เชื่อว่าหลายคนน่าจะประทับใจคลิปที่รถใหญ่พากันชะลอความเร็วแล้วช่วยบังลมที่กระโชกแรงให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางด่วนในเวียดนาม รวมถึงรับรู้ถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดจากพายุยางิ
แต่ก็น่าแปลกใจ ที่แม้เราจะมีหน่วยงานกลางในการรับมือภัยพิบัติอย่าง ‘กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย’ (ปภ.) รวมถึง ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้วก็ตาม แต่การรับมือกับภัยน้ำท่วมฉับพลันครั้งนี้อาจไม่ใกล้เคียงกับสโลแกน ‘ปภ. 4.0’ ทว่าดูเหมือนย้อนกลับไปในยุคที่ ปภ. นิยามว่าเป็นการรับมือภัยพิบัติเชิงรับหรือก่อนปี 2545 เสียอีก
ทำอย่างไรประเทศไทยจะบริหารจัดการภัยพิบัติเชิงรุก งบประมาณและสัดส่วนในการใช้งบประมาณเพื่อรับมือภัยพิบัติเป็นอย่างไร ระบบเตือนภัยฉุกเฉินมีส่วนแค่ไหน และเมื่อไรเราจะเข้าใกล้การเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนเพื่อให้การช่วยเหลือด่วนเป็นไปได้จริง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เชียงรายต้องเผชิญอย่างการหิ้วท้องรอความช่วยเหลือบนหลังคาชั้นสองนานสองวัน รวมถึงสามารถอพยพผู้ป่วยติดเตียงและผู้ประสบภัยออกมาได้อย่างทันท่วงที
ประเทศไทยมีหน่วยงานเพื่อรับมือภัยพิบัติ แต่มักถูกตั้งคำถามว่า สามารถส่งคำเตือนถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า และระบบเตือนภัยที่มีหลายระบบทำงานเชื่อมประสานกันหรือไม่
หลังจากกรณีน้ำท่วมแม่สาย มีผู้เรียกร้องให้มีระบบเตือนภัยยามเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert System) โดยเร็วที่สุด โดยเมื่อปีที่แล้วกระแสเรียกร้องเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างมากหลังเหตุกราดยิงในห้างสยามพารากอน
ประเทศไทยมีแผนจะให้บริการระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือในชื่อ ‘Thai Alert’ ด้วยระบบเซลล์ บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) ช่วงต้นปีหน้า
ในปี 2567 นี้ รัฐบาลได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติบนแอปพลิเคชันไลน์ (Line Alert) และประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา แม้อาจยังไม่ครอบคลุมมากพอที่จะป้องกันเหตุได้อย่างเต็มที่ แต่นับเป็นการแสดงความตั้งใจในการปรับปรุงเรื่องนี้
17 กันยายน ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ในพื้นที่น้ำท่วมแล้ว และได้แนะนำแพลตฟอร์ม Help T (ช่วยด้วยน้ำท่วม) ที่ให้องค์กรท้องถิ่นแจ้งเตือนภัย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) และ กสทช. ผ่านไลน์ในชื่อ @HelpT
หนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จในการจัดการความเสี่ยงสาธารณภัยของประเทศคือ เพิ่มขีดความสามารถระบบเตือนภัย โดยจัดหาเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ และประชาชนสามารถเข้าถึงการแจ้งเตือนภัยและข้อมูลความเสี่ยงสาธารณภัย ซึ่งระบุไว้ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570
ขณะที่หน่วยงานเจ้าภาพในการรับมือภัยพิบัติอย่าง ปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังภัยน้ำท่วมฉับพลันมาตั้งแต่ 5 กันยายน หรือก่อนที่ไต้ฝุ่นยางิจะพัดถล่มกรุงฮานอยของเวียดนาม 2 วัน โดยระบุว่าระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน มี 64 จังหวัดในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมด้วยแผนที่ประเทศไทยระบุพื้นที่เสี่ยงด้วยสีฟ้าสดใส
เหตุผลหนึ่งที่การเตือนภัยนี้ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควรอาจมาจากปัญหาด้านการสื่อสาร เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คุ้นชินกับน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลันอยู่แล้ว การเตือนภัยแบบเหมารวมเกินไปเช่นนี้ อาจทำให้ผู้รับสารนิ่งนอนใจ และมองว่าไม่น่าจะหนักหน่วงกว่าที่เคยประสบมา
