Humberger Menu

ตากใบ ในความทรงจำ

คดีตากใบหมดอายุความไปแล้ว โดยมีการนัดแถลงปิดคดีวันที่ 28 ตุลาคม 2567  

แน่นอนว่าในกระบวนการทางกฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว สิ่งที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปจึงคือการบันทึกความทรงจำต่างๆ เพื่อทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น บริบทแวดล้อม ผลสืบเนื่อง เพื่อไม่ให้ความสูญเสียจากการสลายชุมนุมตากใบหมดไปพร้อมๆ กับอายุความ 

ชิ้นส่วนความทรงจำที่น่านำมาปะติดปะต่อเป็นภาพรวมของเหตุการณ์ เช่น ผู้เสียชีวิต 85 ราย จากการสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ 7 ราย ที่เหลือขาดอากาศหายใจจากการขนย้าย 78 ราย, จังหวัดชายแดนใต้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษยาวนาน, ความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ 20 ปีผ่านนายกฯ 9 คน จึงสัมพันธ์กับเรื่องนโยบายทางการเมืองและการจัดการกองทัพอย่างชัดเจน, มีคำขอโทษ แสดงความเสียใจ มีการจ่ายเงินชดเชย แต่เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนร่วมและสั่งการหลบหนีจนคดีหมดอายุความ 20 ปี 

และมีคำยืนยันจากรองนายกฯ ว่าเรื่องตากใบเป็นเรื่องของรัฐไทย ไม่ใช่ของรัฐบาล

“จริงๆ ถ้าคดีต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน กระบวนการที่จะดำเนินการต่างๆ จะดีกว่านี้ ไม่ใช่เพิ่งมาเรียกร้องเอาช่วงสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงที่คดีกำลังถึงที่สุด”

ข้างต้นคือความเห็นของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ย้ำว่า ในส่วนคดีความถือว่าจบไปแล้ว และตากใบไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของรัฐไทย ซึ่งกำลังถูกคุกคาม ไม่ควรกระตุ้นจนรัฐบาลหรือรัฐไทยตกเป็นเหยื่อ ไม่ควรเอามาเป็นประเด็นทางการเมือง

ภูมิธรรม เวชยชัย 

"ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา ก็ต้องถือว่าจบแล้ว ส่วนจะรับบทเรียนไปหาทางแก้ไขคลี่คลายให้สบายใจยังไง มีการเรียกร้อง ผมเห็น สส.พรรคหนึ่งเรียกร้องว่าต้องดูแลเยียวยา ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปคิด แต่ไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะเรื่องเงินมันจบไปแล้ว รัฐบาลใช้เงินไปจำนวน 600-700 ล้านบาท ดูแลผู้เสียหายกับผู้เสียชีวิตไปแล้ว เพราะฉะนั้นการมาพูดเรื่องเงินอีก มันต่อความยาวสาวความยืดแบบไม่มีข้อยุติ ส่วนว่าเราจะดูแลจิตใจ เราก็ยืนยันไปแล้วว่า เงินที่เราจ่ายไปมันไม่สามารถที่จะซื้อชีวิตของคนที่เสียหายไปได้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคิด 

“เหนือสิ่งอื่นใด อย่าให้ประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วผมเรียนไปหลายครั้งแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นความมั่นคงของรัฐไทย เป็นปัญหาของรัฐไทย เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงรัฐไทย ไม่ใช่รัฐบาลไทย”

แพทองธาร ชินวัตร

ส่วนผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร กล่าวแสดงความเสียใจต่อกรณีตากใบหนึ่งวันก่อนหมดอายุความว่า  

“รู้สึกเสียใจกับผู้ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว มีการออกมาแสดงความเสียใจ ออกมาขอโทษ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลท่านนายกฯ ทักษิณ ท่านนายกฯ สุรยุทธ์ ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ออกมาแสดงความเสียใจ ขอโทษกับเหตุการณ์นี้ แล้วก็มีการชดเชยเยียวยาไปแล้ว แล้วตัวดิฉันเองที่เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ก็รู้สึกเสียใจเช่นกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และขอโทษ ในนามรัฐบาลจะพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก”

