‘นิรโทษกรรม’ คือกฎหมายที่พรรคการเมืองมักพูดถึงและถกเถียงว่าจะเป็นเครื่องมือสร้างความปรองดองให้กับประเทศหรือจะยิ่งสร้างความขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการลบความผิดให้กับผู้ที่ทำความผิด
ภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทย ได้มีการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมด้วยกันทั้งหมด 5 ร่าง ประกอบด้วย ร่างของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และร่างที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน
ทุกร่างล้วนผ่านการรับหลักการในสภา และรัฐบาลเลือกให้มีการพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน
หลังจากหาแนวทางร่วมกันกว่า 6 เดือน กระทั่งวันที่ 26 กรกฎาคม ก็เสร็จสิ้นการศึกษาร่วมกันของทุกฝ่าย แต่ผ่านมาแล้ว 2 เดือน ผลการศึกษาดังกล่าวยังคงไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสภา ทั้งที่มีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระในการประชุมวันที่ 3 ตุลาคม
ชูศักดิ์ ประธาน กมธ. ให้เหตุผลที่ต้องเลื่อนออกไปว่า ต้องหารือร่วมก่อน และมาในสัปดาห์นี้ก็เช่นกัน เรื่องนี้ยังคงถูกเลื่อนออกไปเพื่อรอการหารือที่ไม่มีกำหนด ซึ่งสภาจะหมดสมัยประชุมในวันที่ 31 ตุลาคมนี้
สาเหตุสำคัญของ ‘การเลื่อน’ เพราะผลแนวทางการศึกษาที่ปรากฏจะมีการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 ที่เป็นประเด็นปัญหาในรัฐบาลนี้ตั้งแต่เพื่อไทยใช้เป็นเหตุผลทิ้งก้าวไกลตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว และต่อมาก้าวไกลถูกยุบพรรค หรือจะมีอะไรมากกว่านั้น ไทยรัฐพลัสพาสำรวจผลการศึกษาที่พิจารณาเสร็จแล้วแต่ยังคงต้องรอต่อไปนั้น ว่ามีแนวทางการนิรโทษกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ และคดีใดบ้าง
กมธ. ให้นิยามคำว่า ‘นิรโทษกรรม’ คือ การลืม การลืมความผิด การลืมความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพื่อให้แต่ละฝ่ายมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพัฒนาประเทศต่อไปได้
ทั้งนี้ แนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง
กมธ. ให้นิยามแรงจูงใจทางการเมืองหมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรมที่ กมธ. มีมติออกมาคือ เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ กมธ. เสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไม่ให้มีบุคคลกระทำหรือแสดงความคิดเห็นที่อาจเป็นความผิดก่อนวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
กมธ. มีมติว่า จะใช้รูปแบบผสมผสานในการนิรโทษกรรม แบ่งเป็น คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว เพื่อพิจารณาว่าการกระทำใดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ควร โดยมี 25 ฐานความผิดแนบท้าย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
1.1 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
มาตรา 113 (1) หรือ (2) (ความผิดฐานกบฏ)
มาตรา 114 (สะสมกำลังเพื่อก่อกบฏ) (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ)
มาตรา 116 (กระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย)
มาตรา 117 (ยุยงให้หยุดงานเพื่อให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย)
มาตรา 118 (กระทำต่อธงชาติ)
1.2 ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย
มาตรา 135/1 (2) หรือ (3) (ความผิดฐานก่อการร้าย)
มาตรา 135/2 (ขู่เข็ญจะก่อการร้าย)
มาตรา 135/3 (โทษของผู้สนับสนุนการก่อการร้าย)
2.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
3.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
4.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
6.ความผิดตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
7.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
1.1ความผิดต่อเจ้าพนักงาน
มาตรา 136 (ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน)
มาตรา 137 (แจ้งความเท็จ)
มาตรา 138 (ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน)
มาตรา 139 (ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ)
มาตรา 140 (รับโทษหนักขึ้นฐานต่อสู้ขัดขวางและข่มขืนใจเจ้าพนักงาน)
1.2 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม
มาตรา 168 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ้อยคำ)
มาตรา 169 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใด)
มาตรา 170 (ขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้มาเบิกความ)
มาตรา 184 (ทำลายหลักฐานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ)
มาตรา 190 (หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง)
มาตรา 191 (ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากการคุมขัง)
มาตรา 198 (ดูหมิ่นหรือขัดขวางผู้พิพากษา)
1.3 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา
มาตรา 206 (กระทำการเหยียดหยามศาสนา)
