Humberger Menu

ความขัดแย้งจีน ไต้หวัน

ช่วงที่จีนประกาศซ้อมรบใหญ่รอบสองใกล้กับช่องแคบไต้หวันเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2024 ตรงกับช่วงที่ไต้หวันเพิ่งฉลอง ‘วันชาติ’ จบไปได้ไม่นาน และมีข้อมูลบ่งชี้ว่าการซ้อมรบของจีนมีเป้าหมายเพื่อจำลองสถานการณ์การบุกไต้หวัน ทำให้รัฐบาลไต้หวันออกแถลงการณ์ประณามการฝึกซ้อมรบของจีนว่าเข้าข่ายคุกคามความสงบในภูมิภาค

นอกจากนี้ยังมีผู้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมเส้นทางการเดินเรือของหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งของจีนลงในสื่อออนไลน์เพิ่มเติม แสดงให้เห็นการเดินเรือเป็นเส้นทางรูปหัวใจ พร้อมข้อความภาษาจีน ซึ่งแปลเป็นอังกฤษได้ว่า “Hi my sweetheart” และ “The patrol is in the shape of loving you.” (สวัสดีที่รัก การเคลื่อนพลนี้เพื่อแสดงความรักต่อเธอ) ทำให้ผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวันแสดงความเห็นในสื่อออนไลน์ว่าพฤติกรรมของจีนนั้นดูสยองและหลอนเหมือนคนที่กำลังคุกคามทางเพศ หรือคนที่มีความสัมพันธ์ในเชิงข่มขู่และใช้อำนาจ

ภาพ: Chinese Coast Guard

ล่าสุด สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ยังได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานควบคุมขีปนาวุธ ‘เตรียมพร้อมสู้รบ’ หากมีการประกาศสงคราม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2024 แม้จะไม่ระบุโดยตรง แต่ก็พออนุมานได้ว่าเป็นการทำสงครามกับไต้หวันที่เป็นเป้าหมายของปฏิบัติการฝึกซ้อมรบที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ 

ท่าทีของจีนทำให้รัฐบาลกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ชาติ (G7) ซึ่งส่งตัวแทนไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมที่อิตาลีในเวลาไล่เลี่ยกัน แสดงความกังวลว่าพฤติกรรมนี้เข้าข่ายการใช้แสนยานุภาพทางทหารข่มขู่ไต้หวัน และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค ทำให้สหรัฐอเมริกาและแคนาดาร่วมกันส่งกองเรือไปแวะจอดแถวช่องแคบไต้หวันทันที

คำถามว่า ‘จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่?’ จึงแพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อกระแสหลัก เช่นเดียวกับคำถามว่าถ้าจีนทำสงครามกับไต้หวันจริงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะส่งผลกระทบในวงกว้างเหมือนที่สงครามยูเครน-รัสเซียเป็นอยู่หรือไม่ สถานการณ์จำลองที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้จึงมีหลายข้อ แต่ประเด็นสำคัญสุดคือการย้อนกลับไปถามคนไต้หวันว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ในฐานะผู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักสุดถ้าความขัดแย้งลุกลามกลายเป็นสงครามจริงๆ

ทำไมมังกรจีนผู้ยิ่งใหญ่ถึงอยากยึดครองเกาะไต้หวัน?

จีนเป็นชาติมหาอำนาจของโลก แต่จีนก็แสดงออกชัดเจนว่าต้องการเกาะเล็กๆ อย่างไต้หวันมาเป้นส่วนหนึ่งของ 'จีนเดียว'

เรือบรรทุกเครื่องบิน Liaoning ของกองทัพจีนในการซ้อมรบ Joint Sword-2024B

แม้ธนาคารโลกจะระบุว่าจีนอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่สถานะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ก็คงอยู่คู่กับจีนมานานหลายทศวรรษเช่นกัน ทั้งยังไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจีนเป็นหนึ่งในพหุขั้วอำนาจโลกที่สามารถคัดง้างกับสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรได้อย่างสูสี