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวช่วงก่อนคดีตากใบหมดอายุความว่า การหลบหนีของจำเลยเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเห็นช่องว่างเรื่องอายุความ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยมีนัยว่า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่น่าจะเป็นไปได้

“ขอย้ำว่าคดีตากใบผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลนี้มีความรับผิดชอบด้วยซ้ำที่ไม่อยากให้คดีนี้ขาดอายุความ จึงได้รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา แต่เราไม่สามารถไปแทรกแซงศาลและอัยการได้ โดยในมุมของประชาชนที่ฟ้องร้องคดีก็จะมีความภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเคยออกหมายจับอดีตแม่ทัพได้ เพราะที่ผ่านมาญาติพี่น้องผู้สูญเสียเคยถูกออกหมายจับอย่างเดียว แต่วันนี้เขาคืนความเป็นธรรมด้วยการทำให้กระบวนการยุติธรรมออกหมายจับฝ่ายราชการได้”

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง 

ด้านฝั่งประชาชน แบมะ (นามสมมติ) ผู้สูญเสียพี่ชายในเหตุการณ์ตากใบ หนึ่งใน 48 ญาติผู้เสียชีวิตที่รวมตัวกันฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส นำมาสู่การสั่งฟ้องและออกหมายจับจำเลย 7 คน คาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ว่า

“เราอยากขอความยุติธรรมเป็นสิ่งแรก” ในความหมายของเขา เงินชดเชยและคำขอโทษไม่ใช่สิ่งที่ญาติผู้สูญเสียปรารถนาที่สุด

“มันเป็นการเสียชีวิตที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่การกระทำโดยปกติ ยิ่งรู้เรื่องการขนย้ายผู้ชุมนุม ยิ่งรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ทำเหมือนผู้ชุมนุมไม่ใช่คน หากหาคนกระทำความผิดได้ ความรู้สึกของชาวบ้านก็จะลดลง แม้อายุความจะหมดไป แต่ความรู้สึกสูญเสียยังคงอยู่ ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ทว่าความเส้นทางกระบวนการยุติธรรมคดีตากใบไม่ได้เลือกรัฐบาล ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าหลังจากวันเกิดเหตุ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อถึงกำหนดเวลาขาดอายุความ 20 ปี จะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลไหน ใครเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร และคงไม่มีใครพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าว่า นายกฯ ในปีที่เหตุการณ์ตากใบเริ่มต้นกับปีที่คดีตากใบ ‘จบไปแล้ว’ จะเป็นบิดาและบุตรสาวนามสกุลเดียวกัน 

แต่เมื่อเหตุการณ์และกระบวนการทางกฎหมายหมดเวลา หลังจากมีความพยายามฟื้นคดีมาแล้วหลายครั้ง การคืนความเป็นธรรมให้กับเหตุการณ์ตากใบจึงเหลือเพียงการจดจำ และไม่หลงลืมว่าเป็นอีกครั้งที่การกระทำรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนเป็นเหตุให้ความตายตกแก่ประชาชน แต่ไม่มีใครต้องรับผิด

จดจำเหตุการณ์ตากใบ

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนกว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน มาชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน ซึ่งถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้พวกเขาไป 6 กระบอก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่า ชรบ. 6 คนนี้แจ้งความเท็จ 

ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจจึงมาร่วมชุมนุมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งของพวกเขาให้เหตุผลว่า เมื่อมกราคมของปีเดียวกัน ปืนถูกปล้นจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ไป 300-400 กระบอก กลับไม่มีการดำเนินการเอาผิดกับทหาร แต่กรณี ชรบ. ถูกปล้นปืน กลับถูกจับกุมและไม่ให้ประกันตัว

ยิ่งเวลาผ่านไป ประชาชนยิ่งเข้ามาสมทบการชุมนุมเพิ่มขึ้นจนจำนวนราว 2,000 คน เมื่อการชุมนุมส่อเค้าจะเกิดการใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ พลโทพิศาล รัตนวงศ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงสั่งการให้สลายการชุมนุมโดยฉีดน้ำและโยนระเบิดแก๊สน้ำตาจนสองฝ่ายปะทะกัน 

