ในวันแถลงนโยบายต่อสภา แพทองธาร ชินวัตร เปรยถึงเสียงของประชาชนที่สะท้อนต่อ สส. ว่า ไม่เอาดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ให้แก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดก่อน อาจมีนัยสำคัญว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 ไม่ได้ไปต่อ หรือถูกเลื่อนออกไปก่อน เนื่องรัฐบาลใหม่ไม่ได้มองว่าเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยขณะนี้
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาท ปัจจุบันมีความชัดเจนแล้วว่าจะทำการแจกเงิน 10,000 บาทแน่ๆ ในวันที่ 25 กันยายนนี้ ‘แต่’ คำนี้คงต้องเน้นย้ำ เพราะโครงการนี้เริ่มแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางก่อน โดยใช้งบประมาณ 14.55 ล้านบาท
โครงการแจกเงินนี้รัฐบาลเพื่อไทยมีการพยายามทำมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปรับกรอบวงเงินมาเรื่อยๆ จากโครงการ 500,000 ล้านบาท เป็น 450,000 ล้านบาท แล้วเปลี่ยนจากออกพระราชบัญญัติกู้เงิน มาใช้เป็นงบประมาณประจำปี 2568 และใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 2567 และงบกลาง เพื่อมาทำโครงการนี้ รวมถึงประชาชนจะได้ใช้เงินเมื่อไหร่รัฐบาลก็ประกาศเลื่อนมาตลอด 1 ปี เช่นกัน
แต่หลังจาก แพทองธาร ชินวัตร ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โครงการนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนถามหาความชัดเจนว่าจะสานต่ออย่างไร เพราะเป็นนโยบายหาเสียงหลักของเพื่อไทย ซึ่งสุดท้ายการสานต่อจะเริ่มแจกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อน แต่คำถามถัดมาคือ แล้วความชัดเจนของเฟส 2 หรือ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์การได้รับดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะแจกเมื่อไหร่และแจกอย่างไร
หากถามถึงเงินที่จะแจกให้กับประชาชนตอนนี้ รัฐบาลได้งบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเงินก้อนสุดท้ายที่ต้องใช้งบประมาณปี 2568 ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แล้ว แต่คำถามต่อมาคือ จะแจกเมื่อไหร่และอย่างไร จะทันไตรมาส 4 ปีนี้ตามที่วางไว้หรือไม่ เพราะการอัปเดตล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง
ประเด็นแรกคือ การประกาศผลผู้ได้รับสิทธิจากการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ที่จะเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากกำหนดการเดิมในวันที่ 22 กันยายนนี้
อีกทั้งยังเลื่อนการลงทะเบียนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนออกไป โดย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่า การเลื่อนลงทะเบียนกลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานกับกลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มเปราะบาง แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนต่อไปหลังจากได้โอนเงินกับกลุ่มแรกเสร็จแล้ว
การโอนเงินของกลุ่มเปราะบางนั้นจะสิ้นสุดปลายเดือนกันยายนนี้ แต่จะมีการโอนเงินรอบเก็บตกอีก 3 รอบ คือ 22 ตุลาคม 22 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม ซึ่งคำว่า ‘โอนเงินกับกลุ่มแรกเสร็จแล้ว’ จะรวมระยะเวลาถึงรอบเก็บตกด้วยหรือไม่
ส่วนการแจกเงินที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอาจจะแบ่งจ่ายเป็นครั้งละ 5,000 บาทหรือไม่ รัฐบาลก็ยังคงไม่มีคำตอบ เพียงแต่บอกว่าต้องรอดูยอดคนลงทะเบียนทั้งโครงการ
เท่ากับว่าจะเริ่มแจกเงินต่อนั้น ต้องรอแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางเสร็จสิ้นทั้งหมดก่อน แล้วรอกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียน และประกาศผลตรวจสอบสิทธิต้องเรียบร้อยทั้งหมด แต่ตอนนี้ทุกอย่างถูกเลื่อนออกไปแบบ ‘ไม่มีกำหนด’
แล้วผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเมื่อไหร่ นโยบายหาเสียงหลักของเพื่อไทยที่พยายามผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาว่าจะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ - คำตอบยังอยู่ในสายลม
ประเด็นที่ 2 ความชัดเจนในการแจกเงินให้กับประชาชนในเฟส 2 อย่างไร โดยแพทองธารได้แถลงในภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าการแจกเงินในเฟสแรกนั้นจะเป็นการแจกเงินสดจ่ายเข้าบัญชี จากนั้นแพทองธารยกหน้าที่ให้กับกระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด
