Humberger Menu

10 ความขัดแย้งในปี 2025

ก่อนสิ้นปี 2024 เอธอส ซาโลเม ชายชาวบราซิลผู้อ้างตัวเป็นนักพยากรณ์ และประกาศว่าตัวเองคือ ‘นอสตราดามุสที่ยังมีชีวิต’ เคยทำนายทายทักว่ามนุษยชาติไม่อาจหลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ได้ นอกจากนี้ยังบอกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะหลุดจากการควบคุมของมนุษย์ และจะเกิดหายนะครั้งใหญ่ที่มีต้นตอจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ฝั่งตะวันตกบางส่วนตื่นตระหนกและถกเถียงว่าเรื่องทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ในเวลาไล่เลี่ยกัน สื่อออนไลน์อย่าง LadBible ไล่เลียงเป็นบทความให้เห็นว่าคำทำนายของซาโลเมที่ผ่านมาเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าเรื่องที่ซาโลเมเคยทายถูกและเป็นการคาดเดาแบบกว้างๆ คือ เรื่องโรคระบาดที่จะส่งผลกระทบทั่วโลก ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามด้วยการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ แต่เรื่องอื่นๆ เช่น การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่จะนำไปสู่การรบราฆ่าฟันอันส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก และดาวเคราะห์ที่เฉียดใกล้โลกจะทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ กลับไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 2024 ตามกรอบเวลาที่ซาโลเมทายทักเอาไว้

อย่างไรก็ดี มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและผู้นำรัฐสภายุโรปแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับคำทำนายของนักพยากรณ์ชาวบราซิล นั่นคือประเด็น ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ โดย ชาร์ลส์ มิแชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) ในเดือนกันยายน 2024 เตือนให้ประเทศสมาชิก UN ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 โดยเขามองว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธและการใช้ความรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลกมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลาย ทำให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง มีผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมี เจมี ไดมอน ประธานบริหารบริษัทการเงินการธนาคารและการลงทุนรายใหญ่ของโลกอย่าง JPMorgan Chase ซึ่งเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2024 ระบุว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วโดยที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ตัว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 ที่เขาพูดถึงไม่ใช่การรบพุ่งด้วยอาวุธจริงๆ ในสมรภูมิใดสมรภูมิหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้แย่งชิงการนำและทรัพยากรในด้านต่างๆ ของบรรดาประเทศมหาอำนาจ ซึ่งทำให้กลุ่มประเทศพันธมิตรของมหาอำนาจเหล่านี้ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างไม่มีทางเลี่ยง

ประธานบริหาร JPMorgan Chase ยกตัวอย่างสงครามความขัดแย้งซึ่งถูกเปรียบเป็นสมรภูมิตัวแทนของชาติมหาอำนาจต่างๆ เช่น สงครามยูเครน เป็นการคัดง้างกันระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ตามด้วยสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งมีขั้วอำนาจอย่างสหรัฐฯ และอิหร่านหนุนหลังคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางการทหารและอาจเกิดภัยอาวุธนิวเคลียร์คุกคามโลกตามมา ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าปี 2024 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความร้อนระอุของสถานการณ์โลกที่ส่งต่อมายังปี 2025 เพิ่งจะเริ่มคุกรุ่นเท่านั้น

ปัจจัยเฝ้าระวังใน 10 พื้นที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

มีอะไรบ้างที่จะส่งผลให้ความขัดแย้งทั่วโลกในปีนี้มีความรุนแรงมากขึ้น

เดือนมกราคม 2025 องค์กรระหว่างประเทศด้านการเฝ้าระวังวิกฤติการณ์โลก The International Crisis Group (ICG) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่ความขัดแย้งที่ต้องจับตามองในปี 2025 โดยระบุว่าปัจจัยหนึ่งซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ในหลายพื้นที่หนักหนาสาหัสกว่าเดิม เป็นผลจากกลุ่มขั้วอำนาจที่ขัดแย้งกันไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ บวกกับผู้นำประเทศหลายรายมีพฤติกรรมยื้อตำแหน่งและคาดเดาไม่ได้ ส่วนประเทศยุโรปหลายชาติที่เคยวางตัวเป็นกลางและสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยก็เผชิญกับกระแสขวาจัดที่ทำให้นักการเมืองฝ่ายชาตินิยมขึ้นเป็นแกนนำรัฐบาลเพิ่มขึ้น จนมีการสนับสนุนให้ใช้วิธีเด็ดขาดเพื่อจัดการกับผู้ที่ถูกมองเป็น ‘คนนอกของสังคม’ และหลายประเทศมีแนวโน้มจะกลายเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมกันมากขึ้น