เหตุการณ์ตากใบจึงหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ 

รายงานคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระบุข้อมูลว่าทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต ณ จุดปะทะทันที 7 ศพ โดย 5 ศพถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือถูกฝ่ายรัฐจับกุมควบคุมตัวทั้งสิ้น 1,370 คน 

ผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นผู้ชายถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลังทุกคน และผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนหนึ่งยังถูกนำเชือกยาวมาร้อยพันธนาการเข้าด้วยกันเป็นชุด ชุดละประมาณ 10 คน และบางคนถูกตีด้วยพานท้ายปืน 

จากนั้น ผู้ถูกควบคุมจึงถูกจับนอนซ้อนทับกันไปบนรถบรรทุกทหาร จำนวน 25 คัน โดยนอนทับซ้อนกันมากกว่าสองชั้น โดยที่ลักษณะของกระบะรถบรรทุกมีหลังคาเป็นผ้าใบ และด้านข้างมีโครงเหล็กสำหรับผ้าใบ (แต่ผ้าใบมิได้คลี่ลงมา) การนำผู้ถูกควบคุมขึ้นรถบรรทุก มีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีระยะทาง 150 กิโลเมตร จากจุดชุมนุม 

การไต่สวนการตายระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ที่กระทำการตามกฎหมาย ดำเนินไปภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ซึ่งยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต 

ต่อมา พนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงสิ้นสุดลง โดยไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ และฝ่ายผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องเองต่อศาล

หากเรานำจำนวนผู้ถูกลำเลียงกับจำนวนรถที่ใช้ลำเลียงมาคำนวณ จะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว รถบรรทุก 1 คัน ลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัวที่ถูกมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำซ้อนทับกันมากกว่า 2 ชั้น จำนวนคันละ 50 คน แต่หากพิจารณาจากรายงานของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) จะพบว่า รถบรรทุกบางคันลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัวอัดซ้อนทับกันถึง 70 คน และบางคันถึง 90 คน

จำนวนผู้ถูกควบคุมตัวกับจำนวนรถบรรทุก และด้วยสภาพของวิธีการบรรทุกนอนคว่ำซ้อนกัน ส่งผลให้เมื่อรถลำเลียงไปถึงปลายทาง มีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตไป 78 ราย โดยผู้รอดชีวิตจากการถูกควบคุมตัวและลำเลียงด้วยรูปแบบข้างต้นจำนวนหนึ่งพิการ เช่น กล้ามเนื้อเปื่อยเพราะถูกกดทับเป็นเวลานาน หรือเป็นโรคไตเพราะขาดน้ำเป็นเวลานาน

กว่า 20 ปีที่คดีไม่คืบหน้า

ผู้เสียชีวิต 85 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 7 รายที่หน้า สภ.ตากใบ แต่เนื่องจากไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในช่วงชุลมุน พนักงานอัยการปัตตานีจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน 

ส่วนผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย 78 รายนั้น วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งคดี ช. 16/2548 ได้ความสรุปจากคำสั่ง คือผลการชันสูตรพลิกศพผู้ตายพบว่า ผู้ตายทั้ง 78 รายถึงแก่ความตาย เนื่องจาก ‘ขาดอากาศหายใจ’

โดยมีพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันสนับสนุน เห็นว่า พยานผู้ร้องทั้ง 15 ต่างได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่พบเห็นในวันเกิดเหตุทั้งก่อน ขณะและเกิดเหตุได้อย่างสอดคล้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน แม้ผู้ร้องซักถามได้นำสืบในทำนองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวบางคนเป็นผู้ที่เข้าไปดูการชุมนุม การสลายการชุมนุม และการควบคุมผู้ร่วมชุมนุมเดินทางเคลื่อนย้ายไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และวิธีการในการสลายการชุมนุม

การเคลื่อนย้ายผู้ร่วมชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าปกติ แต่เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกปัจจุบันทันด่วนในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมที่มีจำนวนมากกว่า 1,000 คนซึ่งร่วมชุมนุมกันในบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบอันมีพื้นที่จำกัด และบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ประกอบกับการสลายการชุมนุมเสร็จสิ้นลงในเวลาค่ำ รถยนต์บรรทุกที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ร่วมชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่ทางราชการสามารถจัดหาได้ในท้องที่เกิดเหตุในขณะนั้น ระยะทางจากหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธฯ ห่างไกลกัน สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นขัดขวางต่อการเดินทาง

