Humberger Menu

ย้อนคดี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซุกหุ้นบุรีเจริญ บริจาคเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำไมภูมิใจไทยอาจรอดถูกยุบพรรค

การพิจารณาคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย เหตุรับเงินบริจาคจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่ศาลฯวินิจฉัยว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถือครองหุ้นในบริษัทดังกล่าวนั้นยังไม่ได้คืบหน้าเท่าไหร่แม้จะผ่านเวลามาเกือบปีแล้ว จนถูกวิจารณ์เทียบกับกรณียุบพรรคก้าวไกล ที่ใช้เวลารวดเร็วภายในไม่กี่เดือน

กรณีการพิจารณาคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย จากเหตุรับเงินบริจาคจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงถือครองหุ้นในบริษัทดังกล่าวนั้นยังไม่ได้คืบหน้าเท่าไหร่แม้จะผ่านเวลามาเกือบปีแล้ว จนถูกวิจารณ์ว่า เมื่อเทียบกับการยุบพรรคก้าวไกล ระยะเวลาในการยื่นเรื่องจนถึงผลสรุปนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่เดือน

เรื่องเงินบริจาคพรรคภูมิใจไทยถูกพูดถึงตั้งแต่ปี 2566 โดย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง นำหลักฐานเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินของพรรคภูมิใจไทยและบัญชีทรัพย์สินของศักดิ์สยาม ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และเอกสารโอนเงินโอนหุ้นของบริษัท ที่พบว่าศักดิ์สยามเป็นเจ้าของ ยื่นให้ กกต. พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย 

หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ศักดิ์สยามพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพุทธะอิสระ (คนเดียวกับที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล) ยื่นคำร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ขอให้ตรวจสอบการรับเงินบริจาคของพรรคภูมิใจไทยจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ตามคำวินิจฉัยศาลฯ เนื่องจากเห็นว่า อาจเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เข้าข่ายยุบพรรคภูมิใจไทย 

ย้อนรอยคดี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ใช้นอมินี ถือหุ้น แต่ยังพบนอมินีบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยด้วย จะนำมาสู่หนทางที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยอาจจะถูกยุบพรรคหรือไม่ รวมทั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ ‘สองมาตรฐาน’ ในการยุบพรรค

ศักดิ์สยาม ปมเงินบริจาค

17 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดสภาพการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หลังจากได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มาก่อนหน้าตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี กำหนดว่า ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดลง โดยเห็นว่าการโอนหุ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ให้ลูกน้องเป็นการทำนิติกรรมอำพราง และห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ได้บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยจำนวนมากหลายรอบ ทั้งที่ลูกน้องคนดังกล่าวไม่เคยบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยมาก่อน

คำวินิจฉัยของศาลฯ ส่งผลให้ศักดิ์สยามไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ความผิดของศักดิ์สยาม อาจนำไปสู่การยุบพรรคภูมิใจไทย

ย้อนไปเมื่อ ปี 2564 สำนักข่าวอิศราเปิดเผยข้อมูลว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ซึ่งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่เมื่อปี 2561 หรือก่อนเลือกตั้งปี 2562 ศักดิ์สยามโอนหุ้นให้ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 119.4 ล้านบาท แม้จะโอนหุ้นไปแล้ว แต่ยังพบว่าที่ตั้งของบริษัทยังเป็นที่อยู่ของศักดิ์สยามเรื่อยมา จนกระทั่งก่อนศักดิ์สยามเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพียง 23 วัน

ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูก ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา โดยระบุว่า ศักดิ์สยามปกปิดทรัพย์สิน ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และยังเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท 

ต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 54 คน ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรี และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 กรณีห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด หรือไม่

โดยข้อมูลที่ สส. ทั้ง 54 คน ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การโอนหุ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ระหว่าง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นการทำนิติกรรมอำพรางที่ไม่มีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง

จากข้อมูลที่ สส. ทั้ง 54 คน ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น กับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมของศักดิ์สยามไว้ด้วยว่า ทางบริษัทได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น จากกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง อบจ. อบต. เทศบาล อย่างน้อยต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะได้รับงานเพิ่มมากขึ้น

ต่อมา ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ที่ขณะนั้นออกมาต่อต้านกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทยอย่างหนัก ได้เปิดเผยเรื่องเงินบริจาคของศักดิ์สยามจนเป็นข่าวใหญ่สะเทือนภูมิใจไทย

วันที่ 17 มีนาคม 2566 ชูวิทย์ นำหลักฐานเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินของพรรคภูมิใจไทยและบัญชีทรัพย์สินของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาพรรคภูมิใจไทย และเอกสารโอนเงินโอนหุ้นของบริษัท ที่พบว่าศักดิ์สยามเป็นเจ้าของยื่นให้ กกต.พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย

หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ศักดิ์สยามพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพุทธะอิสระ (คนเดียวกับที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล) ยื่นคำร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ขอให้ตรวจสอบการรับเงินบริจาคของพรรคภูมิใจไทยจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีการถือหุ้นโดยมิชอบของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เนื่องจากเห็นว่าอาจเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เข้าข่ายยุบพรรคภูมิใจไทย

เงินบริจาคพรรคภูมิใจไทย เข้าข่ายอะไรบ้าง

สำหรับกรณีที่จะยุบพรรคภูมิใจไทยถูกร้องเรียนเรื่องเงินบริจาคผิดกฎหมาย หากวิเคราะห์มีอยู่ 3 แนวทางที่อาจทำให้พรรคภูมิใจไทยถูยุบได้ 1. วิธีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 2. คนให้ไม่มีคุณสมบัติ หรือคุณสมบัติต้องห้าม 3. ที่มาของเงินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

หากเข้าข้อที่ 1 จะเข้าข่ายกรณีเดียวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ให้พรรค ‘กู้ยืม’ เงิน 191.2 ล้านบาท โดยศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พรรคอนาคตใหม่เข้าข่ายรับบริจาคเงินจากบุคคลเดียวเกิน 10 ล้านบาท

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวของธนาธรถือเป็น ‘เงินบริจาค’ หรือประโยชน์อื่นใด ที่ต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง รวมทั้งฝ่าฝืนมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นเหตุให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี 

หากแนวการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเช่นเดียวกับกรณีของพรรคอนาคตใหม่ กรรมการบริหารพรรคของพรรคภูมิใจไทยจะต้องถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหมือนกัน โดยถึงขั้นต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

รายชื่อกรรมการบริหารที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหากพรรคภูมิใจไทยถูกยุบมี 10 คนดังนี้

1. อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค 

2. ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 และเหรัญญิกพรรค 

3. บุญลือ ประเสริฐโสภา รองหัวหน้าพรรค คนที่ 2

4. เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รองหัวหน้าพรรค คนที่ 3

5. ชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค คนที่ 4

6. พิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค คนที่ 5

7. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค (ลาออกเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567)

8. รังสิกร ทิมาตฤกะ รองเลขาธิการพรรค

9. ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรค

10. สรอรรถ กลิ่นประทุม กรรมการบริหารพรรค

ข้อ 2 คุณสมบัติของผู้ให้ กรณี กกต. อธิบายว่าต้องแยกกับข้อกล่าวหาเรื่องการอำพรางหุ้นออกจากกัน เพราะข้อนี้จะดูถึงการเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งบริษัทก็จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่ามีคุณสมบัติสามารถบริจาคเงินได้

ข้อ 3 ที่มาของเงินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ กกต. อธิบายไว้ว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะชี้ว่าเงินนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ องค์กรที่มีหน้าที่ชี้ตรงนี้ได้ เช่น ศาล สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ทาง กกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปวินิจฉัย แต่ถ้าเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพรรคการเมืองโดยตรงอย่างเช่นกรณี เงินกู้ ที่เป็นเหตุยุบพรรคอนาคตใหม่ กกต. มีอำนาจวินิจฉัยด้วยตัวเอง

หากศักดิ์สยามใช้นอมินีในการถือหุ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น จริง พรรคภูมิใจไทยอาจจะถูกร้องว่า รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92(3) และ 72 ซึ่งมีโทษเป็นการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเงิน 4.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงความคืบหน้าของกรณีคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยว่า ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่คาดว่าไม่เกินปลายเดือนนี้จะได้ข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร โดยหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอเรื่องเข้ามาแล้วจะส่งเรื่องให้กับกรรมการที่ปรึกษาของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมี สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นก่อน ก่อนที่จะเสนอให้นายทะเบียนฯพิจารณาให้ความเห็น ว่าผิดกฎหมายต้องมีการยุบพรรคหรือไม่ ถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่ผิดก็จบเลย แต่ถ้าเห็นว่าผิดก็เสนอต่อ กกต. คาดว่าไม่เกินเดือนตุลาคมจบ

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูการทำงานของ กกต. ว่าจะมีเกิด ‘สองมาตรฐาน’ หรือไม่ เพราะการยุบพรรคก้าวไกลนั้น ก็มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นเหตุโดมิโนมาสู่พรรคอื่นที่มีคำร้องเช่นกัน แต่โดมิโนนี้อาจจะไม่สามารถล้มข้ามมาฝั่งพรรครัฐบาลก็เป็นได้ สุดท้ายพรรคภูมิใจไทยจะรอดจากคำร้องครั้งนี้ด้วยข้อกฎหมายใดคงต้องจับตาดู 


Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