การชี้แจงรายละเอียดของกระทรวงการคลังนั้น พิชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการดำเนินการในเฟส 2 ว่า ในระยะถัดไปรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมา 1 ชุด โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน
ซึ่งกรรมการชุดใหม่นี้จะเข้ามาแทนที่กรรมการชุดเดิมอย่าง คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่แต่งตั้งในยุครัฐบาลเศรษฐา ซึ่งสุดท้ายสำหรับเฟส 2 ความชัดเจนว่าแจกเมื่อไหร่และแจกอย่างไร เราทุกคนก็คงต้องรอคณะกรรมการชุดใหม่ ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไรต่อไปอีก
จากการแถลงนโยบายต่อสภาของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าธงของนายกฯ นั้นแตกต่างกับครั้งที่ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ แม้จะมาจากพรรคเดียวกัน
โดยเศรษฐาตอนที่แถลงนโยบายเมื่อ 11 กันยายน 2566 กรอบเป้าหมาย คือ การแก้ไขเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เน้นย้ำอยู่เสมอว่าไทยเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่แพทองธารมองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อย เนื่องจากปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง
รัฐบาลเศรษฐายกนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตขึ้นมาแถลงเป็นเรื่องแรก พร้อมหวังว่าโครงการนี้จะให้เป็นชนวนกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง และเน้นย้ำการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยสิ่งที่รัฐบาลจะได้คืนมาคือ ภาษี
ขณะที่แพทองธารหยิบเรื่องการผลักดันปรับโครงสร้างหนี้ขึ้นมาพูดเป็นอย่างแรก โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ลำดับที่ 5 ภายใต้กรอบ ‘รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ’ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รัฐบาลแพทองธารระบุชัดว่า ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก
การที่รัฐบาลใหม่ปรับแผน ไม่ได้ให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท เป็นอันดับ 1 ทั้งที่เป็นนโยบายที่ชูตอนหาเสียง อาจมีนัยสำคัญ เพราะโครงการดังกล่าวในยุคเศรษฐาเป็นนโยบายที่สำคัญมาก แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงความเหมาะสมและจำเป็นจากภาคนักวิชาการและองค์กรอิสระต่างๆ แต่ก็พยายามที่จะขับเคลื่อนโดยให้เหตุผลว่าเป็นวิธีแก้ ‘วิกฤติทางเศรษฐกิจ’
ในวันแถลงนโยบายต่อสภา แพทองธารเปรยถึงเสียงของประชาชนที่สะท้อนต่อ สส. ว่า ไม่เอาดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ให้แก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดก่อน และในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของแพทองธารก็เน้นให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก เรื่องนี้อาจมีนัยสำคัญว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟสที่ 2 อาจจะไม่ได้ไปต่อหรือถูกเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากรัฐบาลใหม่ไม่ได้มองว่าโครงการดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยขณะนี้
อีกมุมหนึ่ง การที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นถูกคัดค้าน และพูดถึงการหั่นงบประมาณของชาติที่จะนำมาแจกเงินกับประชาชนทุกคนอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลแพทองธารเลือกที่จะให้กลุ่มเปราะบางก่อน ตามที่ฝ่ายค้านเคยเสนอถึงความเหมาะสมในการแจกเงิน ดังนั้นโครงการนี้ก็ยังคงอยู่ในความเสี่ยงที่อาจไม่ได้ไปต่อ เพราะอย่างที่รู้กัน ตระกูลชินวัตรมักโดนคดีติดตัวจากนโยบายเรือธง ไม่ว่าจะในยุค ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ คดีหวยบนดิน ยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โดนคดีทุจริตจำนำข้าว ทำให้แพทองธารที่คงต้องพิจารณาให้รอบคอบอย่างมากว่าจะไปต่อในเฟส 2 หรือจะพอแค่นี้
อย่างไรก็ตาม ประชาชนคงทำได้แค่รอต่อไป ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะทำตามสัญญาที่เคยหาเสียงไว้ หรือจะผิดสัญญาอีกเหมือนครั้งตั้งรัฐบาล แต่สิ่งที่เราต้องติดตามหลังจากนี้ของ นายกฯ หญิง แพทองธาร คือการ ‘ให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่ประเทศ’ หรืออีกคำสัญญาที่ได้ลั่นวาจาไว้ต่อรัฐสภาที่ทรงเกียรติของไทย