ดังนี้ หากมิได้ควบคุมเคลื่อนย้ายผู้ร่วมชุมนุมออกจากบริเวณที่เกิดเหตุโดยเร็ว อาจจะเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลายซึ่งไม่อาจคาดหมายได้ขึ้นอีก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องรีบดำเนินการดังกล่าวในทันทีอย่างต่อเนื่อง พยานหลักฐานของผู้ร้องซักถามจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องข้อเท็จจริงฟังได้ว่า

ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเข้าสลายการชุมนุม และควบคุมผู้ที่ร่วมชุมนุมนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยให้ได้ในขณะนั้น อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่

การที่ผู้ตายทั้ง 78 ถึงแก่ความตายในระหว่างการควบคุมเคลื่อนย้ายเพื่อนำส่งค่ายอิงคยุทธฯ จึงถึงได้ว่าผู้ตายทั้ง 78 ถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อาศัยเหตุผลดังวินิจฉัยมาจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม  2547 เหตุ และพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้ง 78 ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานอัยการจึงส่งสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก (ในพื้นที่ของค่ายอิงคยุทธบริหาร) ให้ดำเนินการต่อไป แต่หลังจากนั้นจนถึงปี 2566 ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ 

รื้อฟื้นคดีตากใบก่อนหมดอายุความ

การรื้อฟื้นคดีตากใบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเพราะคดีใกล้หมดอายุความ

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมายฯ) สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ จากการยื่นคำร้องของประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา เนื่องจากคดีตากใบใกล้หมดอายุความ จากนั้นทาง กมธ. ได้เชิญ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), สำนักงานอัยการภาค 9, ตำรวจภูธรภาค 9, สภ.ตากใบ และ สภ.หนองจิกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงว่าในขณะนี้ไม่พบสำนวนคดี จึงไม่สามารถดำเนินการต่อในทางกฎหมายได้ ท้ายที่สุดทาง กมธ. มีมติทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทำการเร่งรัดความคืบหน้าของคดีนี้ โดยทางสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 ได้ขอเวลาติดตามสำนวนภายใน 30 วันนับจากวันที่ประชุม 

แต่เมื่อไม่มีความคืบหน้า ในวันที่ 25 เมษายน 2567 กลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต 48 คน จึงฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่อศาลนราธิวาสด้วยตัวเอง และในวันเดียวกัน พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ได้ตั้งสำนวนขึ้นมาใหม่ และมีความเห็นว่าควรสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ

กระทั่งศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องเสร็จสิ้น จึงประทับรับฟ้องในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 

ข้อหาในการยื่นฟ้อง

  • ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น
  • ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
  • ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยสองรอบ 12 กันยายน และ 15 ตุลาคม 2567 แต่ก็ไม่มีจำเลยคนใดปรากฏตัว และคาดว่าจะหลบหนีจนคดีหมดอายุความ

จำเลยทั้ง 7 คน คือ

  • พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 
  • พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 
  • พลตำรวจเอกวงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
  • พลตำรวจโทมาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 
  • พลตำรวจตรีศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ 
  • ศิวะ แสงมณี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 
  • วิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

ชื่อของพลเอกพิศาลถูกเพ่งเล็งจากสาธารณชนหลังจากศาลมีคำสั่งฟ้อง เนื่องจากพลเอกพิศาลซึ่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายทหารในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็น สส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยหลังการเลือกตั้ง 2566 

หากย้อนอดีตไปจุดตั้งต้น พลเอกพิศาลเป็นเพื่อนของ ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เรียนเตรียมทหารรุ่นติดกัน (พลเอกพิศาล ตท. 9 และทักษิณ ตท. 10) ขณะประจำการในพื้นที่ภาคใต้ พลเอกพิศาลขึ้นตรงต่อ ผบ.ทบ. พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลตรีเมื่ออายุ 44 ปี และเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ในรัฐบาลทักษิณ ปี 2547 

พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี

จึงมีหลายคนพยายามเชื่อมโยงว่า การตามดำเนินคดีกับพลเอกพิศาล เป็นประเด็นทางการเมืองที่พยายามกระทบชิ่งถึงทักษิณ และส่งผลมาถึงแพทองธาร 

คดีการขนย้ายผู้ชุมนุม

อย่างที่รู้กันว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายเสียชีวิตจากการขนส่งระหว่างตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธฯ โดยสาเหตุคือขาดอากาศหายใจ

เป็นที่มาของอีกคดีหนึ่งที่อัยการส่งฟ้อง หลังจากก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิกมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่

12 กันยายน 2567 วันเดียวกับวันนัดศาลในคดีที่ญาติฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ อัยการสูงสุดก็มีคำสั่งส่งฟ้องคดีตากใบในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พลตำรวจโทอิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา กรณีนำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกอย่างแออัด ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จนมีผู้เสียชีวิต 78 คน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาโดยวินิจฉัยว่าจากพยานหลักฐานที่ได้ไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ซึ่งมีทั้งพลขับและผู้ควบคุมการขนย้ายผู้ชุมนุม จะไม่ประสงค์ผลที่จะให้ถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คันในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 กว่าคนเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 และ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสม การที่ผู้ต้องหาที่ 2- 6 และ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าวอันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในการควบคุมของพนักงานการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจได้ ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็น ‘ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น’

ทั้งนี้ ในคดีที่สองนั้น ทั้ง 8 คนยังเป็น ‘ผู้ต้องหา’ เพราะยังไม่ถูกฟ้องต่อศาล แต่ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม 7 คนในคดีแรกเป็น ‘จำเลย’ เพราะศาลนราธิวาสสั่งฟ้องแล้ว 

ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน คือ

  • พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร. 5) ผู้สั่งสลายการชุมนุม  
  • ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับวิษณุ เลิศสงคราม พลขับ
  • เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร พลขับ
  • ปิติ ญาณแก้ว พลขับ
  • พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ
  • พันโทประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ควบคุมขบวนรถ
  • ร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ พลขับ

ความยุติธรรมที่หมดอายุ

‘อายุความ’ (prescription) คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้อง หรือสิทธิร้องทุกข์ หากเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิที่ว่านั้นจะหมดไป คดีนั้นๆ จึง ‘ขาดอายุความ’ หรือหมดอายุความ

วัตถุประสงค์ตั้งต้นของการกำหนดอายุความนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อกำหนดวันหมดอายุ แต่มีไว้เพื่อสร้างกรอบเวลาให้กระบวนการสอบสวนและพิสูจน์หาความจริงดำเนินไปอย่างเร็วที่สุด ในช่วงเวลาที่พยานและหลักฐานยังสดใหม่ ตรวจสอบได้ง่าย ไม่เสื่อมสลายคลาดเคลื่อนตามกาลเวลา อยู่ในระยะความทรงจำของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การตัดสินและพิจารณาคดีมีความผิดพลาดน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสภาพบังคับให้เจ้าหน้าที่เร่งทำงานภายในกรอบเวลา อาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็นเดดไลน์ของกระบวนการยุติธรรม

ข้อหาของจำเลย 7 คนในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องโดยสรุปคือ ร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ส่วนอีกคดีของผู้ต้องหาทั้ง 8 คนที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายผู้ชุมนุม ถูกกล่าวหาว่า มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งคดีตากใบนั้นทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้อื่น ซึ่งตามกฎหมายอาญากำหนดโทษไว้คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10–20 ปี

ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา กำหนดเรื่องอายุความไว้ว่า ในคดีอาญา ที่มีโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี ถ้าไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด จะถือว่าขาดอายุความ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในทางปฏิบัติ คำว่า ‘หมดอายุความ’ ไม่ได้เป็นเรื่องของการรีบเร่งทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่กลายเป็นเส้นตายให้ผู้กระทำผิด ‘หนี’ จนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะคดีหมดอายุ เช่น หากจำเลยคดีตากใบสามารถหลบหนีได้จนพ้นเที่ยงคืนวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ก็จะถือว่าความผิดจากคดีที่ติดตัวหมดอายุไปด้วย ไม่สามารถเอาผิดอะไรได้อีก ตามมาตรา 39 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วยเหตุแห่งอายุความ