โดนัลด์ ทรัมป์

ที่สำคัญคือประเทศทรงอิทธิพลต่อโลกอย่างสหรัฐฯ กำลังจะเปลี่ยนตัวประธานาธิบดี จากโจ ไบเดน กลายเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งรายหลังมีประวัติการบริหารประเทศมาแล้วช่วงปี 2017-2021 โดยมีการบังคับใช้นโยบายชาตินิยมและท่าทีแข็งกร้าวซึ่งส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างมาก เมื่อทรัมป์กำลังจะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง จึงมีผู้คาดเดาว่าเขาอาจสร้างความปั่นป่วนในเวทีโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 

ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งที่ต้องจับตามองจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังมานานหลายปี แม้จะมีบางสถานการณ์เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านในปี 2024 แต่ก็ยังมีแนวโน้มสูงว่าพื้นที่เหล่านั้นอาจเกิดความรุนแรงครั้งใหม่ขึ้น 

ซีเรีย

ฝ่ายต่อต้านผู้โค่นล้ม บาชาร์ อัล-อัสซาด มีหลายกลุ่ม และมีแนวทางแตกต่างกัน อาจขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกันรุนแรง

แม้ผู้นำรัฐบาลจากตระกูลอัล-อัสซาดซึ่งยึดอำนาจปกครองซีเรียมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษจะถูกขับไล่พ้นจากประเทศไปได้ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2024 จนประชาชนซีเรียเริ่มมีความหวังว่าชีวิตจะกลับเข้าสู่ความสงบ ไม่ต้องพบกับสงครามกลางเมืองอีกต่อไป แต่นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่ากองทัพซีเรีย (National Defense Force: NDF) รวมถึงกลุ่มติดอาวุธหลักๆ อีก 3 กลุ่มที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้ล้มล้างอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด อาจขัดแย้งรุนแรงจนต้องใช้อาวุธห้ำหั่นกันเช่นเดิมเพื่อชิงอำนาจนำในการปกครองประเทศ

อาบู มุฮัมมัด อัลจาวลานี ผู้นำกลุ่ม HTS

ทั้งนี้ ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (HTS) ซึ่งเป็นแกนนำขับไล่อดีตรัฐบาล บาชาร์ อัล-อัสซาด ยึดมั่นหลักการศาสนานิยม เคยเป็นแนวร่วมของกลุ่มอัล-กออิดะห์ที่อยู่เบื้องหลังวินาศกรรม 9/11 จึงมีอุดมการณ์ต่างกับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอีก 2 กลุ่มที่ขณะนี้ยึดครองดินแดนส่วนอื่นๆ ของซีเรียเป็นฐานที่มั่น โดยหนึ่งในนั้นคือกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย หรือ Syrian Democratic Forces (SDF) กลุ่มกบฏเชื้อสายเคิร์ดซึ่งเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และอีกกลุ่มคือกองทัพแห่งชาติซีเรีย Syrian National Army (SNA) กลุ่มมุสลิมนิกายซุนนีที่มีรัฐบาลตุรกีหนุนหลัง จึงเป็นปฏิปักษ์กับ SDF ซึ่งเกี่ยวพันกับกลุ่มเคิร์ดที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในตุรกี

และเนื่องจากกลุ่ม HTS เป็นกำลังหลักในการขับไล่รัฐบาลอัล-อัสซาด ทำให้แกนนำ HTS รั้งตำแหน่งรัฐบาลรักษาการของซีเรียชั่วคราว และประกาศว่าจะจัดเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนเลือกรัฐบาลใหม่ภายใน 4 ปีต่อจากนี้ แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ HTS ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่ HTS แต่งตั้งสั่งปรับแก้เนื้อหาในแบบเรียนทั่วประเทศ โดยมีการเพิ่มเติมหน้าที่พลเมืองลงไปในแบบเรียนว่าจะต้อง ‘เชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้า’ ขณะที่แบบเรียนเดิมระบุว่า ‘ต้องจงรักภักดีต่อชาติ’ เท่านั้น 

ชาวซีเรียชุมนุมเรียกร้องการปกครองแบบโลกวิสัย

ประเด็นนี้ทำให้นักวิเคราะห์เกรงว่า HTS อาจผลักดันแนวทางศาสนาในการปกครองประเทศ ซึ่งไม่ครอบคลุมความหลากหลายของประชากรในซีเรีย และอาจลิดรอนสิทธิมนุษยชนบางด้าน ซ้ำรอยกรณีกลุ่มตอลิบันยึดครองอัฟกานิสถานและบังคับใช้ระบอบจารีตนิยมของศาสนาอิสลามในการปกครองประเทศจนส่งผลกระทบต่อประชากรเด็กและสตรี รวมถึงคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่อิสลาม

ซูดาน

สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐประหาร 2021 กำลังกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2021 ซูดานก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองมาตลอด เพราะกลุ่มนายทหารที่แตกแยกเป็นฝักฝ่ายได้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงการเป็นผู้ปกครองประเทศ โดยคู่ขัดแย้งหลักในซูดาน ได้แก่ กองทัพซูดาน นำโดย พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพและประธานาธิบดีซูดานคนปัจจุบัน กับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces: RSF) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธนอกสังกัดกองทัพซูดาน นำโดยพลเอกโมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือ ‘เฮเมดตี’