การที่จีนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนและประกาศเป้าหมายว่าจะต้องรวมชาติ (Reunification Plan) ระหว่างจีน-ไต้หวันให้ได้ภายในปี 2049 จึงเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมจีนถึงต้องสนใจเกาะขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 23 ล้านคนซึ่งไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เทียบเท่าจีน และนำไปสู่บทวิเคราะห์จำนวนมากที่พยายามจะตอบคำถามนี้ 

สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (The Australian Institute of International Affairs: AIIA) ประเมินว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในแผนรวมชาติของรัฐบาลจีน ประกอบด้วย 1. ความต้องการแผ่ขยายอำนาจทางทหาร 2. เงิน และ 3.การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยบทวิเคราะห์นี้ถูกนำไปเผยแพร่ผ่าน ABC ตั้งแต่ปี 2022 

การเคลื่อนพลของกองทัพจีนในการซ้อมรบครั้งล่าสุด

AIIA ชี้แจงว่าจีนต้องการแผ่ขยายอำนาจทางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพราะที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านจีนถูกแทรกแซงทางการทหารจากสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ทั้งกรณีญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้องเปิดช่องให้ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในญี่ปุ่น และกรณีไต้หวันที่มีข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ปี 1979 ว่าสหรัฐฯ มีพันธกิจต้องช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวันหากถูกจีนรุกราน ถ้าจีนสามารถยึดครองไต้หวันกลับคืนมาได้ ก็มีโอกาสสูงที่จะผลักดันให้กองทัพสหรัฐฯ ออกไปจากภูมิภาค

ส่วนประเด็นเรื่องเงินนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเศรษฐกิจไต้หวันเติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่องกว่าหลายประเทศในเอเชีย ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตแผงวงจร เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกไปทั่วโลก โดยสินค้าจากไต้หวันคิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ของสินค้านำเข้าที่อุตสาหกรรมในจีนแผ่นดินใหญ่ต้องพึ่งพาเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและการค้า 

อีกทั้งกลุ่มทุนไต้หวันยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ช่วยสร้างงานและสร้างรายได้กว่า 203,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 1991-2022 ซึ่งเป็นตัวเลขไม่น้อยเลยถ้าเทียบกับขนาดของไต้หวันซึ่งเล็กกว่าจีนหลายเท่าตัว ถ้าจีนเข้าควบคุมไต้หวันได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก็ย่อมได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้มหาศาล

ขณะที่ประเด็นสุดท้าย ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม อาจฟังดูไม่หนักแน่นเท่าเหตุผลสองข้อแรก แต่เพราะคนไต้หวันส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน พูดภาษาจีน และอาจมีเครือญาติบรรพบุรุษอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นจำนวนไม่น้อย แม้จะมีคนเชื้อชาติอื่นในไต้หวัน แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับลูกหลานจีนที่อพยพไปตั้งรกรากจนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของไต้หวันในปัจจุบัน การที่จีนอ้างเหตุผลเรื่องรื้อฟื้นความสัมพันธ์จึงเป็นประเด็นที่คนไต้หวันจำนวนหนึ่งยอมรับได้และพร้อมสนับสนุนเรื่องรวมชาติ

ต้นตอความขัดแย้งที่ยากประสานระหว่างจีน-ไต้หวัน

ถึงแม้จีนกับไต้หวันจะเกี่ยวข้องกันมานาน แต่ความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวันที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันก็ยากจะประสาน เพราะมีปมซับซ้อนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศผสมอยู่ด้วย โดยไต้หวันเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นก่อนจะกลับไปรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันก็เกิดสงครามกลางเมืองจีนซึ่งเป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋ง (KMT) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อ เจียง ไคเช็ก ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งในขณะนั้น พ่ายสงครามในแผ่นดินใหญ่ จึงยกพลอพยพหนีไปไต้หวันและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ก่อนจะประกาศให้เกาะไต้หวันกลายเป็น ‘สาธารณรัฐจีน’ หรือ Republic of China (ROC) ในเดือนธันวาคม 1949