นอกจากนี้ ปภ. ยังมีแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัย Thai Disaster Alert ในทุกระบบปฏิบัติการ และส่งสัญญาณเตอนอัตโนมัติตามพื้นที่ที่เลือกไว้ (เลือกได้ 3 พื้นที่) โดยสามารถทำการแจ้งเตือนสาธารณภัยร้ายแรง เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น หากพื้นที่ไหนมีความเสี่ยง จะแสดงแถบสีในพื้นที่จังหวัดนั้น
กรมทรัพยากรน้ำก็มีระบบเตือนภัยล่วงหน้ากรณีน้ำหลากและดินถล่มในเว็บไซต์ โดยปรากฏแผนที่ประเทศไทยพร้อมระบุระดับสถานการณ์เตือนภัย 4 ระดับ วัดจากปริมาณน้ำฝนสะสม 12 ชั่วโมง และปริมาณน้ำฝนราย 15 นาที
อีกเหตุผลที่น่ารับฟังคือ การที่ ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ถูกลดบทบาทลง จากเดิมในยุคก่อตั้งเมื่อปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ (ธันวาคม 2547)
หากประชาชนเข้าถึงการเตือนภัยเร็วและมีประสิทธิภาพเท่าไร ย่อมส่งผลให้การเยียวยาและบรรเทาทุกข์ซึ่งเป็นปลายเหตุลดลงได้มากเท่านั้น
แต่ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่การเตือนภัยได้ทันท่วงทีเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกลับล้มเหลวในการให้ความช่วยเหลือประชาชน และต้องหันหน้ามาพึ่งพาประชาชนด้วยกันเอง
ย้อนกลับไปในช่วงวันที่เชียงรายฝนตกหนักต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันเมื่อ 9-10 กันยายน ตรงกับวันที่อธิบดี ปภ. เข้าเยี่ยมคารวะ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันแรก
ย้อนไปเมื่อ 6 กันยายน เพจเฟซบุ๊ก ปภ. ระบุว่า
“ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในห้วงปัจจุบัน พร้อมประสานการปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 12 หน่วยงาน รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดร่วมประชุมฯ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex)”
หมายความว่า มีการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้าแล้ว แต่ไม่สามารถจัดการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อุปสรรคอยู่ตรงไหน การรอคำสั่งจากส่วนกลางในระดับรัฐมนตรี ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีคำสั่ง top-down หรือการเปิดศูนย์ ศปภ. ช่วยเหลือน้ำท่วมรวมถึงวอร์รูมรับมือน้ำท่วมในวันที่ 16 กันยายน เป็นการตอบสนองที่ทันสถานการณ์มากน้อยเพียงใด
พายุไต้ฝุ่นยางิคร่าชีวิตผู้คนไป 59 คน และสร้างความเสียหายใหญ่หลวงในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คนในเวียดนาม 20 คนในฟิลิปปินส์ และ 4 คนในจีน เนื่องจากดินถล่ม น้ำท่วม และผลกระทบอื่นๆ จากพายุนี้
ช่วงเที่ยง ปภ.เชียงราย รายงานกรณีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ 9 – 10 กันยายน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย และเชียงของ จากนั้น 15.00 น. ปภ.เชียงราย อัปเดตสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน
สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย รายงานข้อมูลเวลา 23.02 น. สถานการณ์น้ำท่วมน้ำหลาก พื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดง (มวลน้ำเยอะ ไหลเชี่ยว มีความลึก) ได้แก่ สายลมจอย หัวฝาย ไม้ลุงขน ผามควาย เกาะทราย เหมืองแดง เหมืองแดงใต้ เพชรยนต์
เป็นวันที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันเดียวกัน 15.30 น. มีการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยมี มท.1 เป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบอุทกภัย และช่วงสามทุ่มคืนนั้น ศูนย์ ปภ. เชียงราย นำรถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำรัดตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย อย่างต่อเนื่อง
มีประชุมด่วน กอปภ.ก. โดยช่วงสาย ปภ. ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 และทีมกู้ภัย The Guardian Team เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย โดยทำภารกิจลำเลียงอาหาร-น้ำดื่ม ส่งช่วยครูและนักเรียน 140 ชีวิต ที่โรงเรียนสามัคคีพัฒนา บ้านม้งเก้าหลัง อำเภอแม่ฟ้าหลวง น้ำไฟ-ตัดขาดสัญญาณ บ้านพักครูถูกดินสไลด์ทับ มีดินสไลด์ปิดถนน เสาไฟฟ้า-ต้นไม้หัก
