Humberger Menu

ถอดรหัส เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก

พรรคประชาชน ‘ยิ่งยุบยิ่งโต’ หรือจะสู้ ‘พรรครัฐบาล’ จับมือกัน

ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 1 พิษณุโลก ชัยชนะตกเป็นของ จเด็ศ จันทรา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคส้มสูญเสียพื้นที่เดิมไปหนึ่งเขต ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เพื่อไทยชนะ คือการร่วมมือร่วมใจของพรรคร่วมรัฐบาล ที่หลีกทางไม่ส่งผู้สมัคร และบุคลากรจากพรรคต่างๆ ยังลงพื้นที่ช่วยทำงานอีกหลายๆ ครั้ง

จเด็ศ จันทรา

การเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ผลอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กันยายน ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หมายเลข 1 จากพรรคประชาชน (ปชช.) ได้คะแนน 30,631 แพ้ให้กับ จเด็ศ จันทรา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้คะแนน 37,209 

การเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกครั้งนี้หลายคนจับตามอง เพราะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดเรตติ้งพรรคประชาชน ที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้ง สส. ครั้งแรกภายหลังจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถูกยุบ ว่าพรรคประชาชน จะเดินหน้าต่อได้เหมือนกับอดีตพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่เขต 1 พิษณุโลก เป็นพื้นที่เก่าของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภา ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา

แต่ผลการเลือกตั้งซ่อมที่เพิ่งผ่านมาสนามแรกในนามของพรรคประชาชนนั้น พ่ายแพ้ เสียเก้าอี้ให้กับพรรคเพื่อไทย จากก่อนหน้านี้หลายคนค่อนข้างมั่นใจว่า พื้นที่นี้ยังคงเป็นพื้นที่สีส้มที่แข็งแรง เพราะผลการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลชนะขาดลอย ทั้ง สส.เขต และคะแนนบัญชีรายชื่อ

และเมื่อผลการเลือกตั้งซ่อมออกมาเช่นนี้ วลีที่หลายคนชอบพูดถึงพรรคส้มว่า ‘ยิ่งยุบยิ่งโต’ ยังใช้ได้กับพรรคประชาชน หรือพรรคส้มร่าง 3 หรือไม่ คงต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง

ทำไมประชาชนแพ้เพื่อไทย

จากการยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลก เขต 1 ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเคยเป็น กรรมการบริหาร พรรคก้าวไกล ซึ่ง หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ ครองเก้าอี้นี้มาแล้ว 2 สมัย

เลือกตั้ง 2562

1. ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคอนาคตใหม่ 35,579 คะแนน 2. เศรษฐา กิตติจารุรักษ์ พรรคพลังประชารัฐ 23,682 คะแนน 3. นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคประชาธิปัตย์ 18,613 คะแนน 4. วิเชียร น้อยน้ำใส เสรีรวมไทย 5,114 คะแนน

เลือกตั้ง 2566

1. ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล 40,842 คะแนน 2. อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ พรรคพลังประชารัฐ 19,096 คะแนน 3. ณัฐทรัชต์ ชามพูนท พรรคเพื่อไทย 18,180 คะแนน 4. ธนิท กิตติจารุรักษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ 10,229 คะแนน

เลือกตั้งซ่อม 2567

ผลการเลือกตั้งซ่อมล่าสุด 2567 คะแนนของพรรคประชาชน ได้เพียง 30,631 คะแนน เทียบกับการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 หายไปมากถึง 5,000 และ 10,211 คะแนน ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ที่ไม่เคยติดอันดับในการเลือกตั้งพิษณุโลกเขต 1 และในปี 2566 ครั้งก่อนได้เพียง 18,180 คะแนน แต่ในครั้งนี้ได้เพิ่มถึง 19,029 คะแนน รวมเป็น 37,209 คะแนน

พรรคส้มแพ้เพราะไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า?