อนุสรณ์สถาน เจียง ไคเช็ก

ราว 20 ปีแรกที่ไต้หวันกลายเป็นสาธารณรัฐจีน รัฐบาลไต้หวันมีที่นั่งในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ทั้งยังมีสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรที่สำคัญ เพราะช่วงนั้นสหรัฐฯ ยังดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และเข้าไปสนับสนุนรัฐบาลชาตินิยมในหลายประเทศให้ต่อสู้กับแนวคิดคอมมิวนิสต์ ทำให้ไต้หวันภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋งกลายเป็นตัวแทนชนชาติจีนในเวทีโลกอยู่นาน

กระทั่งความขัดแย้งระหว่างฝั่งคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีนิยมค่อยๆ ผ่อนคลายความตึงเครียดลง รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ประกาศตัวในฐานะ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ หรือ People’s Republic of China (PRC) ก็เข้าสู่เวทีประชุมสหประชาชาติและหว่านล้อมให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ สนับสนุน PRC เป็นตัวแทนชนชาติจีนแทนไต้หวันหรือสาธารณรัฐจีน ซึ่งเป็นสมาชิกดั้งเดิม 

และจีน PRC ก็ทำสำเร็จในวันที่ 25 ตุลาคม 1971 เพราะสมาชิกสหประชาชาติเกินครึ่งโหวตรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ไต้หวันพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสหประชาชาติในเวลาต่อมา

รูป เจียง ไคเช็ก ในวันชาติ 113 ปีไต้หวัน 

หลังจากนั้นรัฐบาลจีนก็เดินหน้ารณรงค์นโยบาย ‘จีนเดียว’ โดยย้ำว่า ‘จีน’ หมายถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น หรือที่คนไทยจำนวนมากเรียกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของดินแดนจีนที่แตกแถวไป จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายรวมชาติมากดดันให้กลับเข้ารูปเข้ารอย 

ในทางกลับกัน ไต้หวันถูกประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวนมากลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต เหลือเพียงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ปัจจุบันมีแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่รับรองสถานะรัฐอธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่รวมไทยแต่อย่างใด  

มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จีนจะบุกไต้หวัน?

ไม่ว่าการบุกจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันก็ยังน่ากังวล

ไต้หวันภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ซึ่งเป็นรัฐบาลติดต่อกันมา 3 สมัยจนถึงปัจจุบันในยุคประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ พยายามสานสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ทั่วโลกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตัวเองในเวทีโลก แต่ท่าทีนี้สร้างความไม่พอใจแก่จีนอย่างมาก และจีนประกาศชัดเจนแทบทุกครั้งในเวทีโลกว่า “ไต้หวันเป็นของจีน” ผู้สนับสนุนแนวคิดแบ่งแยกดินแดนไต้หวันถือเป็นผู้ละเมิดอธิปไตยและกิจการภายในของจีน 

ประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ

การฝึกซ้อมรบของจีนในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวันครั้งล่าสุดอาจเป็นภาพสะท้อนว่าจีนไม่ได้สนใจชาติมหาอำนาจที่อยู่เบื้องหลังไต้หวันสักเท่าใด แต่คนไต้หวันที่เจอสถานการณ์แบบนี้มีความหวั่นใจไม่น้อยเลย โดยเฉพาะช่วงที่จีนฝึกซ้อมรบใหญ่ครั้งแรกกลางปี 2024 ประชาชนไต้หวันจำนวนมากพากันไปซื้อเสบียงอาหารและยามากักตุนเพราะกลัวว่าจีนจะบุกจริงๆ 

