การรายงานสถานภาพของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุสถานภาพร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านเว็บไซต์รายงานสารบบกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ระบุสถานภาพของร่างฯ ว่า พ้น 90 วัน พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง
จากนั้นปรากฏว่ามีการแก้ไขข้อความสถานภาพของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็น ‘รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา’ แต่ต่อมามีการแก้ไขอีกครั้งระบุว่า ‘ส่งร่าง พ.ร.บ. ให้คณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย’
ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากรัฐสภาว่าข้อความดังกล่าวที่มีการระบุพ้น 90 วันพระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง เป็นความผิดพลาดของเว็บไซต์
นับว่าเป็นความสับสนที่หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่าแท้จริงแล้ว เราต้องรออีกนานแค่ไหน เพื่อความคลี่คลาย ไทยรัฐพลัสพาสำรวจ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ว่าสรุปแล้วเมื่อพ้นกรอบเวลา 90 วัน ต้องมีลงพระปรมาภิไธยกฎหมายถึงจะบังคับใช้ได้ใช่หรือไม่ และประเทศไทยจะได้ใช้กฎหมายนี้เมื่อไหร่
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านด่านสุดท้ายอย่าง สว. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ต่อมาได้ทำหนังสือส่งคืนมายังสภาวันที่ 21 มิถุนายน และสภาฯ ได้ส่งหนังสือยืนยันมติดังกล่าวไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 มิถุนายน
ขั้นตอนต่อมาตามมาตรา 145 ระบุให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 20 วัน ซึ่งในขั้นตอนนี้ได้รับการยืนยันว่า นายกฯ ได้ทูลเกล้าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่ไม่มีการระบุชัดเจนว่าส่งเมื่อวันใด
หากคำนวณตามกรอบเวลากฎหมายหากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ไม่รอช้า หลังจากที่ได้หนังสือยืนยันมติเห็นชอบบวกไปอีก 5 วัน จะเท่ากับนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม เป็นวันแรก
ทั้งนี้ นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า นายกฯ กราบบังคมทูลร่างกฎหมายไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม
สำหรับคำที่มีการระบุในเว็บไซต์รายงานสารบบฯ ว่า พ้น 90 วัน พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งนั้น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 146 หากพระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือพ้นไปแล้ว 90 วัน ไม่ได้พระราชทานคืน ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันอีกครั้ง คือ สส. และ สว. สามารถลงมติยืนยันร่างกฎหมายนั้นอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา และให้นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ อีกครั้ง
ในการยื่นครั้งที่ 2 หากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เลย เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
ขณะนี้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมดังกล่าวยังอยู่ในกรอบเวลา 90 วัน เพื่อรอลงพระปรมาภิไธย โดยนายกฯ ทูลเกล้าฯ วันที่ 2 กรกฎาคม จะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายนนี้ และต่อให้นำทูลเกล้าฯช้าที่สุดคือ 21 กรกฎาคม ก็จะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 20 ตุลาคมนี้
หลังจากพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศแล้วต้องรอให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายใหม่นี้เตรียมตัว ดังนั้น หากไม่มีอะไรผิดพลาดมากกว่านี้ เราจะได้เห็นการใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมแน่ๆ ภายในปี 2568
เท่ากับว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมาบังคับใช้แน่นอน ถ้ารัฐสภายังคงยืนยันคำตอบเดิมคือ เห็นชอบต่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ส่วนจะได้ใช้เมื่อไหร่คงขึ้นอยู่กับขั้นตอนที่ต้องใช้เหตุผลและเวลาในการพิจารณา ซึ่งการออกกฎหมายมาบังคับใช้มีกรอบระยะเวลาและขั้นตอนกำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร
สามารถติดตามสถานภาพร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ที่ รายงานสารบบกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