การต่อสู้ระหว่างทหารทั้งสองกลุ่มและผู้สนับสนุนส่งผลกระทบต่อชาวซูดานประมาณ 12 ล้านคน มีทั้งประชาชนที่ถูกลูกหลงเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ รวมถึงกลายเป็นผู้พลัดถิ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และช่วงที่ผ่านมายังเกิดการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในหลายพื้นที่ทั่วซูดาน ซ้ำเติมภาวะภัยแล้ง อดอยากและขาดแคลนอาหารที่เรื้อรังมาแต่เดิม ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันรายในเวลา 4 เดือนสุดท้ายของปี 2024 

ขณะที่รายงานของคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ระบุว่าความขัดแย้งในซูดานส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในแอฟริกา เพราะกลุ่มติดอาวุธอาศัยความปั่นป่วนทางการเมืองก่อเหตุแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนผู้ลี้ภัยหลั่งไหลข้ามแดนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่อาจควบคุมได้ ทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามแยกย่อยไปยังกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันอยู่แล้ว กลายเป็นเหตุการณ์ไม่สงบที่หาทางยุติได้ยาก และกลายเป็นวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่

ยูเครน-รัสเซีย

รัสเซียยังไม่ยอมถอนทหาร ขณะที่ยูเครนยืนยันสู้ไม่ถอย ความหวังที่จะผลักดันกระบวนการเจรจาต่อรองยุติสงครามยูเครน-รัสเซียเป็นไปได้น้อยมาก

 โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี 

ปลายปี 2024 ประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีวันยอมแพ้และจะยืนหยัดตอบโต้การรุกรานของรัสเซียต่อไป ทำให้ความหวังที่จะผลักดันกระบวนการเจรจาต่อรองยุติสงครามยูเครน-รัสเซียเป็นไปได้น้อยมาก และนักวิเคราะห์ประเมินว่ารัสเซียเองก็ไม่มีทางยอมถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่กองทัพรัสเซียยึดจากยูเครนเพิ่มเติมได้ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาด้วย 

ความบอบช้ำจากสงครามไม่เพียงมีผลต่อยูเครนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ให้การสนับสนุนยูเครนในฐานะผู้ขอสมัครเป็นสมาชิกองค์การ NATO ด้วย นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าการพิจารณาเรื่องสมาชิก NATO ของยูเครนอาจถูกเตะถ่วงออกไปก่อน เพราะการสานต่อเรื่องนี้จะยิ่งกระตุ้นให้รัสเซียหาทางตอบโต้หรือหาวิธีการกำราบยูเครนอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่คาดเดาไม่ได้เพิ่มมาอีกอย่างคือการก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มจะส่งผลต่อนโยบายสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ แก่ยูเครน

วลาดิเมียร์ ปูติน

ขณะเดียวกัน บทบาทของรัสเซียในตะวันออกกลางถูกลดทอนลงไปหลังอดีตรัฐบาลซีเรียที่รัสเซียสนับสนุนถูกล้มล้างสำเร็จ จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่รัสเซียจะยกระดับมาตรการทางทหารในสงครามยูเครนเพื่อแสดงแสนยานุภาพให้โลกภายนอกเห็นว่ากองทัพรัสเซียยังแข็งแกร่ง ส่วนยูเครนอาจต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากประเทศพันธมิตรเพื่อตอบโต้กลับรัสเซีย และมีแนวโน้มว่าจะตอบโต้อย่างรุนแรงขึ้นด้วย

ล่าสุดยูเครนได้ประกาศยุติการเป็นตัวกลางส่งต่อพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียไปยังยุโรปช่วงต้นเดือนมกราคม 2025 เนื่องจากข้อตกลงเดิมหมดอายุและยังไม่มีการเจรจารอบใหม่ในภาวะสงคราม แม้ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของรัสเซียและยุโรปไม่มากนัก เพราะรัสเซียสามารถเจรจาส่งก๊าซธรรมชาติผ่านตุรกี ฮังการี หรือเซอร์เบียได้ แต่เรื่องนี้เป็นหนึ่งในการตอบโต้รัสเซียของยูเครน และอย่างน้อยที่สุดก็สามารถสร้างความไม่สะดวกให้แก่รัสเซียได้เช่นกัน

อิสราเอล-ปาเลสไตน์

แนวทางของอิสราเอลในปี 2025 จะไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือมุ่งเน้นการใช้กำลังอาวุธที่เหนือชั้นกว่ากวาดล้างกลุ่มติดอาวุธที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลให้สิ้นซาก

นับตั้งแต่กลางปี 2024 เป็นต้นมา กองทัพรัฐบาลอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาและสังหารผู้นำกลุ่มติดอาวุธในประเทศเพื่อนบ้านจนสามารถตัดกำลังคู่ขัดแย้งในตะวันออกกลางไปได้ไม่น้อย ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าแนวทางของอิสราเอลในปี 2025 จะไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือมุ่งเน้นการใช้กำลังอาวุธที่เหนือชั้นกว่ากวาดล้างกลุ่มติดอาวุธที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลให้สิ้นซาก