ปัจจัยส่วนหนึ่ง คาดกันว่าคะแนนที่หายไปของพรรคประชาชนมาจากการไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งนอกเขตและในเขต

สถิติผู้มาใช้สิทธิเขต 1 พิษณุโลก

ปี 2567

  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 138,582 คน 
  • ผู้มาใช้สิทธิ 76,152 คน คิดเป็น 54.95 เปอร์เซ็นต์
  • ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 7,261 คน

ปี 2566 

  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 139,465 คน 
  • ผู้มาใช้สิทธิ 104,852 คน คิดเป็น 75.18 เปอร์เซ็นต์
  • ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3,666 คน

การเลือกตั้งสองครั้ง ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งต่างกันถึง 28,700 คน มีข้อสังเกตว่า คนที่ไม่มาใช้สิทธิ อาจเป็นเสียงที่หายไปจะเป็นของพรรคส้มหรือไม่ เพราะฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรคส้มนั้นคือ คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ที่อาจมองว่าเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เป็นเรื่องเล็กไม่จำเป็นต้องเสียเงิน เสียเวลาเดินทางกลับมาใช้สิทธิ  

นอกจากนั้น ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส. พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ มองว่าการพ่ายแพ้ครั้งยังเกิดจากอีกหนึ่งปัจจัย คือ การที่เลือกตั้งซ่อมไม่มีให้เลือกตั้งล่วงหน้า 

“คะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าสำคัญ เนื่องจากไม่มีการยึดโยงกับระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่ ซื้อเสียงหรือขอกันไม่ได้ ซึ่งผมมองว่ามีผลกับการชนะของผมในรอบที่แล้ว ”

ทั้งนี้ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน X ถึง 10,000 คะแนนที่หายไปในเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ว่า 

“ข้อเท็จจริงคือ เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับผู้มาใช้สิทธิ์ โดยคิดเป็นสัดส่วนคะแนนที่ได้ เทียบกับคะแนนบัตรดีทั้งหมด ปดิพัทธ์ ได้ 41.3 เปอร์เซ็นต์ ณฐชนนได้ 40.25 เปอร์เซ็นต์ คุณบู้ได้ 48.71 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ปัจจัยของความพ่ายแพ้ มาจาก 2 สาเหตุหลัก

1. เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า คนมาใช้สิทธิน้อยกว่าเดิม (เลือกตั้ง 66 คนใช้สิทธิ 70 เปอร์เซ็นต์ ครั้งนี้ 54 เปอร์เซ็นต์) หมายความว่าเราล้มเหลวในการรณรงค์ให้คนกลับบ้านไปเลือกตั้ง 

2. พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 18 เปอร์เซ็นต์ เป็น 48 เปอร์เซ็นต์ (ไม่ใช่ 2 เท่าตามที่เห็นจากคะแนนดิบ)” 

ทั้งนี้ ทางทีมไทยรัฐพลัสตรวจสอบผลการเลือกตั้งล่วงหน้าในปี 2566 ผ่าน กกต. พบว่า คะแนนที่ปดิพัทธ์ได้จากการเลือกตั้งล่วงหน้ามีเพียง 4,709 คะแนน โดยแบ่งเป็น เลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักรรวม 4,671 คะแนน เลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง 38 คะแนน 

พรรคประชาชนแพ้เพราะการร่วมมือของพรรคอื่น?

ความเป็นไปได้ถัดมาคือ พรรคเพื่อไทยได้รับความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ

คะแนนที่เพิ่มขึ้นของพรรคเพื่อไทยนั้น อาจเป็นผลมาจากที่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีเพียง 2 พรรค คือพรรคประชาชน ที่ขณะนี้เป็นฝ่ายค้าน และพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบาล ส่วนพรรคอื่นๆ ไม่มีใครส่งผู้สมัครลงแข่งเลย โดยเฉพาะพรรคร่วม เพื่อหลีกทางให้เพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงไปเต็มๆ เพียงพรรคเดียว เรียกได้ว่าตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลนั้นเหนียวแน่นมากๆ แตกต่างกับยุคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ในการเลือกตั้งซ่อมยังคงส่งแข่งกันเอง 

จเด็ศ จันทรา

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ บุคลากรระดับหัวคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ได้ลงมาสนับสนุนการหาเสียงของ จเด็ศ จันทรา ผู้สมัครจากเพื่อไทย ในหลายๆ ด้าน ทั้งร่วมขบวนรถแห่ ทำโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลดีคือทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเยอะขึ้น และสิ่งนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าใช้โครงสร้างของการเมืองท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม สิ่งนี้อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคต

การจับมือที่เหนียวแน่นก็คล้ายกับภาพของการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี ที่ วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.ราขบุรี สมัยที่ผ่านมา ซึ่งลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เอาชนะ ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครนายกฯ อบจ.ราชบุรี ของพรรคประชาชนไปได้แบบทิ้งห่างหลายหมื่นคะแนน  

