Humberger Menu

เครือจักรภพ อาจยังไม่เป็นสาธารณรัฐ?

การเสด็จเยือนออสเตรเลียและซามัวของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อ 18-26 ตุลาคมที่ผ่านมา จุดประกายการเป็นสาธารณรัฐของออสเตรเลีย รวมถึงประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพขึ้นมาอีกครั้ง

กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

ออสเตรเลียเคยจัดประชามติกรณีสาธารณรัฐมาแล้วเมื่อปี 1999 ในเวลานั้นมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย 55 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อปี 2023 ได้จัดประชามติ ‘เดอะวอยซ์’ (2023 Australian Indigenous Voice referendum) เรื่องการบรรจุชื่อของชาวออสเตรเลียพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ผลโหวตไม่เห็นด้วยยังชนะไปด้วยคะแนน 60 ต่อ 40 เปอร์เซ็นต์

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอนโธนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ผู้สนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐของประเทศมาตลอด ได้ยับยั้งแผนการจัดประชามติกรณีสาธารณรัฐ โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า ‘ยังไม่ใช่เรื่องสำคัญลำดับต้นๆ’ และ ‘ยังไม่มีกำหนดเวลา’ สำหรับเรื่องนี้

บรรยากาศการเยือนออสเตรเลียและร่วมพิธีเปิดประชุมประมุขรัฐเครือจักรภพที่ซามัวดูจะราบรื่น หากไม่นับความวุ่นวายเพียงไม่กี่นาทีจากการประท้วงของสมาชิกวุฒิสภา และความหวังว่าจะมีคำขอโทษในกรณีค้าทาสนานกว่า 400 ปีที่ยังหลอกหลอนอดีตเจ้าอาณานิคมอยู่จนทุกวันนี้

สาธารณรัฐหรือไม่ ประชาชนออสเตรเลียคือผู้ตัดสินใจ

ปัจจุบันออสเตรเลียยังมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐ หากจะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐอาจต้องผ่านการทำประชามติ

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลีย สำนักข่าว The Daily Mail เผยแพร่จดหมายที่กลุ่ม ขบวนการสาธารณรัฐออสเตรเลีย (Australian Republic Movement: ARM) ได้รับการตอบกลับจากสำนักพระราชวังอังกฤษในนามของกษัตริย์

“การที่ออสเตรเลียจะกลายเป็นสาธารณรัฐหรือไม่” เป็น “เรื่องที่ประชาชนชาวออสเตรเลียจะตัดสินใจ” บางส่วนจากจดหมายตอบกลับระบุ 

กลุ่ม ARM รณรงค์ข้อเรียกร้องด้วยการเรียกการเสด็จเยือนออสเตรเลียครั้งนี้ว่า ‘ทริปอำลาออสเตรเลีย’ (Farewell Oz Tour)

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นการเยือนรัฐสภาออสเตรเลียของกษัตริย์อังกฤษ หลังจากพระเจ้าชาร์ลส์จบสุนทรพจน์พร้อมเสียงปรบมือ มีเสียงตะโกนจาก ลิเดีย ธอร์ป สมาชิกวุฒิสภาอิสระจากรัฐวิกตอเรีย ว่า “ที่นี่ไม่ใช่แผ่นดินของพระองค์” และพระองค์ “ไม่ใช่กษัตริย์ของฉัน”

เหตุประท้วงของ สว. เชื้อสายชาวออสเตรเลียพื้นเมืองผู้นี้กลางรัฐสภาอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ธอร์ปเคยมีกรณีโด่งดังที่เธอเรียกพระราชินีอังกฤษว่า ‘เจ้าอาณานิคม’ ในวันสาบานตนรับตำแหน่ง

อีกประเด็นที่ธอร์ปตะโกนก้องในรัฐสภาคือ เรื่องสนธิสัญญา น่าสังเกตว่าอดีตอาณานิคมของอังกฤษอื่นๆ อย่างนิวซีแลนด์ มีการทำสนธิสัญญากับชนพื้นเมือง แต่ในออสเตรเลียกลับไม่เคยเกิดขึ้น ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสที่ถือเป็นชาวออสเตรเลียพื้นเมือง หรือชนกลุ่มแรกของชาติ (First Nations) จำนวนมากย้ำว่าไม่เคยยอมยกอำนาจอธิปไตยหรือดินแดนของตนให้กับราชวงศ์อังกฤษ