คำขอโทษและเงินชดเชย แลกความยุติธรรม

เหมือนที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แถลงขอโทษกรณีตากใบ และอ้างอิงว่าอดีตนายกฯ คนที่ผ่านๆ มา ก็เคยแสดงความเสียใจและแสดงความรับผิดชอบส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น 

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ 

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรียุคหลังการรัฐประหาร คมช. กล่าวขอโทษในกรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ปีเมื่อปี 2547 ว่า

"ผู้นำชุมชนได้ขอร้องผมว่าให้กล่าวคำขอโทษต่อกรณีที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ โดยธรรมเนียมของคนมุสลิมในช่วงที่ออกจากการถือศีลอดนั้น ต้องมีการขอโทษและให้อภัยกัน ผมก็ได้ขอโทษแทนรัฐบาลชุดที่แล้ว และในฐานะที่เป็นผู้นำของผู้บริหารรัฐบาลปัจจุบันก็ขอโทษในเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น และได้ชี้แจงให้ทราบถึงว่าการดำเนินการต่อกรณีตากใบนั้นได้ดำเนินการทั้งในส่วนของผู้ที่ก่อเหตุและผู้ที่ได้ดำเนินการในลักษณะที่ปราบปรามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น”

 "ผมขอโทษแทนเจ้าหน้าที่และรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ ขอยื่นมือออกไปแล้วบอกว่าผมเป็นคนผิด ผมขอโทษ ผมเคยเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน และเคยพยายามคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เป็นผล ถือว่าผมมีส่วนผิดด้วย ที่คัดค้านการยุบ ศอ.บต.ไม่สำเร็จ แต่วันนี้ พลเอกสนธิ (บุญยรัตกลิน) มาทำงานร่วมกัน น่าจะไม่มีปัญหาในทุกเรื่องเราจะหาทางแก้ไขจากง่ายไปหายาก จากเล็กไปหาใหญ่"

อีกด้านหนึ่ง เป็นเวลานานมากที่ญาติผู้สูญเสียรอคอยคำขอโทษของ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในยุคความรุนแรงภาคใต้ระลอกหลังเกิดขึ้น และทำให้เกิดกฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยาวนานสองทศวรรษ เรื่องที่ว่าทักษิณเองก็ต้องเผชิญวิกฤติทางการเมืองตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จนโดนรัฐประหารก่อนที่จะทำอะไรเรื่องตากใบอย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้ 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความคืบหน้าของเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นในสมัยนายกฯ จากบ้านชินวัตรคนที่สอง เมื่อปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งงบเยียวยาผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอดรวมการจ่ายเยียวยาเฉพาะกรณีตากใบกรณีเดียว 641 ล้านบาท โดยเริ่มจ่ายงวดแรกจำนวน 3.5 ล้านบาท เมื่อวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2555

  • กรณีเสียชีวิต 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
  • กรณีทุพพลภาพ 1 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท 
  • กรณีบาดเจ็บ 49 ราย ตั้งแต่ 225,000 บาท ถึง 4.5 ล้านบาท
  • กรณีถูกดำเนินคดี 30 ราย รายละ 30,000 บาท)
  • กรณีถูกควบคุมตัว แต่ไม่ถูกดำเนินคดี 794 ราย รายละ 15,000 บาท) 

คำขอโทษของทักษิณ

หลังเงียบหายไปนานระหว่างการพำนักที่ต่างประเทศ ทักษิณปรากฏตัวช่วงปี 2564 ทางแอปพลิเคชัน Clubhouse ในชื่อ โทนี่ วู้ดซัม

เมื่อถูกผู้เข้าร่วมรับฟังท่านหนึ่งยิงคำถามเกี่ยวกับกรณีกรือเซะและตากใบ ส่วนหนึ่งของคำพูดทักษิณที่สร้างกระแสความไม่พอใจอย่างมากคือส่วนหนึ่งของประโยคว่า “จำไม่ค่อยได้”