จากการเลือกตั้ง นายกฯ อบจ. พบว่า วิวัฒน์ได้แรงสนับสนุนจาก สส.ทุกพรรค ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย รวมวงหนุนให้การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ชนะพรรคก้าวไกล การรวมมือกันเพื่อทำให้พรรคส้มนั้นไม่โตไปกว่านี้ถือว่าเป็นข้อดีของกลุ่มอำนาจเก่า เพราะพรรคส้มนั้น มีอุดมการณ์ที่แตกต่างจากกลุ่มอำนาจเก่าเป็นอย่างมาก  

ขณะเดียวกันมีผู้โหวตไม่ลงคะแนนเสียงถึง 7,204 คะแนน คือ ไม่เลือกใครเลย เสียงตรงนี้คือของพรรคส้มที่หายไปเช่นกัน หรือคือผลสะท้อนคนที่เบื่อการเมืองแล้วเลยไม่เลือกสักฝ่ายใด 

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา กลุ่มการเมืองเก่ามักที่จะแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งและค่อยจับมือเมื่อรู้ว่าใครมีเสียงในมือมากกว่ากัน แต่มาขณะนี้กลุ่มการเมืองเก่าเดินเกมผนึกกำลัง เพื่อเอาชนะ พรรคส้ม ซึ่งในการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะมีขึ้นในต้นปี 2568 จะยิ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าพรรคส้มนั้น จะต้องยืนอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางกลุ่มอำนาจเก่าที่ตอนนี้เลือกผนึกกำลังจำกัดพรรคส้ม เพราะยิ่งยุบยิ่งโตนั้น อาจจะสู้การจับมือกันของกลุ่มการเมืองเก่าไม่ได้ 

ฝ่ายอนุรักษนิยมยังหาที่ลงไม่ได้?

หากย้อนกลับไปตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2548 เป็นต้นมา พื้นที่พิษณุโลกเขต 1 (เน้นอำเภอเมือง เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งแตกต่างกัน) เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่ถือว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม โดย สส. จากพรรคสีฟ้า 3 สมัยคือ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม

หมอวรงค์ย้ายจากพรรคไทยรักไทยมาเข้าประชาธิปัตย์ ก่อนชนะเลือกตั้งเป็น สส.พิษณุโลกเขต 1 ทั้งปี 2548, 2550 และ 2554 แม้ว่าในช่วงขณะนั้นพรรคที่ชนะเลือกตั้งและมีอิทธิพลทางการเมืองสูงจะเป็นพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากการนำของ ทักษิณ ชินวัตร แต่พื้นที่ตัวเมืองพิษณุโลกก็ยังเป็นของประชาธิปัตย์อย่างแข็งแกร่ง และทำหน้าที่ตรวจสอบและเปิดโปงนโยบายจำนำข้าวในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเข้มข้น

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อภิปรายจำนำข้าว

ในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคที่มาแรงขณะนั้นคือ พรรคอนาคตใหม่ ที่ชูหลักการเปลี่ยนแปลงการเมือง ต่อต้านรัฐประหาร ทำให้ปดิพัทธ์ชนะเลือกตั้ง โดยหมอวรงค์แพ้เลือกตั้งได้อันดับ 3 

หลังจากนั้นไม่นาน หมอวรงค์กลายเป็นแกนนำของกลุ่มคนผู้รักสถาบัน เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันเมื่อปี 2563 และปีต่อมาได้ตั้งพรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นพรรคสายกษัตริย์นิยมขึ้นมา แต่ไม่ได้รับคะแนนในการเลือกตั้ง 2566 มากพอที่จะเข้าสภา

หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 เกิดการชุมนุมทางการเมือง หนึ่งในแนวทางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือ แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งในยุคของพรรคก้าวไกล การแก้ไขมาตรา 112 เคยพยายามยื่นเข้าสภาในปี 2564 และถูกบรรจุลงในนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566

ในการเลือกตั้ง 2566 ปดิพัทธ์และพรรคก้าวไกลยังชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยฐานเสียงสำคัญของพรรคส้มคือเขต 1 หรือเขตตัวเมืองของหลายจังหวัด 

มีการวิเคราะห์ว่า กลุ่มชนชั้นกลางในตัวเมืองมักต้องการนักการเมืองมือสะอาดมาเป็นผู้แทน ดังจะเห็นได้จากกระแสสูงของพรรคส้ม ที่นำเสนอการปฏิรูปการเมือง ไม่มีภาพลักษณ์ของนักการเมืองแบบเก่าที่มีข้อหาคอร์รัปชันติดตัว 