มาตรา 208 (แต่งกายเป็นนักบวชในศาสนา)
1.4 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
มาตรา 209 วรรคหนึ่ง (ความผิดฐานเป็นอั้งยี่)
มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 (ความผิดฐานซ่องโจร, ร่วมประชุมอั้งยี่ซ่องโจร, ช่วยเหลืออุปการะอั้งยี่ ซ่องโจร, โทษของสมาชิกและพรรคพวกอั้งยี่ ซ่องโจร และจัดหาที่พำนัก ซ่อนเร้นให้ผู้กระทำผิด)
มาตรา 215 วรรคหนึ่ง (มั่วสุมทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง)
มาตรา 216 (ไม่ยอมเลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน)
1.5 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน
มาตรา 217 ถึงมาตรา 220 (วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, เหตุฉกรรจ์วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, ตระเตรียมวางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ)
มาตรา 221 (ทำให้เกิดระเบิดน่าจะเป็นอันตรายฯ)
มาตรา 225 (ทำให้เกิดระเบิดจนเป็นอันตรายแก่ทรัพย์)
มาตรา 226 (กระทำต่อโรงเรียน สิ่งปลูกสร้าง น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น)
1.6 ความผิดต่อร่างกาย
มาตรา 295 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ)
มาตรา 296 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บด้วยเหตุฉกรรจ์)
มาตรา 297 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส)
มาตรา 299 (ชุลมุนต่อสู้บาดเจ็บสาหัส)
มาตรา 300 (ประมาทเป็นเหตุให้บาดเจ็บสาหัส)
1.7 ความผิดต่อเสรีภาพ
มาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการ ไม่กระทำการ)
มาตรา 310 วรรคหนึ่ง (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น)
มาตรา 310 ทวิ (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อให้กระทำการให้แก่บุคคล)
มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (ทำให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท)
1.8 ความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 326 (หมิ่นประมาท)
มาตรา 328 (หมิ่นประมาทโฆษณา)
มาตรา 329 (แสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท)
1.9 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
มาตรา 358 (ทำให้เสียทรัพย์)
มาตรา 359 (3) (เหตุเพิ่มโทษฐานทำให้เสียทรัพย์)
มาตรา 360 (ทำให้เสียทรัพย์สาธารณประโยชน์)
1.10 ความผิดฐานบุกรุก
มาตรา 362 (บุกรุกอสังหาริมทรัพย์)
มาตรา 364 (บุกรุกเคหสถาน)
มาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3) (บุกรุกเหตุฉกรรจ์)
1.11 ความผิดลหุโทษ
มาตรา 368 (ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน)
มาตรา 370 (ส่งเสียงดังอื้ออึง)
มาตรา 371 (พกพาอาวุธ)
มาตรา 385 (กีดขวางทางสาธารณะ)
มาตรา 391 (ทำร้ายร่างกายไม่บาดเจ็บ)
มาตรา 393 (ดูหมิ่นซึ่งหน้า)
2. ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 30 (ศาลออกข้อกำหนด เพื่อรักษาความเรียบร้อยในศาล)
มาตรา 31 (ละเมิดอำนาจศาล)
3.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
6.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
7.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
8.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
9.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535
10.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493
11.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551
12.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2535
13.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
14.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
15.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินทางอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
16.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
17.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
18.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธง พ.ศ. 2522
19.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
มาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
มาตรา 112 (หมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
แม้มาตรา 112 และ มาตรา 110 จะปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของ 25 ฐานความผิดแนบท้าย พ.ร.บ. แต่ในชั้น กมธ. ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือไม่ เนื่องจากเป็น ‘คดีที่มีความอ่อนไหว’ และ ใน กมธ. เองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันถึง 3 แนวทาง คือ
ในชั้น กมธ. ได้มีการแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว ซึ่งข้อถกเถียงหลักคือเรื่องมาตรา 112 เช่น
ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ ไม่เห็นด้วยการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดมาตรา 110 และมาตรา 112 ไม่ว่าจะกำหนดให้มีเงื่อนไขหรือไม่
