Humberger Menu

เมาเหล้าแล้วขับ ผิดกฎหมาย แล้ว ‘เมากัญชาแล้วขับ’ ผิดไหม?

ความคืบหน้ากฎหมายกัญชาที่จะปิดรับฟังความเห็นสิ้นเดือนกันยายนนี้ พูดเรื่องเมากัญชาแล้วขับหรือเปล่า?



ไทยผ่านการปลดล็อกกัญชามาแล้วกว่า 2 ปี แต่กฎหมายที่จะออกมาเพื่อควบคุมนั้นยังคงไม่ได้ข้อสรุป เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ทำให้การออกควบคุมกัญชาล่าช้า เช่น การเปลี่ยนผ่านรัฐบาล นายกรัฐมนตรีแต่ละคนก็มีความเห็นที่แตกต่างกันต่อพืชชนิดนี้ ที่เดิมเป็นยาเสพติดประเภท 5

รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร มีนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน ชัดเจนในเรื่องกัญชาว่า การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจและควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยการตรากฎหมาย ทำให้ขณะนี้เอง กระทรวงสาธารณสุขเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย จนถึง 30 กันยายนนี้ 

นอกจากการที่หลายคนต้องการกฎหมายออกมาควบคุมพืชชนิดนี้แล้ว เรื่องความมึนเมาจากการเสพกัญชาก็เป็นข้อห่วงใยที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับคนรอบข้างได้ เช่น การมึนเมากัญชาและขับขี่พาหนะ

เมื่อเปรียบเทียบกับสุราที่มีกฎหมายหลายฉบับควบคุม หากคุณเมาแล้วขับ จะผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางยกฯ แต่หากคุณเมากัญชา สมรรถภาพในการขับขี่ไม่เต็มร้อย จะมีกฎหมายไหนมาป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่


เมากัญชาขับรถผิดกฎหมายหรือไม่ 

นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 หรือปลดล็อกกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด มีผลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้มีการเข้าถึงกัญชาได้ง่ายมากขึ้น และมีการนำมาใช้เพื่อสันทนาการแม้เป้าหมายในการปลดล็อกเพื่อใช้ในการทางแพทย์เท่านั้น 

จากการที่ยังไม่ได้มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ จึงยังไม่ได้มีบทลงโทษที่ชัดเจนต่อผู้ใช้กัญชาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงผู้ที่ใช้กัญชาและขับขี่พาหนะเช่นเดียวกัน 

เวลาเราเมาสุราและขับขี่พาหนะจะอยู่ภายใต้กฎหมายจราจรทางบก ซึ่งมีการระบุชัดเจน ไม่ว่าจะโทษ การกำหนดปริมาตรแอลกอฮอล์ และวิธีการตรวจสอบที่ชัดเจน เช่น เมื่อมีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งอาจเป็นเพราะสุรานั้นไม่ได้มีสถานะเป็นยาเสพติดตั้งแต่แรก  

แต่กัญชา สิ่งมึนเมาใหม่ที่ปลดล็อกให้สามารถใช้ได้มาน้อยกว่า 2 ปี ยังคงไม่มีกฏหมายระดับ พ.ร.บ. บังคับใช้ แม้กรมขนส่งทางบกจะประกาศแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงสำหรับบุคคลในระบบการขนส่งทางถนนเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ในราชกิจจานุเบกษา ว่า ผู้ที่ขับรถต้องไม่เสพหรือเมากัญชาหรือกัญชง แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าความเมาที่ว่านั้นมีมาตรวัดอย่างไร

กรณีศึกษาในต่างประเทศ กัญชาส่งผลต่อสมรรถภาพในการขับขี่ยานพาหนะ แม้ว่าจะมีฤทธิ์น้อยกว่าสารเสพติดชนิดอื่น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแอลกอฮอล์ พบว่าการใช้กัญชาอาจกระทบต่อความว่องไวต่อปฏิกิริยาการตอบสนองการใช้สมาธิในการขับขี่หรือความสามารถในการรับรู้ 

“มีความห่วงใยถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบกัญชาแล้วไปขับรถเนื่องจากกัญชามีผลต่อสมองทำให้สมรรถนะในการขับขี่รถลดลงเหมือนเมาสุราแล้วขับรถ” นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าว 