แม้ว่าเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติคนปัจจุบัน อันตอนิอู กูแตร์เรส และคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เคยท้วงติงว่าการกระทำของอิสราเอลไม่คำนึงถึงชีวิตพลเรือนปาเลสไตน์ผู้ได้รับผลกระทบในสงครามความขัดแย้งครั้งนี้ อาจเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงครามและล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ แต่กลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างประเทศสมาชิกถาวรและสมาชิกหมุนเวียนในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) ไม่สามารถระงับยับยั้งปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายอิสราเอลได้ และตัวเลขผู้เสียชีวิตฝั่งปาเลสไตน์ก็เพิ่มเป็น 45,000 รายนับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการตอบโต้ฮามาสเป็นเวลากว่าหนึ่งปี

นอกจากนี้ยังมีการประเมินท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนมกราคม 2025 อาจมีส่วนให้อิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์หนักกว่าเดิม เพราะทรัมป์เป็นหนึ่งในผู้ประกาศจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลมาตลอด 

ชาวอิสราเอลในการประท้วงที่เทลอาวีฟ

ที่สำคัญคือรัฐบาลอิสราเอลยังใช้วิธีการอื่นๆ ในการกดดันชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติให้ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งรกรากในฝั่งปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น หรือการส่งกำลังทหารอิสราเอลเข้าไปในพื้นที่ฝั่งปาเลสไตน์มากกว่าเดิมโดยอ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคง ทำให้เกิดการปะทะกับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่มาก่อน และอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในฝั่งเวสต์แบงก์

อิหร่าน vs สหรัฐฯ (และอิสราเอล)

สหรัฐฯ อาจใช้ประโยชน์จากการโจมตีอันหนักหน่วงของอิสราเอลกดดันให้อิหร่านกลับสู่กระบวนการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์อีกรอบ ซึ่งอิหร่านอาจต่อต้าน

ภาพข้างอาคารที่ทำการรัฐแห่งหนึ่งในเตหะราน

ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริการะลอกใหม่ปะทุขึ้นเงียบๆ หลังเกิดสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในปี 2023 เพราะอิหร่านสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซา ในขณะที่สหรัฐฯ หนุนหลังอิสราเอล ทำให้การต่อสู้แย่งชิงบทบาทนำในภูมิภาคตะวันออกกลางดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ 

จนกระทั่งกลางปี 2024 อิหร่านตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ เพราะอิสราเอลยกระดับปฏิบัติการทางทหารและลอบสังหารผู้นำกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น อิสมาอิล ฮานิเยห์ หรือ ยาห์ยา ซินวาร์ ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ และ ฮัซซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งมีฐานที่มั่นในเลบานอน รายงานขององค์กรเฝ้าระวังวิกฤติการณ์โลกจึงประเมินว่าในปี 2025 สหรัฐฯ อาจใช้ประโยชน์จากการโจมตีอันหนักหน่วงของอิสราเอลกดดันให้อิหร่านกลับสู่กระบวนการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์อีกรอบ หลังจากที่สหรัฐฯ ระบุว่าอิหร่านไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ทำให้การเจรจาถูกระงับไปหลายปี

พิธีศพผู้บัญชาการระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านที่ถูกสังหาร 

แต่นักวิเคราะห์บางรายประเมินว่าอิหร่านอาจหาทางตอบโต้กลับสหรัฐฯ และอิสราเอลเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ด้านการทหารและการเป็นประเทศทรงอิทธิพลในตะวันออกกลาง อาจนำไปสู่การลอบโจมตีหรือการยกระดับก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในหลายภูมิภาคที่แนวร่วมกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้เคลื่อนไหวก่อเหตุ

เฮติ

เฮติกลายเป็นดินแดนไร้กฎหมาย การก่อเหตุของแก๊งอาชญากรรมทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และชาวเฮติกำลังจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร

เสื้อที่มีข้อความไว้อาลัย มาริโอ ฌอง-หลุยส์ ตำรวจที่ถูกแก๊งนอกกฎหมายสังหาร

หลังจากประธานาธิบดี โจเวเนล มัวเซส์ ถูกลอบสังหารในปี 2021 เฮติกลายเป็นดินแดนที่กฎหมายไร้ประโยชน์ เพราะสถาบันการเมืองอ่อนแอ สำนักงานตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ พัวพันการทุจริตรับเงินสินบน ทำให้กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวพันการค้ายาเสพติดและค้าของเถื่อนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงในประเทศ ทั้งยังมีการต่อสู้ปะทะระหว่างแก๊งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ 