ปีถัดมา วันที่ 19-25 มิถุนายน 2565 ในวงเสวนาหัวข้อ ‘Scenario Patani’ หรือ ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ โดย the Motive ที่เชิญวิทยากรหลากหลายมาร่วมพูดคุย รวมทั้งบุคคลทางการเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร 

แม้ไม่ได้กล่าวขอโทษต่อแเหตุการณ์จังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2547 แต่ทักษิณก็ยอมรับความผิดพลาดของกรณีดังกล่าว - ซึ่งแน่นอนว่าจำได้

“ก็ต้องยอมรับว่า ตอนที่ผมเป็นนายกฯ ผมอาจจะเน้นเรื่องของความมั่นคงเกินไป แล้วตอนหลังมา ผมมาพบว่ามันไม่ถูกต้อง หลังจากที่ผมคิดว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนั้นผมก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน” และอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกทำรัฐประหารในปี 2549 ยังย้อนถึงเรื่องราวต่อว่า

“สิ่งที่ผิดก็ต้องยอมรับว่าผิด สิ่งที่พลาดก็ยอมรับว่าพลาด แล้วสิ่งที่จะถูกต้องยังไง ก็ต้องมาคุยร่วมกัน ปรึกษาร่วมกัน และทำงานร่วมกัน” 

ทักษิณเพิ่งเอ่ยคำขอโทษต่อกรณีเมื่อปี 2547 ในวันครบรอบ 18 ปีตากใบ 25 ตุลาคม 2565 โดยให้สัมภาษณ์กับ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ในรายการ CareTalk X CareClubhouse 

ทักษิณย้อนว่า ในวันเกิดเหตุเป็นวันรอมฎอน ได้รับรายงานขณะตีกอล์ฟย่านบางนาว่า มีประชาชนล้อมสถานีตำรวจ ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา มารู้อีกทีก็หลังเหตุการณ์เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม

"ซึ่งในวันนั้นมีการล้อมสถานีตำรวจอยู่นาน เจ้าหน้าที่ใช้น้ำฉีดและมีการปะทะกัน เข้าใจว่ามีผู้เสียชีวิตที่นั่นประมาณ 6 คน ซึ่ง อันนี้เป็นเรื่องของฝ่ายปกครอง ของตำรวจ รวมถึงทหารนิดหน่อย ตอนนั้นผมรู้ถึงจุดนี้ หลังจากนั้นก็มีการสลายการชุมนุมและมีการจับคนที่มาชุมนุมไป ตอนนั้นผมรู้ว่ามีการจับ แต่ผมไม่รู้เลยว่าจับยังไง ใครเอาไปไว้ที่ไหน ไม่มีใครรายงานผมแล้ว พอรู้อีกที่คือมีการตายเกิดขึ้น ผมจึงถามว่าทำไมถึงมีคนตาย มันจบไปแล้วที่นั่น ทำไมต้องตายกันอีกเยอะแยะ ปรากฏว่าลำเลียงผู้ต้องหาซึ่งอ่อนล้าจากการอดอาหารมาทั้งวันเพราะเขาถือศีลอด และแทนที่จะเอาไปไว้บนรถบรรทุกดีๆ กลับเอาคนไปซ้อนกัน ซึ่งผมคิดว่ามนุษย์ทั่วไปไม่น่าจะคิดได้อย่างนั้น ทำให้คนขาดอากาศหายใจมีทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ผมมารับรู้รายงานที่หลัง ผมก็เสียใจว่าทำไมมันซื่อบื้อขนาดนี้ ผมเป็นคนเกลียดคนโง่อยู่แล้ว” 

ที่สุดแล้ว คำขอโทษก็ออกมาจากอดีตนายกฯ 

“ผมถือว่าถึงแม้ผมไม่ได้สั่งการ แต่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผมต้องขอโทษ ขออภัย แก่บรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่สูญเสีย และผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นด้วย เพราะจริงๆ ที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นความผิดพลาดอย่างแรงของการลำเลียงผู้ต้องหาแบบนั้น”