อย่างไรก็ดี ความเห็นของชาวไต้หวันเปลี่ยนไปเมื่อจีนประกาศซ้อมรบครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม โดยสำนักข่าว Reuters รายงานอ้างอิงโพลสำรวจความเห็นประชาชนไต้หวัน 1,200 คน พบว่า 61 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าจีนไม่น่าจะบุกไต้หวัน แต่ถ้ามีสงครามเกิดขึ้นจริง 67 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าจะสนับสนุนให้รัฐบาลไต้หวันสู้กลับ และ 74 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าถ้ามีการรุกรานเกิดขึ้น สหรัฐฯ จะช่วยเหลือไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

เครื่องยิงมิสไซล์ Hsiung Feng III ของไต้หวัน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว CNN เคยรายงานบทวิเคราะห์ของศูนย์ศึกษานโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Center for Strategic and International Studies: CSIS) ซึ่งเป็นองค์การด้านความมั่นคงในสหรัฐฯ มีการประเมินคล้ายโพลในไต้หวัน ว่าโอกาสที่จีนจะบุกไต้หวันหรือเปิดฉากทำสงครามจริงๆ นั้นมีน้อย เพราะถ้าจีนทำอย่างนั้น จะทำให้สหรัฐฯ ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคนี้โดยตรง ซึ่งจีนน่าจะได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากจีนไม่อยากเปิดช่องให้สหรัฐฯ มีข้ออ้างในการส่งกำลังทางทหารมายังภูมิภาคเอเชียเพิ่มเติม 

ขณะเดียวกันก็มีผู้ประเมินว่าถ้าจีนรุกรานไต้หวันจริงๆ จะเป็นอย่างไร โดยมีการคาดเดาว่าถ้าเกิดสงครามขึ้นจริงอาจยืดเยื้อบานปลายเหมือนสงครามรัสเซีย-ยูเครน และจีนอาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเสียเอง เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นกับไต้หวัน ส่วนหลายประเทศทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะไต้หวันคือแหล่งผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายอย่าง 

เรือรบ Kuang Hua VI-class ของไต้หวัน

นอกจากนี้ยังมีนักวิเคราะห์อีกกลุ่มที่ประเมินว่าจีนไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารรุกรานไต้หวันจริงๆ ก็สามารถสร้างแรงกดดันมหาศาลได้แล้ว เพียงแค่จีนซ้อมรบและส่งกำลังพลเข้าไปในช่องแคบไต้หวันอยู่บ่อยๆ ก็มีผลทางจิตวิทยา ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในไต้หวันและประเทศพันธมิตร 

อีกวิธีที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและรัฐบาลไต้หวันได้แน่ๆ คือการกีดกันทางการค้าระยะสั้น อาจจะแค่ประมาณ 60 วัน ก็น่าจะทำให้ไต้หวันเดือดร้อนได้อย่างถ้วนหน้า แต่มีคำเตือนเช่นกันว่า ถ้าจีนเลือกใช้วิธีนี้จะยิ่งทำให้รัฐบาลพรรค DPP ของไต้หวันได้รับความนิยมยิ่งกว่าเดิม และอาจมีการตอบโต้จากภาคประชาสังคมทั่วโลกซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีน

C-Pop คนดัง และแฮกเกอร์ เครื่องมือขยายอุดมการณ์ ‘จีนเดียว’

ความพยายามกดดันให้ไต้หวันเข้าสู่กระบวนการรวมชาติกับจีน ไม่ได้มีแค่นโยบายทางการทหารหรือการเมืองระหว่างประเทศ แต่มีการแทรกซึมเข้าไปในวัฒนธรรมป๊อปส่งออกจากประเทศจีน (C-Pop) ด้วยเช่นกัน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาลจีนอนุมัติโครงการภาพยนตร์และซีรีส์ฟอร์มใหญ่หลายเรื่องที่พูดถึงการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามกลางเมือง เช่น Hidden Blade (2023) ที่มี เหลียง เฉาเหว่ย และ หวัง อีป๋อ เป็นนักแสดงนำ ตามด้วยซีรีส์ War of Faith (2024) และล่าสุด Dark Night and Dawn (2024) ซึ่งมีนัยแฝงคือการวิพากษ์รัฐบาลพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งที่พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองจนต้องหนีไปไต้หวันว่าเป็นรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม 

สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนถ่ายทอดการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน

ช่วงที่จีนซ้อมรบรอบใหม่ในเดือนตุลาคม คนดังในวงการต่างๆ ของจีนก็พร้อมใจกันโพสต์ข้อความสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ โดยมีกรณีที่เห็นชัดสุดคือ ซ่ง จูเอ๋อ (Song Zuer) นักแสดงสาวดาวรุ่งชาวจีนซึ่งหายหน้าจากสื่อออนไลน์ไปนานนับปีเพราะถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษี แต่หลังจากหน่วยงานรัฐบาลจีนออกมายืนยันว่าข้อกล่าวหา ‘ไม่มีมูล’ เมื่อเดือนกันยายน 2024 ซ่ง จูเอ๋อ ก็กลับมาเคลื่อนไหวในเว่ยป๋ออีกครั้ง

ข้อความของ ซ่ง จูเอ๋อ ที่แปลว่า "ปกป้องอธิปไตยของชาติ! รักษาความสามัคคีของชาติ! ไต้หวันเป็นดินแดนของจีนมาตั้งแต่โบราณ#"

ข้อความแรกหลังพ้นข้อกล่าวหาของ ซ่ง จูเอ๋อ พูดถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ แต่ข้อความสองที่โพสต์ในวันที่ 14 ตุลาคมก็คือข้อความสนับสนุนปฏิบัติการซ้อมรบของจีน ทั้งยังมีการติดแฮชแท็กข้อความว่าไต้หวันเป็นของจีนและสนับสนุนนโยบายจีนเดียวซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงก่อนหน้านี้ของดาราสาว และโพสต์ดังกล่าวถูกรีโพสต์ไปมากกว่า 18 ล้านครั้ง (อ้างอิงตัวเลขในวันที่ 20 ตุลาคม 2024) 

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่รัฐบาลไต้หวันเผยแพร่รายงานกล่าวหารัฐบาลจีนส่งเสริมให้แฮกเกอร์และคนดังที่มีอิทธิพลในสื่อออนไลน์โจมตีไต้หวันในโลกไซเบอร์ โดยรายงานนี้ถูกสื่อตะวันตก The Wall Street Journal นำไปขยายต่อพร้อมย้ำว่าช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนตุลาคม 2024 เว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาลไต้หวันถูกแฮกเกอร์โจมตีทางไซเบอร์รวมกว่า 90,000 ครั้ง และคนในวงการบันเทิงไต้หวันถูกกดดันให้โพสต์ข้อความสนับสนุนนโยบายจีนเดียวและการรวมชาติจีน-ไต้หวัน

อย่างไรก็ดี สำนักข่าว China Daily ของจีนรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของประธานมูลนิธิ หม่า อิงจิ๋ว ซึ่งก่อตั้งขึ้นในนามของอดีตประธานาธิบดีไต้หวันผู้สนับสนุนแนวคิดรวมชาติ ระบุว่า การที่ดารานักร้องไต้หวันแสดงความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจีนไม่ได้เกิดจากการบังคับกดดัน เพราะศิลปินเหล่านี้ก็เป็นคนจีนคนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลพรรค DPP ไม่มีสิทธิ์ไปปิดกั้นหรือแทรกแซงความเห็น 

ประเด็นนี้ทำให้โฆษกกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันออกมาตอบโต้ โดยระบุว่าการแสดงความเห็นของประชาชนไต้หวันเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ดารานักร้องที่สนับสนุนการรวมชาติไม่มีวันได้รับผลกระทบหรือถูกคุกคามโดยรัฐ แต่การใช้อำนาจกดดันให้ศิลปินต้องแสดงจุดยืนหรือเลือกข้างทางการเมืองต่างหากที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง 