ต่อมา KA-32 รับภารกิจด่วน วางแผนขึ้นบินช่วยเหลือผู้สูงอายุติดอยู่ในที่อยู่อาศัยบ้านชั้นเดียว หมู่ 10 บ้านไม้ลุงขน ตำบลแม่สาย จำนวน 3 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียง 1 ราย ตั้งแต่คืนวันที่ 10 กันยายน
ช่วงค่ำ รถสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเดินทางถึงแม่สาย
นอกจากคำถามที่เกิดขึ้นว่า สาเหตุที่ประเทศไทยมีจิตอาสา อาสาสมัคร และภาคเอกชนที่ร่วมมือร่วมใจกันและเข้มแข็งมากขนาดนี้มาจากอะไร อีกประเด็นที่หลายคนยังคงสงสัย นั่นคือหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติโดยตรงอย่างกองทัพ กลับมีบทบาทโดดเด่นและชัดเจนกว่า เช่น กรณีที่ส่งรถสะเทินน้ำสะเทินบกช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ในบ้านพัก หรือศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ที่ส่งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รวมถึงกำลังพล รถยกสูง เครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ ตลอดจนถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งของจำเป็นที่กองทัพอากาศได้รับบริจาคจากประชาชน ไปส่งมอบแก่ผู้ประสบภัย
เวลาเกิดเหตุภัยพิบัติแทบทุกครั้ง ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีการระดมอาสาสมัคร จิตอาสา รวมถึงเอกชนเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ประเทศไทยเราไม่เตรียมงบให้เพียงพอรับมือเรื่องนี้หรือ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาซ้ำซากที่ประชาชนต้องประสบอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อได้เห็นตัวเลข เราอาจตกใจที่ใช้งบประมาณไปกว่า 53,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากอย่างน้ำท่วม (จากงบประมาณปี 2566 ทั้งหมด 3.185 ล้านล้านบาท ประกาศใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดย Rocket Media Lab คำนวณจากงบประมาณรายโครงการของ 77 จังหวัด แบ่งลักษณะงานออกเป็น 5 ประเภทเพื่อหาคำตอบว่างบแก้ปัญหาน้ำท่วมถูกใช้ทำอะไรบ้าง
จะเห็นได้ว่างบแก้น้ำท่วมถูกนำไปใช้กับโครงการก่อสร้างมากที่สุด
เมื่อแบ่งกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำท่วมเป็นประเภทต่างๆ พบว่าเป็นงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 19,821 ล้านบาท คิดเป็น 37.13 เปอร์เซ็นต์ของงบน้ำท่วมทั้งหมด
จากงบประมาณที่จำแนกรายกระทรวงพบว่า กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมรวมกัน 86.1 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่งบอีกส่วนหนึ่งกระจายให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันแล้วน้อยกว่างบประมาณจากส่วนกลาง 10 เท่า
อีกจุดน่าสังเกตคือ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบกองทัพ ได้รับงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมสูงกว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการขุดลอกลำน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ มี 37 จังหวัดที่ได้รับงบจัดการน้ำท่วมจากกระทรวงกลาโหม
ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลหรือรวบรวมข้อมูล ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับงบประมาณน้อยกว่ามาก
จากข้อมูลงบน้ำท่วมปีงบประมาณ 2566 สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะเขื่อนป้องกันตลิ่งที่กระจายอยู่ตามแม่น้ำสาขาทั่วประเทศ และแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหลายจังหวัด
มีข้อสังเกตว่างบสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งนี้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณศึกษาการก่อสร้างของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ปี 2554 - 2564 จากเดิม 5,900 ล้านบาท เป็น 19,821 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับงบประมาณหลัก ขณะที่กระทรวงคมนาคมมีสัดส่วน 2.36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะเดียวกันพบว่างบประมาณบำรุงรักษาระบบเตือนภัยต่างๆ มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่นๆ
นอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว การแก้ปัญหาน้ำท่วมยังมีงบประมาณรายจ่าย ‘งบกลาง’ ที่จัดสรรเพิ่มเติมจากงบประมาณของหน่วยงานรับงบประมาณ เป็นรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ผ่านการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีปีงบประมาณ 2560 – 2566
สำหรับปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลอนุมัติงบกลางกรณีอุทกภัยมาแล้ว 3 ครั้ง คือวันที่ 25 มิถุนายน 13 สิงหาคม และ 3 กันยายน รวม 22,967.75 ล้านบาท มีทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในฤดูฝนและกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง ซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหาย และฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
ล่าสุดเมื่อ 13 กันยายน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ได้มีการจัดเตรียมงบกลาง ซึ่งจะนำมาช่วยประชาชนได้ทันที รวมทั้งการเยียวยาขอให้ทำทันที ไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อน
นอกจากงบกลางแก้น้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว งบประมาณบางส่วนยังเป็นงบประเภทเดียวกับงบประมาณประจำปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำ การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ รวมถึงการขุดลอกแหล่งน้ำ ซึ่งมีงบประมาณรวมกันเกือบ 16,695 ล้านบาท
จากบทบาทของเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีปฏิบัติการทั้งในภารกิจดับไฟป่าภาคเหนือ รวมถึงช่วยอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงรายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญจึงเสนอว่า ปภ. ควรเพิ่มจำนวนเฮลิคอปเตอร์ KA-32 จากเดิมที่มี 4 ลำ และเพิ่งได้รับงบประมาณเพื่อจัดหาอีก 2 ลำในปีงบประมาณ 2568
ปลายปี 2560 มีการยกเลิกประกาศประกวดราคาเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวจำนวน 2 ลำ โดย ปภ. ให้เหตุผลว่า มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และเสนอราคาเกินวงเงินงบประมาณ โดยเอกชนได้เสนอราคามาถึง 1,862 ล้านบาท ขณะที่ราคากลางกำหนดไว้ที่ 1,700 ล้านบาท
ข้อมูลจาก aircraftcompare.com เว็บไซต์เปรียบเทียบข้อมูลอากาศยานทั้งพลเรือนและทหาร พบว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่น KA-32 มีราคาอยู่ที่ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อลำ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 213 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2560) ดังนั้นราคาจัดซื้อ 2 ลำจะอยู่ที่ 426 ล้านบาท ไม่รวมแพคเกจการดูแลรักษา
ส่วน thaiarmforce.com เปรียบเทียบราคาเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยกับเฮลิคอปเตอร์วีไอพี 2 ลำ ราคา 3,300 ล้านบาท ที่มีแผนจะจัดซื้อในปี 2568 โดยราคาดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเป็นเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยได้อย่างน้อย 3 ลำ และระบุว่าตอนนี้ไทยมี ฮ.วีไอพี มากกว่า ฮ.กู้ภัย เกือบ 1 เท่า
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์วีไอพีมาแล้ว 5 ลำ และยังมีสภาพใหม่อยู่มาก ไม่นับ S-92 ที่อายุการใช้งานราว 10 กว่าปีอีก 5 ลำ ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามีภารกิจและความจำเป็นใดจึงต้องมีการจัดหาเพิ่มอีก 2 ลำ
มีรายงานว่าในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณฯ ปี 68 ผู้แทนกองทัพอากาศชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีความจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ในการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยมีเฮลิคอปเตอร์เตรียมพร้อมที่กองบินต่างๆ 12 ลำ ถ้ามีอีก 2 ลำ จะรวมเป็น 14 ลำทำให้ดำรงภารกิจนี้ได้