แม้สถานการณ์ในเฮติยังไม่ถูกเรียกว่าสงครามกลางเมือง แต่การใช้ความรุนแรงของแก๊งอาชญากรรมที่มีอยู่หลายแก๊งก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยรายงานของ ICG ระบุว่าแค่ปี 2024 เพียงปีเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงของแก๊งต่างๆ ทั่วเฮติมากถึง 5,300 คน และผู้พลัดถิ่นในประเทศอีกประมาณ 700,000 คน ขณะที่สายการบินพาณิชย์หยุดให้บริการระหว่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในปี 2025 คือชาวเฮติเสี่ยงจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค

มือปืนกราดยิงใส่โรงพยาบาลในเฮติ

รัฐบาลเฮติพยายามยื่นเรื่องขอให้กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ (UN Peacekeeping) เข้ามาตรึงกำลังรักษาความสงบในประเทศ แต่ก็มีกระแสต่อต้านเช่นกัน เพราะเคยมีกรณีทหารของ UN Peacekeeping เป็นตัวการทำให้เกิดอหิวาตกโรคแพร่ระบาดในเฮติ ทั้งยังมีทหารล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนจนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ต้องไต่สวนยาวนานข้ามปี ขณะที่รัสเซียกับจีนซึ่งเป็นประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ไม่เห็นด้วยกับการส่ง UN Peacekeeping ไปเฮติ เพราะเห็นว่ารัฐบาลเฮติไร้เสถียรภาพและตอบไม่ได้ว่าจะต้องพึ่งพากองกำลังสหประชาชาติไปอีกนานแค่ไหน

แต่มีการประเมินว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่อาจถูกกดดันให้ต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือเฮติ อย่างน้อยก็ช่วยเรื่องเสบียงอาหารหรือไม่ก็เป็นตัวกลางเจรจายุติความขัดแย้งระหว่างแก๊งอิทธิพลและส่งเสริมความมั่นคงให้กับรัฐบาลเฮติ เพราะถ้าสถานการณ์ความรุนแรงบานปลายจนรัฐบาลเฮติล่มสลายจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ มากกว่าเดิมในแง่ของผู้อพยพลี้ภัยที่จะหลั่งไหลไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งคงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของว่าที่รัฐบาลทรัมป์ที่ต้องการจะกีดกันและลดจำนวนผู้อพยพลี้ภัยในประเทศลง

สหรัฐฯ - เม็กซิโก

การกวาดล้างผู้มีอิทธิพลและแก๊งยาเสพติดในเม็กซิโกอาจทำให้มีผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะยังต่อต้านผู้อพยพอยู่เช่นเดิม

สถานการณ์ในเม็กซิโกคล้ายกับเฮติ คือ ฝ่ายบริหารและผู้รักษากฎหมายในประเทศไม่มีศักยภาพเพียงพอจะกวาดล้างปราบปรามกลุ่มอาชญากรทรงอิทธิพลที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในแง่กำลังพลที่มีจำนวนน้อย และปัญหาคนในหน่วยงานภาครัฐรับสินบนจากแก๊งอาชญากรค้ายาเสพติดและค้าอาวุธที่มีรายได้มากมายจากการทำธุรกิจเถื่อนข้ามชาติ 

แก๊งอิทธิพลในเม็กซิโกมักจะขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์จนปะทะกันอยู่บ่อยๆ รวมถึงมีการสั่งเก็บผู้ที่ขัดขวางธุรกิจของเครือข่ายอิทธิพล หลายพื้นที่ของเม็กซิโกกลายเป็นแดนเถื่อนที่ไม่สามารถใช้กฎหมายปราบปรามหรือจัดการผู้กระทำผิดได้ แต่ในปี 2006 ประธานาธิบดี เฟลิเป กัลเดรอน ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงนั้น ประกาศสงครามต่อต้านยาเสพติด กวาดล้างแก๊งอิทธิพล จนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 500,000 คน และผู้สูญหายอีกราว 100,000 คน นำไปสู่การอพยพลี้ภัยของชาวเม็กซิโกจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าเดิมเพื่อไปแสวงหาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอเมริกา

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2025 เป็นผู้ประกาศจุดยืนต่อต้านผู้อพยพมาโดยตลอด และสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งเขาก็สร้างกำแพงใหญ่มหึมากั้นชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ทั้งยังสร้างศูนย์กักกันผู้อพยพตามแนวชายแดนจนถูกวิจารณ์ว่าปฏิบัติต่อผู้อพยพอย่างไร้มนุษยธรรม เมื่อกลับมาใหม่ในสมัยนี้ทรัมป์ก็ประกาศว่าจะส่งกลับผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายนับล้านคน ทำให้ คลอเดีย ไชน์บอม ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเม็กซิโกที่เพิ่งรับตำแหน่งหลังเดือนมิถุนายน 2024 ตอบโต้ทรัมป์ว่าเม็กซิโกจะรับเฉพาะผู้อพยพชาวเม็กซิโกกลับประเทศเท่านั้น แต่ผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ ที่อาศัยเม็กซิโกเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ รัฐบาลทรัมป์ต้องดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางเอง 