คนรุ่นใหม่ย้ำ ‘ไต้หวันไม่ใช่จีน’ แต่แนวคิด ‘รวมชาติ’ ยังไม่ตาย

แม้ไต้หวันจะพัฒนาตัวเองจนมีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน แต่ยังมีจุดอ่อนสำคัญเรื่องกองทัพที่ไม่สามารถเทียบกับจีนได้ เพราะจีนเป็นประเทศที่มีกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ติดอันดับ Top5 ของโลก

เครื่องบินรบ Mirage 2000 ของกองทัพอากาศไต้หวัน

เมื่อเป็นดังนั้น ทำให้ประชาชนและพรรคการเมืองไต้หวันบางส่วนหันกลับไปสนับสนุนแนวคิดรวมชาติกับจีน แต่พรรคการเมืองไต้หวันที่สนับสนุนแนวคิดรวมชาติก็ไม่เคยชนะการเลือกตั้งใหญ่ๆ เลยตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา 

ขณะที่พรรค DPP ซึ่งเป็นรัฐบาลไต้หวันในปัจจุบัน คือพรรคที่สนับสนุนเอกราชไต้หวันและเป็นสายประชาธิปไตย จึงกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ โดย ไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน เพิ่งถูกทางการจีนแถลงโจมตีว่าเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดแบ่งแยกดินแดน หลังจากที่เขากล่าวปราศรัยในวันชาติไต้หวันว่า จีนไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดชะตากรรมของคนไต้หวัน

ประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ

ส่วนโพลล่าสุดที่สำรวจความเห็นประชาชนไต้หวัน จัดทำโดย Pew Research ช่วงต้นปี 2024 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 41 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าตัวเองมีความผูกพันกับจีนในแง่อารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวพันประเด็นเชื้อชาติ สังคม และวัฒนธรรม แต่เมื่อถูกถามว่านิยามตัวเองเป็นคนไต้หวันหรือคนจีน พบว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไต้หวัน ไม่ใช่คนจีน 

ขณะที่ 28 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตัวเองเป็นคนไต้หวันเชื้อสายจีน และ 3 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตัวเองเป็นคนจีน โดยคนไต้หวันอายุระหว่าง 18-34 ปี และผู้สนับสนุนพรรค DPP คือกลุ่มประชากรใหญ่สุดที่ตอบว่าตัวเองเป็นคนไต้หวัน ไม่ใช่คนจีน 

ด้วยเหตุนี้ การนิยามความเป็นไต้หวันในเวทีโลก ณ ปัจจุบันจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนไต้หวันถกเถียงกันมาได้สักพักใหญ่ เพราะสาธารณรัฐจีนที่เคยเป็นตัวแทนชนชาติจีนในเวทีสหประชาชาติในอดีตไม่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนไต้หวันรุ่นใหม่ 

ผู้สนับสนุนพรรค DPP ในการเลือกตั้งไต้หวัน

กรณีล่าสุดที่ทำให้คนไต้หวันเถียงกันเรื่องนี้คือตอนที่นักกีฬาไต้หวันถูกเรียกขานในนามทัพนักกีฬา ‘จีนไทเป’ (Chinese Taipei) ขณะเข้าแข่งขันกีฬาปารีสโอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศส จึงมีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนให้รัฐบาลไต้หวันเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการจากสาธารณรัฐจีน Republic of China เป็น Taiwan จึงก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้ให้ความเห็นว่าถึงแม้จะเปลี่ยนความจริงเรื่องคนไต้หวันส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนไม่ได้ แต่อย่างน้อยอัตลักษณ์ ‘ไต้หวัน’ ก็น่าจะแตกต่างจากความเป็นจีน และอาจช่วยลดทอนความสำคัญของนโยบายจีนเดียวที่รัฐบาลจีนพยายามกล่าวอ้างลงได้บ้าง

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