ความตายในความทรงจำ

รายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ

1. นายมะ อูเซ็ง

2. นายนาซือรี อิบรอเฮง

3. นายรอยะ มามะ

4. นายอาดูฮา อาแว

5. นายฮัมรัน อารง

6. นายรุสดี เจ๊ะเงาะ

7. นายอับดุลอายิ ยาซิง

8. นายอับดุลเนาะนิง สาวนิ

9. นายอิดเรส อูเซ็ง

10. นายสุทธิ ยูมะโซะ

11. นายยา ยูมะโซะ

12. นายอาแซ สะมะแอ

13. นานอับดุลการิม เจ็ะหะ

14. นายรอยมี ดือเระ

15. นายอิดเร๊ะ อาแว

16. นายหารน อาแว

17. นายสะมะแอ มูดอ

18. นายอับดุลรอฮิม ลีเมาะ

19. นายอิดเร๊ะ อาแว

20. นายหารน อาแว

21. นายสะมะแอ มูดอ  

22. นายอับดุลรอฮิม ลีเมาะ

23. นายอาเเวเลาะ ปะจูกูเล็ง

24. นายยะรี เจ๊ะแม

25. นายรอปีดี มะแซ

26. นายอารี อาแว

27. นายซัมรี อาแวบาโง

28. นายเพาซี แมแล

29. นายแวหะเล็ง วาเด็ง

30. นายมะรอหิง มากะ

31. นายอาหามะ สะรี

32. นายสาโรจน์ โต๊ะแล

33. นายมาหามะเพาซัน บูละ

34. นายดุลกีพือลี มะซา

35. นายสะรี มูซอ

36. นายอับดุลลาเต๊ะ วานิ

37. นายอาร์ฮัม มะวิง

38. นายมามาสุกรี ลาเต๊ะ  

39. นายฮารุมิง มามะกูตง

40. นายมามะสอเเละ อูมา

41. นายฮาเซ็ง อาแว

42. นายรอซี สาแม

43. นายซำซูเด็น มะโซ๊ะ

44. นายมาหะมะ สะมะแอ

45. นายฮารงค์ ปะดอมะ

46. นายมะยูแล เงาะสีหา

47. นายมือลี อาแวกือจิ

48. นายอาบีดี กาบากอ

49. นายซาบูดิง ยูโซ๊ะ

50. นายมะอูเซ็ง สือนิ

51. นายอารง สู

52. นายมูฮำมะซอเร มัยเซ็ง

53. นายเจ๊ะสามูดิง แกมะ

54. นายอาบูการ์ กาเซ็ง

55. นายอิรอเฮม สือมาแอ

56. นายมูฮัมหมัด โซ๊ะ

57. นายมาหะมะ เล๊าะบากอ

58. นายบูกรี สาเมาะ

59. นายอับดุลฮาดี อุเซ็ง

60. นายการียา หะยีมะ

61. นายมะหาดี นิจ๊ะ

62. นายมะกือตา มามะ

63. นายสุรเขษฐ์ ลาเต๊ะ

64. นายกามารูเด็ง บูกุ๊

65. นายอาเด๊ะอาแว เจ๊ะแว

66. นายอิหซาน บินสะกรี

67. นายอับดุลรอซ๊ะ ตีมะซา

68. นายมะหะหมัดอาบี เจ๊ะโซ๊ะ

69. นายมะรอนิง สาเเล๊ะสาลีฮี

70. นายดอหะ อาแว

71. นายกิปพลี มามะ

72. นายบาสรี สือนิ

73. นายมะไซดี บือราเฮง

74. นายรอซือไมย์ สาเเละ

75. นายรอนิง สุหลง

76. ด.ช.มูหาหมัดสับรี อาบูคารี

77. นายอุสมัน คาเดร์

78. นายแอมซอละห์ อาแว

79. นายอาแวเลาะ ปะจูกูเล็ง

80. นายตูแวอารง มะหะมะเซ็ง

81 นายมูหาหมัดไซนูร์ กอเซ็ง

82. นายมะกอเซ็ง มามะ

83. นายเปาซี เจ๊ะมามะ  

84. นายมาหามะอาซือมี อาแว

85. นายอับดุลตอเละ เเซตอ

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์