คำว่า ‘สึนามิ’ กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยเกือบทุกคนเมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นสาเหตุให้เกิดสึนามิหรือคลื่นขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและมีพลังมาก ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถล่มภาคใต้ของไทยรวม 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ พังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ตรัง และสตูล
ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่มากเป็นประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน และสูญหายอีกกว่า 5,000 คน
ซึ่งชุมชนชาวประมงชายฝั่งทะเล ‘บ้านน้ำเค็ม’ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถือเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด
ความเสียหายครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถวางแผนป้องกันได้ทันที และยังเกิดความเสียหายมากจนเกินไป เหล่านี้สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ของการจัดการภัยพิบัติของรัฐ ทั้งความล่าช้า การประสานงานในหน่วยงานรัฐ และการไม่เข้าใจสภาพแวดล้อมที่มีบริบทแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
แม้จะมีบทเรียนครั้งใหญ่อย่าง สึนามิ 2547 แล้ว แต่จนกระทั่งในปี 2567 ที่มีน้ำท่วมในหลายจังหวัดของไทย ระบบของรัฐไทยก็ยังไม่สามารถจัดการภัยพิบัติต่างๆ ได้และประชาชนยังพึ่งพาตนเองอยู่เสมอ เป็นคำถามว่ารัฐไทยจะมีการจัดการภัยพิบัติอย่างไรต่อไป
ป้าภิรมย์ ชาวบ้านบ้านน้ำเค็ม วัย 79 ปี อาชีพขายของร้านชำที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ เล่าว่า ปัจจุบันป้าภิรมย์อาศัยอยู่คนเดียวในบ้านขนาดประมาณ 1 ห้อง มีประตูม้วนทำจากเหล็ก ซึ่งเป็นบ้านรัฐบาลสร้างให้เพื่อเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม
“ตอนช่วงสึนามิต้องไปอยู่ที่บ้านพักชั่วคราว มีคนก็มาบริจาคและแจกของให้เป็นอาหารวันต่อวัน ตอนนั้นป้านอนไม่หลับหลายเดือนและจิตวิตกเพราะสิ่งที่ทำมาทั้งหมดในชีวิตหายไปในพริบตาเดียว จนปัจจุบันป้าก็ยังรู้สึกวิตก เพราะมีข่าวว่าจะให้ระวังคลื่นช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ตอนนี้ป้ากลับมานอนไม่ค่อยหลับเลย” ป้าภิรมย์เล่าพร้อมน้ำตา
“เราอยากให้รัฐมีการเตือนภัยที่ชัดเจนให้รู้ว่าจะมีภัยมา ที่นี่ก็มีหอเตือนภัย แต่บางวันก็ได้ยิน บางวันก็ไม่ได้ยิน”
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทยและอดีตผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เล่าว่า เขารอดพ้นจากสึนามิเมื่อปี 2547 เพราะดูหนังเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสึนามิ ทำให้เรามีความรู้ และมองออกว่าถ้าคลื่นมาแบบนี้จะซัดบ้านบนฝั่งพังแบบในหนัง
“วันนั้นผมเห็นคลื่นขึ้นสูงประมาณ 10 เมตรเหมือนกับคลื่นยักษ์ในหนัง เราก็ตะโกนและวิ่งกันเลยรอด ฉะนั้นคนที่มีความรู้จะรอด แต่ถ้าคนไม่รู้ ต่อให้เราวิ่งผ่านไปบอกคลื่นยักษ์กำลังมา เขาก็จะบอกว่าคลื่นยักษ์อะไร และใครจะเชื่อว่าน้ำจะซัดเข้ามา”
“ความตายมันย้อนกลับมาไม่ได้ เพราะว่าพ่อเสียชีวิตคามือของผม ญาติ 40 กว่าคนเสียชีวิต ตอนนั้นคนทั้งประเทศทั้งโลกมาช่วยเรา แล้วเราก็ได้รับการช่วยเหลือ การบริจาคต่างๆ ที่ช่วยฟื้นชีวิตเรามา เราเลยคิดว่าคนช่วยเราเยอะ เราก็ต้องไปช่วยคนอื่น อย่าให้คนอื่นต้องมาตายแบบบ้านเราก่อน” ไมตรีกล่าว
ไมตรี เปิดเผยว่า เขาไม่เคยรู้สึกท้อที่จะทำงานช่วยเหลือคนและมีความสุขทุกครั้งที่ลงไปทำงานกับชุมชน แต่จะเครียดทุกครั้งที่ไปต่อรองหรือเจรจากับรัฐบาล
“การจัดการภัยพิบัติของภาครัฐเมื่อ 20 ปี จัดการอย่างไร ปัจจุบันก็จัดการอย่างนั้น คือประกาศภัยแล้วก็แจกข้าว คือรัฐยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่พัฒนาการใดๆ โดยเฉพาะการเตือนภัยยิ่งหนักเข้าไปอีก คนงงเข้าไปใหญ่เพราะทุกคนแย่งกันเตือน ชาวบ้านก็ไม่รู้จะเชื่อใคร”
ไมตรี คิดว่าปัจจัยสำคัญที่รัฐยังไม่พัฒนาการจัดการภัยพิบัติคือ พ.ร.บ. ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะมีองค์ประกอบที่เรียกว่าคณะกรรมการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ ซึ่งจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน แล้วก็มีองค์ประกอบที่เป็นผู้เชี่ยวชาญผู้ชำนาญการแต่ละด้าน
“เมื่อเกิดภัยพิบัติ รัฐบาลหรือนายกฯ ทุกคนก็จะใช้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้นมาแทน ไม่ใช้กรรมการตาม พ.ร.บ.ก็จะเป็นเรื่องการเมืองในการตั้งลูกน้องที่สั่งได้มันก็ตั้งขึ้นมา ซึ่งบางคนก็ไม่ได้มีความรู้จริง ทำให้สั่งการไม่ได้และเกิดความสับสน”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงผู้เคยประสบภัยสึนามิที่หวังให้ภาครัฐจัดการภัยพิบัติให้ดีขึ้น แต่ในช่วงระยะเวลาหลายาสิบปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ภัยพิบัติเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งเตือนใจอยู่เสมอถึงความสำคัญของการจัดการภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิ น้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติต่างๆ ก็ตาม
การแจ้งเตือนและการให้ความรู้ผู้คนยังคงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการส่งเสริม เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย
อ้างอิง: theactive , legacy.orst.go.th