ลิเดีย ธอร์ป

สิ่งที่ธอร์ปเรียกร้องต่อกษัตริย์อังกฤษคือ การผลักดันต่อรัฐสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาสันติภาพกับชนกลุ่มแรก

“เราสามารถเป็นผู้นำได้ เราสามารถเป็นประเทศที่ดีขึ้นได้ แต่เราไม่อาจก้มหัวให้กับเจ้าอาณานิคม ซึ่งบรรพบุรุษที่เขาพูดถึงในที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ธอร์ปกล่าว

ออสเตรเลียยังไม่รีบเป็น ‘สาธารณรัฐ’

แม้จะรู้กันมานานแล้วว่า แอนโธนี อัลบาเนซี สนับสนุนอยากให้ออสเตรเลียเป็นสาธารณรัฐ แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียไม่รีบหนุนให้ทำประชามติ ทั้งที่มีการตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณรัฐ (Assistant Minister for the Republic) เมื่อปี 2022

ผลสำรวจที่ว่า ชาวออสเตรเลียพอใจกับระบอบเดิม

หลังพิธีราชาภิเษกเมื่อปีที่แล้ว Roy Morgan Research เปิดผลสำรวจความคิดเห็นคนออสเตรเลียว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องการให้ประเทศอยู่ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนผลสำรวจโดย YouGov ปีเดียวกัน พบว่า - 35 เปอร์เซ็นต์ยังต้องการระบอบเดิม - 32 เปอร์เซ็นต์ต้องการเป็นสาธารณรัฐโดยเร็วที่สุด - 12 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าจะเป็นไปได้ ต่อเมื่อสิ้นประมุขอังกฤษ - 21 เปอร์เซ็นต์เลือกตอบเพียงไม่ทราบ

ปัญหาปากท้องอาจสำคัญกว่า

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณรัฐ แมตต์ ทิสเทิลธเวต กล่าวว่า “ไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอน” สำหรับการจัดประชามติกรณีสาธารณรัฐ แต่เขากลับเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม ทิสเทิลธเวตยังไม่ยอมแพ้ และยืนยันว่าเรื่องนี้อยู่ในแผนการระยะยาวของรัฐบาลพรรคแรงงานที่ต้องทำให้สำเร็จ

ประชามติสำคัญของออสเตรเลีย

ประชามติครั้งล่าสุดในออสเตรเลียเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อขอความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้การรับรองชาวออสเตรเลียพื้นเมืองอย่างอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส หรือที่รู้จักในชื่อประชามติ ‘เดอะวอยซ์’ (2023 Australian Indigenous Voice referendum) ผลปรากฏว่าโหวตโนชนะไปด้วยคะแนนเสียง 60 ต่อ 40 เปอร์เซ็นต์ แม้มีหลักฐานว่าชนกลุ่มแรกของชาติอาศัยอยู่ในออสเตรเลียอย่างน้อย 65,000 ปี และปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 26 ล้านคน แต่กลับเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสทางสังคม-เศรษฐกิจที่สุดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามทวงคืนเสียงให้กับพวกเขาต่อไป นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้แต่น้อมรับการตัดสินใจของประชาชนที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แม้พยายามบอกว่า ไม่ว่าจะโหวตเยสหรือโหวตโน ทุกคนคือคนออสเตรเลียด้วยกัน แต่ผลประชามติสะท้อนให้เห็นว่ามีการแบ่งขั้วทางความคิดอย่างชัดเจน การจัดประชามติกรณีสาธารณรัฐในเวลาไล่เลี่ยกันอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

จับตาอนาคตประเทศเครือจักรภพ

ปัจจุบันจาก 56 ดินแดนสมาชิกในเครือจักรภพ มี 15 ประเทศที่มีสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นประมุข ในจำนวนนี้รวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ จาเมกา เบลีซ ตูวาลู ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน

นอกจากออสเตรเลีย ยังมีประเทศเครือจักรภพอื่นๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญไปสู่สาธารณรัฐ

มีทั้งประสบความสำเร็จอย่างบาร์เบโดส ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐในปี 2021 โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ที่จะยุติการปกครองระบอบเดิม จึงถอด สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ประมุขอังกฤษขณะนั้น) จากการเป็นประมุขของรัฐ 

ประเทศในแถบแคริบเบียนอย่างจาเมกาและเบลีซ มีกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ต่อต้านการล่าอาณานิคม และเรียกร้องให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ

ในปี 2022 รัฐบาลจาเมกาประกาศว่ามีความตั้งใจเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2025 โดยมีเงื่อนไขว่าสภาต้องมีมติเห็นชอบ 2 ใน 3 ร่วมกับการจัดทำประชามติ

ในเดือนกันยายน 2022 หลังการสวรรคตของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สองสัปดาห์ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ให้สัมภาษณ์ว่า “ระบบของเรายังสมดุลดี และระบบนี้จะยังคงให้บริการชาวแคนาดาได้เป็นอย่างดี”

ทรูโดระบุว่า สถาบันกษัตริย์อังกฤษมีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ โดยมอบอำนาจการปกครองให้กับรัฐบาลแคนาดา การเปลี่ยนแปลงระบบปัจจุบันต้องได้รับมติเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมถึงความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ของทั้ง 10 มณฑล

คริสโตเฟอร์ ลักซอน และกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

ส่วนนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ คริสโตเฟอร์ ลักซอน ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ซอฟต์รีพับลิกัน’ เชื่อว่าในที่สุดประเทศจะเป็นสาธารณรัฐ แต่มองว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และยังไม่มีใครยกเรื่องนี้ขึ้นมาตั้งแต่เขารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

กษัตริย์ผู้เปิดรับการเปลี่ยนแปลง?

กษัตริย์ของอังกฤษเป็นเพียงสัญลักษณ์ของเครือจักรภพ

หลังจากสืบราชสมบัติเมื่อปี 2022 และมีพิธีราชาภิเษกในปีถัดมา ชาร์ลส์ที่ 3 มีภาพของกษัตริย์ผู้เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แผนการเสด็จเยือนออสเตรเลียและประเทศเครือจักรภพอื่นๆ ที่วางไว้ในเดือนเมษายนจึงต้องเลื่อนออกไป ถัดมาในเดือนพฤษภาคม สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ว่ากษัตริย์อังกฤษจะกลับมาปฏิบัติภารกิจอีกครั้ง

ภาพที่ปรากฏระหว่างการเยือนออสเตรเลีย ทั้งในกรุงแคนเบอร์ราและซิดนีย์ เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเอง หลายคนอาจไม่คาดคิดว่าประมุขอังกฤษวัย 75 จะกอดชายเชื้อสายอะบอริจิน ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ถูกลักพา (stolen generation) ที่มารอรับเสด็จแทนการจับมือทักทาย รวมถึงมีการพาตัวอัลปากาชื่อเฮปห์เนอร์มาร่วมรับเสด็จ 

อีกกิจกรรมที่ก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสเห็นคือการเซลฟี่ รวมถึงอนุญาตให้ถ่ายภาพและวิดีโอจากสมาร์ทโฟนได้อย่างใกล้ชิด

อังกฤษปัดจ่ายค่าชดเชยกรณีค้าทาส

อีกหมายกำหนดการสำคัญของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 คือได้รับเชิญร่วมพิธีเปิดการประชุมประมุขฝ่ายบริหารรัฐเครือจักรภพ (Commonwealth Heads of Government Meeting: CHOGM 2024) ระหว่าง 25-26 ตุลาคม ที่ซามัว

การประชุมประมุขฝ่ายบริหารรัฐเครือจักรภพ

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยมีสมาชิก 56 ประเทศ รวมถึงอดีตอาณานิคมของอังกฤษ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือประเด็นสำคัญในการหารือครั้งนี้

ส่วนประเด็นที่ชาติสมาชิกให้ความสนใจไม่แพ้กันและถูกจับตามากกว่าคือ ข้อเรียกร้องการชดเชยกรณีค้าทาส ซึ่งอังกฤษเกี่ยวข้องในธุรกิจค้าทาสยาวนานกว่า 400 ปี นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-19

ชาวแอฟริกันอย่างน้อย 12.5 ล้านคนถูกจับตัวและถูกบังคับให้ขึ้นเรือของอเมริกาและยุโรป ถูกส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและขายเป็นทาสในทวีปอเมริกา

ภาพ: The abolition of the slave trade การค้าทาสของกัปตันเรืออังกฤษ จอห์น คิมเบอร์

ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษระบุว่า อังกฤษเริ่มมีส่วนร่วมในธุรกิจค้าทาสในปี 1562 และช่วงทศวรรษ 1730 อังกฤษกลายเป็นประเทศที่ค้าทาสมากที่สุดในโลก