คลอเดีย ไชน์บอม

นอกจากนี้ทรัมป์ยังเคยหาเสียงด้วยว่าเขาจะเจรจาในกรอบทวิภาคีกับรัฐบาลเม็กซิโกเพื่อร่วมกันกวาดล้างปราบปรามแก๊งค้ายาเสพติด เพราะสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลักลอบขนส่งยาแก้ปวด เฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งถูกนำไปใช้แทนสารเสพติด เช่น ฝิ่นและโคเคนซึ่งเคยเป็นที่นิยมแต่เดิม ทว่าข้อเสนอเรื่องช่วยปราบแก๊งค้ายาเม็กซิโกถูกตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลทรัมป์จงใจจะแทรกแซงกิจการภายในเม็กซิโก เพราะมีสมาชิกพรรครีพับลิกันเสนอเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ มีสิทธิ์นำกำลังบุกโจมตีแก๊งอิทธิพลในเม็กซิโกได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเข้าข่ายละเมิดอธิปไตยของเม็กซิโก 


พม่า

สงครามในพม่ายังดำเนินต่อเนื่อง ระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้าน ขณะเดียวกัน กิจการผิดกฎหมายในเมืองสแกมเมอร์ก็ยังสร้างความเสียหายให้ผู้คนจำนวนมาก

สงครามกลางเมืองในพม่าทวีความรุนแรงขึ้นหลังกองกำลังประชาชนและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารยกระดับปฏิบัติการตอบโต้รัฐบาลทหารพม่าในวันที่ 27 ตุลาคม 2023 หรือ ปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) โดยในรายงานของสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2024 ระบุว่า สงครามกลางเมืองพม่าทำให้มีผู้พลัดถิ่นในประเทศราว 3.3 ล้านคน 

ขณะเดียวกัน บทวิเคราะห์ของ ICG เตือนว่าการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารพม่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นในปี 2025 ไม่สามารถยุติสงครามกลางเมืองได้ ทั้งยังอาจทำให้เกิดการนองเลือดยิ่งกว่าเดิม แม้จีนกับบางประเทศในอาเซียนจะมีท่าทีสนับสนุนการเลือกตั้งในพม่า แต่อีกหลายฝ่ายแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นพม่า หรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่แสดงความเห็นว่าการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารพม่าสัญญาว่าจะจัดขึ้นในปีนี้ ‘ไม่เสรี’ และ ‘ไม่เป็นธรรม’ เพราะเป็นการอ้างกฎหมายที่ฝ่ายตนเองเขียนขึ้นเพื่อกีดกันกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม 

เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในกฎหมายเลือกตั้งทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรคของอดีตรัฐบาลพลเรือน นำโดย ออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกยึดอำนาจในปี 2021 และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ประกาศจุดยืนต่อต้านรัฐประหารโดยรัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป อีกทั้งกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าก็ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และจะสู้ต่อไปจนกว่าจะขับไล่รัฐบาลทหารได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ตลอดปี 2024 ที่ผ่านมา กองกำลังฝ่ายต่อต้านสามารถบุกยึดฐานที่มั่นจากกองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีผลกระทบตามมาเช่นกัน เพราะพื้นที่สู้รบหลายแห่งกลายเป็นจุดบอดด้านความมั่นคง ทำให้กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งซ่องสุมก่อเหตุผิดกฎหมาย โดยเฉพาะขบวนการฉ้อโกงทางไซเบอร์ที่ล่อลวงผู้คนจำนวนมากจากทั่วโลกให้ไปทำงานเป็นสแกมเมอร์หลอกเอาเงินเหยื่อทางแพลตฟอร์มออนไลน์อีกต่อหนึ่ง

ในปี 2024 รัฐบาลจีนสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในพม่าให้กวาดล้างแก๊งมาเฟียจีนที่ก่ออาชญากรรมไซเบอร์ในเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานของพม่า และก่อนหน้านี้ก็เคยมีการประสานกำลังบุกทลายแหล่งซ่องสุมของกลุ่มอาชญากรข้ามชาติในเมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง ชายแดนพม่า-จีน เมื่อปี 2023 แต่กลุ่มอาชญากรข้ามชาติได้ย้ายไปตั้งหลักใหม่ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงของพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบตามแนวชายฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอดในจังหวัดตากของไทย 

แหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยในเมืองเมียวดีกลายเป็นปัญหาใหญ่ของไทยด้วยเช่นกัน เพราะมีคนจากหลายประเทศถูกแก๊งอาชญากรรมล่อลวงไปทำงานโดยอาศัยไทยเป็นทางผ่าน โดยล่าสุดมีนักแสดงชายชาวจีนที่ใช้ชื่อในการแสดงว่า ซิงซิง ถูกแก๊งสแกมเมอร์ในเมืองเมียวดีหลอกให้เดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2025 โดยอ้างว่ามีโปรเจกต์ถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย แต่ยานพาหนะของนักแสดงคนดังกล่าวไม่ถูกสกัดหรือตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ของไทยเลยตลอดเส้นทางจากสนามบินไปถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก่อนจะถูกพาข้ามฝั่งไปยังเมียวดี แต่เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่เพราะแฟนสาวของนักแสดงจีนโพสต์แฉในสื่อสังคมออนไลน์เว่ยปั๋วจนนำไปสู่การช่วยเหลือเหยื่อออกมาจากพื้นที่สีเทาและถูกส่งตัวกลับจากเมืองชเว โก๊กโก่ ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ การสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังฝ่ายต่อต้านยังทำให้ผู้อพยพลี้ภัยข้ามแดนหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านของพม่าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไทยหรือบังกลาเทศซึ่งมีดินแดนติดรัฐยะไข่ในภาคตะวันออกของพม่า และเยาวชนในพม่าทุกเชื้อชาติถูกบังคับเกณฑ์ทหารหรือระดมกำลังพลสำรองจากทั้งกองทัพรัฐบาลและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาจึงถูกลิดรอนสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ทั้งยังมีรายงานว่าชาวโรฮิงญาในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อีกเป็นจำนวนมาก

คาบสมุทรเกาหลี

การเมืองเกาหลีใต้ไม่มั่นคง ขณะที่เกาหลีเหนือสานสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น หากเกาหลีเหนือได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธ สถานการณ์ในคาบสมุทรอาจไม่สงบ

คิม จอง อึน

ช่วงปลายปี 2024 สนธิสัญญาเกาหลีเหนือ-รัสเซีย ได้รับการลงนามและให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการ สะท้อนว่าสองประเทศซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มีการสานสัมพันธ์แน่นแฟ้นและเป็นหลักเป็นฐานเพิ่มขึ้น และรายละเอียดของสนธิสัญญาฉบับนี้ระบุชัดเจนว่า ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันป้องกันประเทศ หากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตี คู่สัญญาจะต้องส่งกำลังมาช่วยรบ ทั้งยังมีรายงานว่าเกาหลีเหนือได้ส่งทหารราว 10,000 นายไปช่วยรัสเซียรบในสงครามยูเครนแล้วด้วย

ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือได้ประกาศยกเลิกแผนรวมชาติกับเกาหลีใต้ไปเมื่อปี 2023 หลังจากประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ ประกาศใช้นโยบายสายแข็งตอบโต้เกาหลีเหนือที่ส่งโดรนบินเฉียดน่านฟ้า โดยขู่ว่าจะฉีกสนธิสัญญาเกี่ยวกับเขตปลอดทหารระหว่างสองประเทศ และท่าทีดังกล่าวผลักดันให้ผู้นำ คิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือหันไปยกระดับความร่วมมือทางทหารกับรัสเซีย จนกลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลีในปี 2024-2025 โดยบทวิเคราะห์ของ ICG ประเมินว่ารัสเซียน่าจะส่งกำลังสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่เกาหลีเหนือเพิ่มเติม

แม้ ICG จะคาดการณ์ว่ารัสเซียคงไม่ช่วยเกาหลีเหนือพัฒนาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียได้ เนื่องจากจีนไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ใช้ประเด็นอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ แต่มีแนวโน้มว่ารัสเซียจะส่งเครื่องบินรบไปให้เกาหลีเหนือเพื่อแลกเปลี่ยนกับทหารที่ถูกส่งไปร่วมรบในสมรภูมิที่ยูเครน

ยุน ซอก-ยอล

อีกประเด็นคือสถานการณ์การเมืองภายในเกาหลีใต้กำลังระส่ำระสายเพราะประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ถูกสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาประกาศกฎอัยการศึกโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางการเมืองภายในประเทศจากกลุ่มผู้สนับสนุนเกาหลีเหนือกลางดึกวันที่ 3 ธันวาคม 2024 แต่ถูกบรรดา สส.และประชาชนรวมตัวต่อต้าน เพราะกฎหมายนี้เคยถูกใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของอดีตรัฐบาลเผด็จการ ทำให้สมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ 190 คนร่วมกันจัดวาระประชุมฉุกเฉินช่วงเช้าวันถัดมาและลงมติคัดค้านการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดีได้สำเร็จ 

ความผันผวนทางการเมืองเกาหลีใต้ ประกอบกับการเดินหน้ายกระดับทางการทหารของเกาหลีเหนือ ทำให้นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงประเมินว่าช่วงนี้อาจเป็นโอกาสอันดีที่เกาหลีเหนือจะแสดงแสนยานุภาพข่มเกาหลีใต้ จึงอาจจะมีการทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยต่างๆ จากฝั่งเกาหลีเหนือตามมาอีกระลอก แต่เชื่อว่าเกาหลีเหนือจะไม่ท้าทายยั่วยุจนถึงขั้นก่อสงครามขึ้นจริงๆ 

จีน-สหรัฐฯ

การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2025 เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ลงความเห็นว่านโยบายต่อจีนนั้นประเมินได้ยาก