พื้นที่พิษณุโลกเขต 1 อาจเป็นเช่นนั้น หากย้อนไปถึงยุคของหมอวรงค์ ในนามประชาธิปัตย์ มาจนถึงปดิพัทธ์ในนามพรรคก้าวไกล สมมติฐานที่ว่า ชนชั้นกลางในเมืองต้องการนักการเมือง ‘คนดี’ อาจใช้ได้ในระดับหนึ่ง 

แต่เมื่อก้าวไกลถูกยุบจากนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ทำให้บางคนมองพรรคส้มว่าเป็นพรรคที่มีแนวคิด ‘ล้มเจ้า’ เต็มตัว โดยเฉพาะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ภาพนักการเมืองคนดีเริ่มถดถอย ไม่ได้ใจจากอนุรักษนิยม

ข้ามมาเพื่อไทย หลังการกลับบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย ที่พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล แม้จะได้รับความไว้วางใจจากชนชั้นนำแทนที่พรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติที่มีบทบาทลดลงไป และไม่แก้มาตรา 112 แต่ข้อหา ‘ตระบัดสัตย์’ และการกลับมาของทักษิณ ก็ทำให้มวลชนอนุรักษนิยมบางคนไม่อาจวางใจ ขณะที่บางคนอาจเลือกเพื่อไทยด้วยเหตุผลในแบบ ‘ชั่วร้ายน้อยกว่า’ (the lesser of two evils) 

อีกความเป็นไปได้หนึ่งที่แสดงความสับสนของมวลชนอนุรักษนิยมคือ โพสต์ของหมอวรงค์ ที่ออกมาเตือนว่า

อีกความเป็นไปได้หนึ่งที่แสดงความสับสนของมวลชนอนุรักษนิยมคือ โพสต์ของหมอวรงค์ ที่ออกมาเตือนว่า 

#ชัยชนะของชาวพิดโลก

ผลการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต1 มีสถิติที่น่าสนใจ แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายชนะพรรคประชาชน ด้วยคะแนน 37,209 คะแนน ต่อ 30,640 คะแนน แต่คะแนน vote no เป็นเป็นกอบเป็นกำสูงถึง 7,261 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 54.95 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่า

1.ถ้าพรรคประชาชนได้คะแนน vote no นี้ไป พรรคประชาชนจะเป็นผู้ชนะ ในการเลือกตั้งซ่อมทันที

2.ถ้าพรรคเพื่อไทยได้คะแนน vote no นี้ไป จะทำให้พรรคเพื่อไทยชนะทิ้งขาด พรรคประชาชนแบบไม่เห็นฝุ่น

3.คะแนน vote no เป็นคะแนน ที่ไม่เอาทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และเป็นคะแนนที่มากพอ ที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ดังนั้นทั้งสองฝ่ายนี้ต้องฟังประชาชน ว่าประชาชนเบื่อพวกคุณ

วันนี้ประชาชนชาวพิษณุโลกเขต1 ได้แสดงออกอย่างชัดเจน แม้คนเหล่านี้จะไม่ต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็ได้ แต่ก็ยังยอมเสียเวลา เพื่อเตือนสติทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน

พรรคประชาชนต้องเข้าใจว่า ยิ่งยุบยิ่งโตนั้นไม่จริง ต้องหยุดความคิดล้มล้างการปกครองฯ ส่วนพรรคเพื่อไทย ต้องหยุดเหิมเกริม ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย ทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ พวกคุณต้องฟังเสียงประชาชนกลุ่มนี้ กลุ่ม vote no นี่คือชัยชนะของประชาชนชาวพิษณุโลก

แม้ในวันนี้จะเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล ที่ร่วมมือกันให้ทำให้พรรคประชาชนแพ้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ แต่อย่างคำที่ว่า ‘สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร’ เพราะนี่เป็นเพียงสงครามย่อย แต่ศึกที่แท้จริงนั้นคือเลือกตั้งใหญ่ 2570 ที่ชี้วัดทั้งจากผลงานรัฐบาลและพฤติกรรมดี ชั่ว เช่นกัน 

ยังมีปัจจัยทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นอีกมาก ที่เป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้งครั้งนี้ และผลที่ออกมา น่าจะทำให้ทั้งสองพรรคใหญ่เร่งถอดบทเรียน เพื่อรอรับมือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึงในต้นปีหน้า และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ชี้ชะตาที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2570 ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของไทยจะยังไว้ใจพรรคส้มเหมือนเดิม หรือการทำงานอีก 3 ปีของเพื่อไทยจะซื้อความมั่นใจกลับมาได้

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