล้วก็เป็นสมาชิกพรรค พปชร. ซึ่งทางพรรคก็ยืนยันว่าเรืองไกรทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามพรรค
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าการยื่นร้องต่างๆ ผู้ประสานงานคือ คนที่ตัวสูง ผิวขาว ใส่แว่น ซึ่งมีลักษณะคล้าย ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. และมือกฎหมายของพรรค แต่เจ้าตัวออกมายืนยันว่าไม่ได้เป็นคนดำเนินการดังกล่าว
อย่างไรก็ตามต่อให้พลเอกประวิตรจะอยู่เบื้องหลังครั้งนี้หรือไม่ แต่หนทางของเก้าอี้นายกฯในทุกยุคนั้น ไม่เคยที่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้แต่ในพรรคร่วมเองหากมีปัญหาขึ้นมาก็อาจเปลี่ยนสีโจมตีได้เช่นกัน ดังนั้นการขยับแต่ละครั้งของนายกฯหญิงคนนี้คงไม่สามารถทำตามใจได้มากนัก เพราะไม่อย่างนั้นจุดจบอาจจะไม่ต่างกับ เศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกปลดกลางคันอย่างไม่ทันตั้งตัว