อย่างไรก็ตาม การมีเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยมิใช่ทางออกเดียวในการรับมือภัยพิบัติ ด้วยข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ไม่ควรใช้ในสภาพอากาศแปรปรวน เนื่องจากอาจกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัยให้เสี่ยงกว่าเดิม
ใช้ระบบแจ้งเตือนสำหรับเหตุฉุกเฉิน (EAS) ตั้งแต่ปี 1997 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน นำโดยสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA) ร่วมกับคณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารกลาง (FCC) และองค์กรบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA)
ในช่วงที่มีเหตุฉุกเฉินระดับประเทศ ผู้แพร่ภาพกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ เคเบิลทีวีทุกรูปแบบ และผู้ให้บริการดาวเทียม ต้องให้ประธานาธิบดีสามารถแจ้งเหตุแก่ชาวอเมริกันภายใน 10 นาที
ส่วนการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินแบบไร้สาย (Wireless Emergency Alerts: WEA) เป็นข้อความสั้นๆ ที่ความยาวไม่เกิน 360 ตัวอักษร ซึ่งจะส่งไปยังโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งข้อมูลสำคัญ
FEMA มีฐานะเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งคือ 1979 แต่หลังเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ถัดมาอีก 2 ปีหน่วยงานนี้ได้เข้าไปอยู่ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ
เมื่อปี 2021 มีการทดสอบ EAS ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 6 โดยก่อนหน้านี้ดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2011, กันยายน 2016 และ 2017, ตุลาคม 2018 และสิงหาคม 2019 โดยร่วมมือกับสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และเจ้าหน้าที่จัดการเหตุฉุกเฉิน
ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สหรัฐฯ เตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินทั้ง WEA ควบคู่กับ EAS ส่งข้อความฉุกเฉินหาโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วสหรัฐฯ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการส่งข้อความแจ้งเตือนใดๆ ต่อมาช่วงปลายเดือนตุลาคมได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.7 แมกนิจูด ในย่านเบย์แอเรีย ซานฟรานซิสโก ประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าได้รับข้อความแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ
หากมีคำสั่งอพยพ สิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นแนะนำให้ชาวอเมริกันตระเตรียมคือ GO kit ที่สามารถบรรจุน้ำและอาหารปรุงง่ายสำหรับ 3 วัน ไฟฉาย อุปกรณ์สื่อสารและแบตเตอรีสำรอง ยา และเอกสารประจำตัว
ใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าแห่งชาติ (National Early Warning System) ผ่านดาวเทียม หรือ J-Alert ตั้งแต่ปี 2007 และครอบคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในปี 2009 โดยงบประมาณของปี 2009 อยู่ที่ 900 ล้านเยน หรือราว 250 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนปี 2563) หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ หน่วยงานดับเพลิงและป้องกันสาธารณภัย (FDMA)
ปภ. ประเทศไทยได้ลงนามทวิภาคีด้านการจัดการสาธารณภัยร่วมกับ FDMA ในปี 2005 (พ.ศ. 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ)
J-Alert เป็นระบบที่ช่วยให้ทางการส่งสัญญาณเตือนไปยังสื่อท้องถิ่นและประชาชนโดยตรงได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบลำโพง โดยใช้เวลาประมาณ 1 วินาทีในการแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทราบ และ 4-20 วินาทีในการส่งต่อข้อความไปยังประชาชน
การเตือนภัยที่ประชาชนได้รับจาก J-Alert
1. เตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า
2. เตือนภัยสึนามิ
3. เตือนภัยภูเขาไฟระเบิด
4. ข้อมูลสภาพอากาศเลวร้าย
5. ภัยคุกคามฉุกเฉินอื่นๆ ได้แก่ การโจมตีด้วยขีปนาวุธ การโจมตีทางอากาศ การก่อการร้าย
6. ข้อมูลเกี่ยวกับภัยอันตรายและการอพยพ