ก่อนการประชุม 1 สัปดาห์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนของรัฐบาลในประเด็นค่าชดเชยกรณีค้าทาส โดยเฉพาะประเทศในแถบแคริบเบียน ซึ่งอังกฤษได้ประโยชน์มหาศาลในช่วงปลายศตวรรษที่ 16

คียร์ สตาร์เมอร์

ในยุคนั้น อังกฤษขนถ่ายผู้คนราว 3 ล้านคน ส่วนใหญ่จากแอฟริกาตะวันตกไปยังอาณานิคมในแคริบเบียนและทวีปอเมริกาเพื่อเป็นแรงงานในไร่ยาสูบ ฝ้าย และอ้อย เชื่อกันว่าสินค้าเหล่านี้ทำให้อังกฤษร่ำรวยขึ้นจนเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรม

โฆษกรัฐบาลอังกฤษให้คำตอบกรณีค่าชดเชยว่า “ขอชี้แจงให้ชัดเจนว่า การชดเชยค่าเสียหายไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมของผู้นำรัฐบาลเครือจักรภพ และประการที่สอง จุดยืนของรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม นั่นคือเราไม่จ่ายค่าชดเชย”

รายงานเมื่อปีที่แล้วโดยมหาวิทยาลัยเวสต์อินดีส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแพทริก โรบินสัน ผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สรุปตัวเลขค่าชดเชยที่อังกฤษต้องรับผิดชอบกรณีค้าทาสใน 14 ประเทศแคริบเบียน อยู่ที่มากกว่า 18 ล้านล้านปอนด์ (เกือบ 790 ล้านล้านบาท)

 

เหตุใดจึงไม่ปรากฏคำขอโทษจากอดีตเจ้าอาณานิคม

ระหว่างการประชุม CHOGM คณะกรรมการชดเชยค่าเสียหายแห่งประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (CARICOM Reparations Commission) ได้เสนอแผนการชดเชย 10 ประการ เช่น คำขอโทษอย่างเป็นทางการ การยกเลิกหนี้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ความช่วยเหลือในการแก้ไขวิกฤตด้านสาธารณสุข และขจัดการไม่รู้หนังสือ 

“ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอดีตได้” กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดประชุม พร้อมเสนอว่า จำเป็นต้องสรุปบทเรียนเพื่อ “แก้ไขความไม่เท่าเทียมที่คงอยู่ตลอดไป” อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ได้เรียกร้องให้มีการชดเชย แต่เรียกร้องให้เหล่าผู้นำหา ‘วิธีสร้างสรรค์’ เพื่อจัดการกับอดีต

ในฐานะกษัตริย์ พระองค์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และจำต้องยึดถือคำแนะนำของรัฐมนตรีในด้านการเมืองหรือแนวนโยบาย ดังนั้น ในประเด็นการชดเชยความเสียหายหรือคำขอโทษเรื่องการค้าทาส พระองค์เพียงยืนหยัดตามจุดยืนของรัฐบาลเท่านั้น

อังกฤษไม่เคยขอโทษอย่างเป็นทางการสำหรับบทบาทในธุรกิจค้าทาส มีเพียงครั้งเดียวที่อาจใกล้เคียงการขอโทษคือในปี 2007 เมื่อ โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวว่า “ที่จริงผมได้พูดไปแล้วว่า เราขอโทษ และตอนนี้ผมขอพูดอีกครั้ง”

เนื่องจากการขอโทษถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงกับความรับผิดรับชอบ และจะนำไปสู่กระบวนการชดเชยเยียวยา จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐบาลอังกฤษจะออกมาขอโทษที่ได้สร้างประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ในวันสุดท้ายของงานประชุม ประเทศสมาชิกได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ ระบุว่า จะมุ่งมั่นสนับสนุนรัฐขนาดเล็ก โดยเฉพาะรัฐเกาะเล็กที่กำลังพัฒนา (Small Island Developing States: SIDS) และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาโลกร้อนรวมถึงปัญหาอื่นๆ

แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้มีการหารือถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาส แต่จากจุดยืนของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าต้องการแสวงหาแนวทางชดเชยรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน เช่น พิจารณาลดหนี้ หรือความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ


อ้างอิง:

BBC[1], BBC[2], BBC[3], ABC, The Guardian, Aljazeera

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
อภิรดา มีเดช