วิชัย สุดสวาสดิ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนเองเป็นผู้เสนอมีเนื้อหาไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 จึงไม่เห็นด้วย
นิกร จำนงค์ พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีการดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และไม่พบว่ามีรายงานการศึกษาฉบับใดที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้
เจือ ราชสีห์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วย เพราะร่างเสริมสร้างสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติไม่มีเนื้อหาการนิรโทษกรรมในมาตรา 110 และ 112 ที่เป็นความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และคำกัดจัดความในเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองความผิดตามมาตรานี้ไม่ใช่คดีทางการเมืองและไม่เป็นไปตามกรอบที่ระบุไว้
พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วย เพราะอาจสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของนิรโทษกรรมที่ต้องการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง และไม่เชื่อว่าการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในมาตรา 112 จะไม่ทำให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ แม้จะมีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำแล้วก็ตาม
สำหรับ กมธ. ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 ที่ให้นิรโทษกกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว แต่ควรที่จะมีเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมนั้น เช่น
รองศาสตราจารย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า เนื่องจาก กมธ. มีความเห็นตรงกันว่าต้องมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีอาญา ซึ่งไม่ใช่คดีแพ่ง โดยใช้วิธีการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน จึงควรหาแนวทางที่ทำให้เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ รวมถึงคดีมาตรา 112 ที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดเพราะต้องพิจารณาพระราชทานอภัยโทษ และการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือลบล้าง
สมคิด เชื้อคง พรรคเพื่อไทย เห็นว่า เพราะผู้ที่ถูกดำเนินคดีในแต่ละคดีอาจกระทำความผิดแตกต่างกัน บางคดีเป็นการจงใจกระทำความผิดบางคดีไม่ใช่การจงใจกระทำความผิดจึงสามารถแยกนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีเหล่านี้แบบมีเงื่อนไขได้
รังสิมันต์ โรม พรรคประชาชน เห็นว่า การเลือกที่จะไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่ยังสร้างความเชื่อในสังคมว่ามีกลุ่มคนล้มล้างสถาบันความเชื่อแบบนี้จะสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองให้กับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง และหากมีการนิรโทษกรรมแล้วเกิดการกระทำความผิดซ้ำก็สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 112 อีกครั้งได้เพราะไม่ได้พิจารณายกเลิกมาตรานี้
ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 เพราะข้อเท็จจริงพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองหลังการเกิดรัฐประหาร ประกอบกับความผิดอันเกิดจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นความผิดที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรงที่กระทำต่อร่างกายและชีวิต จึงควรเข้าข่ายที่จะพิจารณานิรโทษกรรมหรือให้อภัยได้เพื่อทำให้เกิดความปรองดองทางการเมือง และจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งการเมืองในปัจจุบัน
เงื่อนไขนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวของกรรมาธิการและที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการที่เห็นด้วยหลักการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข ว่า
ในชั้น กมธ. ผู้ที่เหห็นด้วยในการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองนั้นล้วนให้เหตุผลที่คล้ายกัน ตัวอย่างเช่น
ศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คดีมาตรา 112 ใกล้เคียงกับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และมีการนำกฎหมายมาตรานี้มาใช้ในทางการเมือง จึงเห็นว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง และเมื่อสังคมต้องการความปรองดอง จึงเห็นด้วยกับการมีนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาใน กมธ. เป็นเพียงแนวทางการศึกษา ยังไม่ใช่แนวทางการตรากฎหมายที่สภาเห็นด้วย ดังนั้น จึงต้องรอมติของ สส. ซึ่งจะได้ทราบมติเมื่อไหร่ยังคงไม่มีกำหนด เพราะต้องรอการหารือ ซึ่งการรอนั้นจะเป็นเพียงการยื้อเวลาหรือเพื่อหาเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดในการหาทางออกเพื่อสร้างความปรองดองให้กับประเทศตามแนวความคิดของการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่สภาจะหมดสมัยประชุมในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอาจจะยังมองไม่เห็นอนาคตในเร็ววันนี้