โดนัลด์ ทรัมป์

การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2025 เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ลงความเห็นว่า ‘ประเมินได้ยาก’ ว่าเขาจะมีนโยบายอย่างไรต่อประเทศจีนซึ่งเป็นทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และประเทศมหาอำนาจต่างขั้ว เพราะทรัมป์มีความย้อนแย้งในตัวเองสูง และนโยบายของเขาอาจส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจนไปยังประเทศพันธมิตรอื่นๆ หรือไม่ก็ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในวงกว้าง

บทวิเคราะห์ระบุว่า ทรัมป์ตั้งเป้าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมายังสหรัฐฯ เพิ่มราว 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่ากำแพงภาษีเดิมที่เขาเคยประกาศช่วงที่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก อาจส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยมาตรการที่รุนแรงพอกัน จึงมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลกที่ทำการค้ากับทั้งจีนและสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาและคนใกล้ชิดในรัฐบาลทรัมป์น่าจะอยากให้ทรัมป์ประนีประนอมกับจีนมากกว่า โดยเฉพาะ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งถูกสื่ออเมริกันกล่าวขานว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองของทรัมป์

สี จิ้นผิง

นอกเหนือจากบทวิเคราะห์ของ ICG ยังมีรายงานของ Newsweek สื่อรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า อีลอน มัสก์ มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีน เพราะเขาเป็นนักธุรกิจชาวต่างชาติรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในจีน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ในจีนตั้งแต่ปี 2019 ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งผลิตแบตเตอรี่มากกว่าครึ่งซึ่งถูกนำไปป้อนให้กับรถยนต์เทสลารุ่นต่างๆ ของมัสก์ จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่มีต่อจีนในจะมีหน้าตาอย่างไร เพราะทรัมป์ก็ต้องรับฟังนักธุรกิจและแหล่งทุนรายใหญ่ที่สนับสนุนตัวเองในศึกหาเสียงเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นมาไม่นานด้วยเช่นกัน

อีกประเด็นคือทรัมป์มักมีท่าทีกลับไปกลับมา อาจส่งผลให้ตอบโต้ทางวาจาระหว่างทรัมป์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนได้ โดยสื่อสหรัฐฯ ยกตัวอย่างช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทรัมป์เคยพาดพิงถึงจีนว่าเป็นแหล่งเชื้อโรค แต่หลังจากนั้นก็กลับลำแสดงความชื่นชมต่อการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการสถานการณ์โรคระบาดของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน และไม่สนใจใยดีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่ถูกชี้เป้าว่าเกี่ยวพันกับรัฐบาลจีนด้วย 

ที่สำคัญคือทรัมป์ไม่กระตือรือร้นว่าสหรัฐฯ จะต้องช่วยปกป้องไต้หวันจากจีน ทั้งยังเคยพูดว่าสหรัฐฯ ไม่ควรต้องใช้งบประมาณของตัวเองในการปกป้องชาติอื่น ซึ่งไม่ได้หมายถึงไต้หวันอย่างเดียว แต่รวมถึงหลายๆ ประเทศที่พึ่งพาสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ และก่อนหน้านี้ทรัมป์ก็เคยขู่ว่าจะตัดงบสนับสนุนองค์การ NATO ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงยาวนานข้ามทศวรรษ โดยเฉพาะยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯ เป็นปฏิปักษ์กับสหภาพโซเวียต

นอกจากนี้ ไต้หวันเพิ่งถูกประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ขู่ว่าอาจจะใช้กำลังทหารบุกให้ไต้หวัน ‘รวมชาติ’ กับจีนให้ได้ ทำให้ ไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ประณามท่าทีของรัฐบาลจีนผ่านสื่อ แต่ทรัมป์กลับไม่พูดถึงรายละเอียดในประเด็นนี้เลย ทั้งที่สหรัฐฯ กับไต้หวันมีอนุสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศที่ระบุว่าสหรัฐฯ ต้องช่วยเหลือไต้หวันป้องกันการรุกรานจากต่างชาติ 

อย่างไรก็ดี ถ้าถึงคราวจำเป็นจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงอาจกดดันให้รัฐบาลทรัมป์หาทางปกป้องหรือช่วยเหลือไต้หวัน ในฐานะที่เป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญของสหรัฐฯ ในเอเชีย ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก หากปล่อยให้จีนรุกรานไต้หวันจริงจะส่งผลกระทบตามมาทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคง

ดมิที่ เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย และ สี จิ้นผิง

แต่นักวิเคราะห์ก็ประเมินเช่นกันว่าทรัมป์ไม่ได้สนใจสานสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ นอกเหนือจากจีนเท่าที่ควร เห็นได้จากการที่เขาไม่มีแผนการหรือนโยบายชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งกลายเป็นข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่เป็นอดีตอาณานิคมและพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งพม่าที่จีนพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้นในปี 2025 จะส่งผลอย่างไรต่อความมั่นคงโดยรวมของภูมิภาคนี้

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