นายแพทย์แท้จริงในฐานะที่ทำงานรณรงค์เมาไม่ขับมากว่า 30 ปี อธิบายถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนอกจากจะเจอกับคนเมาแล้วขับร่วมทางกับแล้ว คนไทยยังต้องเผชิญกับคนเมากัญชาแล้วขับอีก ถือเป็นเรื่องที่อันตราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายลงโทษผู้ที่เมากัญชาแล้วขับ   

ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่มีการปลดล็อกให้กัญชาถูกกฎหมายล้วนมีการกล่าวถึงเรื่องเมา (กัญชา) ขับขี่ยานพาหนะ อย่างในประเทศเยอรมนีที่เพิ่งอนุญาตมีกัญชาไว้ในครอบครองไม่เกิน 25 กรัมเพื่อการบริโภค เก็บกัญชาแห้งได้ไม่เกิน 50 กรัม สำหรับคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และสามารถปลูกกัญชาได้ 3 ต้นในบ้าน ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567

ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมเยอรมนีแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก โดยกำหนดระดับสูงสุดของ THC สารออกฤทธิ์ที่ทำให้มึนเมาในเลือดของผู้ขับขี่จะอยู่ที่ไม่เกิน 3.5 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร หรือเป็นความเมาเทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 20 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร หรือ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามกฎหมายดื่มไม่ขับของเยอรมนี

หากผู้ขับขี่มีปริมาณ THC จากกัญชามากกว่าที่กำหนด กฎหมายกำหนดความผิดไว้ว่า หากเป็นการกระทำผิดครั้งแรก อาจถูกปรับ 500 ยูโร และถูกห้ามขับรถเป็นเวลา 1 เดือน

แม้บริบทของประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม ร่างกฎหมายควบคุมกัญชา 4 ร่าง ประกอบด้วย 

1. ร่างกระทรวงสาธารณสุขที่เปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 30 กันยายน

2. ร่างเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พรรคประชาชน 

3. ร่างประสิทธิ์ชัย หนูนวล กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,125 คน 

4. ร่างวิเชียร ศรีสุด กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11,779 คน (ร่างที่ 2-3 นั้นเนื่องจากเป็นร่างที่เกี่ยวข้องกับการเงินจึงอยู่ระหว่างการรอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี)  

เมื่อสำรวจร่างกฎหมายที่มีการยื่นเพื่อนำไปพิจารณาออกกฎหมายควบคุมกัญชานั้น ไม่มีร่างใดที่กำหนดเงื่อนไขและวิธีการทดสอบค่าความเมา หรือกำหนดปริมาณ THC เพียงระบุว่า การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

สำหรับโทษเมื่อเสพกัญชาและขับขี่พาหนะนั้น แต่ละร่างกำหนดไว้ดังนี้

ร่างกระทรวงสาธารณสุข: ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร: ไม่มีระบุไว้

ร่างประสิทธิ์ชัย หนูนวล: ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างวิเชียร ศรีสุด: ไม่มีระบุไว้

นอกจากร่างกฎหมายที่ยื่นแล้ว รัฐยังสามารถเตรียมการด้านกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการป้องกันอุบัติเหตุจากกรณีขับขี่สำหรับผู้เสพกัญชาได้ 

กรณีเมากัญชาแล้วขับรถยังไม่เข้าข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ที่ห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น ซึ่งไม่ต้องแก้ข้อกฎหมาย สามารถประกาศว่ากัญชาเป็น ‘ของมึนเมาอย่างอื่น’ ตามความผิดในมาตรานี้ได้ แต่ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อจะใช้ในการออกประกาศดังกล่าว โดยใช้การพิจารณาข้อกำหนดความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ ซึ่งจะต้องรอข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลรอบด้านก่อนจะกำหนดหลักเกณฑ์ 

อย่างไรก็ตาม ไทยเพิ่งได้ข้อสรุปจากรัฐบาลใหม่ว่าจะตรากฎหมายขึ้นมาควบคุมกัญชา ซึ่งในเรื่องของการเมากัญชาและขับนั้นยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องถกเถียง ยิ่งประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาผลกระทบการใช้กัญชาต่อความสามารถในการขับขี่ เพื่อกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกสามารถใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากกรณีขับขี่ภายใต้อิทธิพลของกัญชา แม้จะปล่อยกัญชาเสรีมานานหลายปีแล้ว ทำให้ขั้นตอนของการออกกฎหมายความคุมกัญชานั้นยิ่งยาวไกลขึ้นไปอีก  และความมึนเมาบนท้องถนนที่มีกัญชาเข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มและเป็นตัวเลือกที่ไม่มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนเสียด้วย

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