คำเตือนทั้งหมด ยกเว้นคำเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศเลวร้าย จะเผยแพร่ 5 ภาษา ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีนกลาง เกาหลี และโปรตุเกส
หนึ่งในภัยพิบัติรุนแรงที่สุดของญี่ปุ่นคือเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 22,000 ราย กุญแจสำคัญในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิคือการอพยพไปยังพื้นที่สูงทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลท้องถิ่นมักใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงแจ้งข้อมูลการอพยพ
จากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร พบว่า ประชากร 35 เปอร์เซ็นต์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิไม่ได้ยินข้อมูลเสียงจากลำโพง การปรับปรุงระบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ทาเคฮิโกะ อิมาอิ ประธานฝ่ายนโยบายข้อมูลข่าวสาร สำนักกิจการทั่วไปและการวางแผน เมืองเซนได สรุปสาเหตุที่เป็นไปได้ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้ยินประกาศจากลำโพง ได้แก่ อุปกรณ์กระจายเสียงไม่ทำงานเนื่องจากผลกระทบของแผ่นดินไหว และเสียงจากลำโพงฟังได้ยาก จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาลำโพงที่ช่วยให้ได้ยินดีขึ้น
นอกจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งได้ติดตั้งวิทยุกระจายเสียงเพื่อป้องกันภัยพิบัติ (ระบบกระจายสัญญาณหลายจุด) จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาวิธีการส่งข้อมูลที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นผ่านเครื่องมือที่มีอยู่
ในญี่ปุ่นยังมีการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวโดยเฉพาะคือ Earthquake Early Warning system หรือ EEW ให้บริการโดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ตั้งแต่ปลายปี 2007 ซึ่งประชาชนจะได้รับแจ้งล่วงหน้าถึงความรุนแรงของแผ่นดินไหวโดยประมาณและเวลาที่คาดว่าจะเกิด การประมาณการเหล่านี้มาจากการวิเคราะห์จุดศูนย์กลางและขนาดของแผ่นดินไหวโดยใช้ข้อมูลลักษณะของคลื่นที่ตรวจพบโดยเครื่องวัดแผ่นดินไหวใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
JMA ยอมรับว่าการเตือนนี้อาจมีข้อจำกัด เช่น อาจเตือนกระชั้นไปในไม่ถึงนาที หรือเกิดข้อผิดพลาดได้เพราะใช้ข้อมูลจากเครื่องวัดตัวเดียว
ในปี 2012 มีการเปิดตัวบริการอีเมลแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลัก 3 ราย โดยอัตราการเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นอีกวิธีการส่งข้อมูลที่จำเป็นอย่างรวดเร็วไปยังคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้บริการมือถือ
อีกบทเรียนที่ได้คือ แม้ประชาชนได้รับข้อมูลให้อพยพก็จริง แต่กลับไม่ได้นำไปสู่พฤติกรรมการอพยพ การเก็บข้อมูลจากผู้ประสบภัยพบว่า ประชาชนราว 40 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อพยพออกนอกพื้นที่ แม้มีการประกาศเตือนภัยสึนามิครั้งใหญ่
ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การรับทราบข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การอพยพจริงๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลท้องถิ่นไม่เพียงต้องพยายามสื่อสารข้อมูลการอพยพเท่านั้น แต่ยังต้องปรับปรุงการเรียนรู้เรื่องการป้องกันภัยพิบัติรวมถึงการซ้อมอพยพที่เชื่อมโยงกับการอพยพในทางปฏิบัติด้วย
วันที่ 1 กันยายนของทุกปีคือวันป้องกันภัยพิบัติของญี่ปุ่น มีที่มาจากเหตุแผ่นดินไหวคันโตครั้งใหญ่เมื่อปี 1923 ในวันดังกล่าว หน่วยงานท้องถิ่นจะจัดฝึกซ้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ การฝึกซ้อมประกอบด้วยการก้มตัวใต้โต๊ะเพื่อหลบสิ่งที่จะร่วงลงมา และการอพยพออกจากอาคารทั่วไปรวมถึงโรงเรียนประถมและมัธยม
ปกติแล้ว 1 กันยายนเป็นวันเปิดเรียนหลังจากปิดเทอมฤดูร้อนด้วย ดังนั้นการฝึกซ้อมอพยพในโรงเรียนจึงถือเป็นหนึ่งในพิธีการ back to school ของเด็กๆ ที่มีส่วนสร้างความตระหนักรู้และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้